ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหลอกแพ็กเทียนหอม อ้างรายได้ 500-1,200/วัน


Verify

6 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหลอกแพ็กเทียนหอม อ้างรายได้ 500-1,200/วัน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2128

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหลอกแพ็กเทียนหอม อ้างรายได้ 500-1,200/วัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กลงโฆษณารับงานแพ็กเทียนหอม อ้างรายได้ 500-1,200 บาท/วัน จากการตรวจสอบพบแอบอ้างชื่อหน่วยงานราชการ รวมถึงนำรูปจากที่อื่นมาแอบอ้าง เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงเพจปลอมโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ " Community enterprise " มีการแนะนำตัวว่า เป็นเพจงานและอาชีพ ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า "เปิดรับงานแพ็กเทียนหอม มีสอนให้ ทำได้เลยทันที เราส่งงานให้ทำถึงที่ ไม่มีประสบการณ์ก็ทำได้ ทำเสริมหลังว่างจากงานประจำได้ #มีงานให้ทำอย่างต่อเนื่อง #ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็ #ส่งงานให้เพื่อกระจายอาชีพเข้าสู่ชุมชน" และข้อความโฆษณาที่ลงไว้ ยังได้อ้างว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนถูกต้อง รายได้ 500-1,200 บาท/วัน

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพเพจปลอม

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบไปยังความโปร่งใสของเพจเราพบว่า เพจดังกล่าวเพิ่งสร้างเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น

ภาพ ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพความโปร่งใสของเพจที่เพิ่งสร้างมาเมื่อไม่นาน

และเมื่อเราใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens ทำการตรวจสอบสินค้าที่ลงไว้ในเพจดังกล่าว พบว่า ไปตรงกับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งหนึ่ง

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพผลลัพธ์การค้นหาที่ไปตรงกับสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งหนึ่ง

ขณะที่ภาพหน้าปกของเพจดังกล่าว เราใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens ทำการตรวจสอบพบว่า หนึ่งในภาพที่ปรากฏไปตรงกับภาพจากโพสต์ของเพจ รพ.สต.บ้านหัวริน ซึ่งเป็นภาพถ่ายการร่วมโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน ปี 2567 ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานแพ็กสินค้าแต่อย่างใด

ภาพบันทึกหน้าจอหน้าปกเพจปลอม (บน) เปรียบเทียบกับ ภาพจากโพสต์ของเพจ รพ.สต.บ้านหัวริน (ล่าง)

ขณะที่ภาพโปรไฟล์ของเพจดังกล่าว เราตรวจสอบพบว่า มีการนำภาพโปรไฟล์จากเฟซบุ๊ก "กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเคหกิจเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร" มาทำการแก้ไขชื่อภายในภาพใหม่อีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนจากชื่อ "กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร" มาเป็น "กลุ่มกระจายงานชุมชน"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพโปรไฟล์เพจปลอม (บน) เปรียบเทียบกับ ภาพโปรไฟล์เพจกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเคหกิจเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร (ล่าง)

นอกจากนี้เราได้ติดต่อไปยัง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากภาพหน้าปกของเพจปลอมได้มีการระบุชื่อของ "กรมพัฒนาชุมชน" ไว้ในเพจ ซึ่ง กรมการพัฒนาชุมชน ได้ชี้แจงว่า "เพจนี้เป็นเพจปลอม ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของ กรมการพัฒนาชุมชน แต่อย่างใด และหากท่านพบข้อมูลหรือการติดต่อที่มาจากเพจนี้ ขอให้ใช้ความระมัดระวังและอย่าให้ข้อมูลส่วนตัว สามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลที่ถูกต้องได้ที่เพจทางการของเราเท่านั้น ขอบคุณที่ให้ความสนใจและโปรดช่วยกันแชร์ข้อมูลนี้เพื่อป้องกันความเสียหาย! "

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์ของกรมการพัฒนาชุมชน

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โฆษณาหาคนทำรายได้เสริมจากที่บ้าน ถือว่ามีผู้หลงเชื่อส่งข้อความสอบถามเข้าไปจำนวนมาก โดยปัจจุบันเพจดังกล่าวยังคงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กอยู่ ทำให้ยังมีผู้ที่สนใจส่งข้อความสอบถามเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจถูกหลอกมัดจำ หรือหลอกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ได้

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพผู้ที่สนใจสอบถามเข้าไปทางข้อความของเพจปลอม

เสี่ยงถูกหลอกเสียเงิน-ข้อมูลส่วนตัว

สำหรับการโฆษณาหารายได้เสริมด้วยการรับงานทำที่บ้าน หรือการแพ็กสินค้านั้น เราเคยพบโพสต์ของบัญชีผู้ใช้งานเว็บไซต์พันทิป ที่เข้ามาสอบถามเรื่องการรับงานมาทำที่บ้านมาแล้วเช่นกัน

ภาพบันทีกหน้าจอแสดงภาพข้อความสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์

ซึ่งในโพสต์ดังกล่าวพบว่า ผู้สนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ ได้มีการชักชวนให้เจ้าของบัญชีทำงานเสริมแพ็กสินค้า แต่ต้องจ่ายค่าประกันสินค้าเป็นจำนวนเงิน 300 บาท โดยอ้างว่า จะมีการส่งกล่อง เทปกาว และสินค้าให้ฟรี และเมื่อแพ็กสินค้าเสร็จ จะมีรถเข้าไปรับสินค้า โดยจะต้องแพ็กสินค้าจำนวน 200 กล่องต่อสัปดาห์ และจะได้ค่าแรงกล่องละ 10 บาท

แนะสกัดกั้นช่องทางโฆษณาปลอม-เร่งออกกม.ควบคุม

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า การป้องกันอาชญากรรมออนไลน์สมควรป้องกันตั้งแต่ต้นกระบวนการคือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่มิจฉาชีพจะส่งข้อความหรือโฆษณาหลอกลวงไม่ให้เข้ามาถึงประชาชนได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่มีเทคโนโลยีอัลกอริทึม ที่สามารถส่งข้อมูลที่มีผู้สนใจเกี่ยวกับการทำงาน ก็จะยิ่งทำให้โฆษณาปลอมเหล่านี้ เข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานในเชิงรุก

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามการที่ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ที่กำลังตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ในวันที่ 7 มกราคม 2568 เพื่อขออนุมัติเห็นชอบการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อยกระดับการจัดการปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ หากละเลยหรือไม่ดูแลระบบที่เอื้อต่อการหลอกลวงออนไลน์ รวมถึงมาตรการป้องกันการโอนเงินผิดกฎหมายผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล

ตนเองสนับสนุนให้เร่งออกกฎหมายดังกล่าวออกมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ ที่เข้ามาหลอกลวงประชาชน

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้

หากพบโฆษณาหรือโพสต์ในลักษณะดังกล่าว

✅พึงระวังไว้เสมอว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือมิจฉาชีพ

✅สังเกตเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (Blue Tick) หลังชื่อเพจ หากเป็นเพจที่เป็นทางการจริง 

✅ตรวจสอบภาพที่ต้องสงสัยด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens 

และหากประชาชนสนใจหางานทำ สามารถรับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

✅กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th

✅โทรสายด่วนกรมการจัดหางาน : 1506 กด 2

✅เว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ.doe.go.th

✅Mobile Application “ไทยมีงานทำ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพจปลอมหลอกลวงทำงานออนไลน์หางานหางานออนไลน์มิจฉาชีพผู้สูงอายุหลอกสมัครงานโฆษณาหลอกลวงโดนหลอก
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด