ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้สู้ 3 กลุ่ม โรคที่มากับหน้าฝน


Thai PBS Care

18 ก.ค. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
แชร์

รู้สู้ 3 กลุ่ม โรคที่มากับหน้าฝน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/206

รู้สู้ 3 กลุ่ม โรคที่มากับหน้าฝน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศวันที่ 21 พ.ค. 67 ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว 

ฤดูฝน เป็นฤดูที่อากาศเปลี่ยนแปลงจากความร้อนสู่ความชื้น เป็นช่วงที่เชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสทั้งหลายเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี และแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าฤดูอื่น ๆ จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มโรคที่มากับหน้าฝน

3 กลุ่มโรคที่มากับหน้าฝน มีอะไรบ้าง ?
1. กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ พบบ่อย เช่น

  • ไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ปอดอักเสบหรือปวดบวม สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ติดต่อกันผ่านการไอ จาม หรือมือที่ไปสัมผัสแล้วเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ โดยกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ทั้ง 2 โรคป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น

2. กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร น้ำ และการสัมผัส พบบ่อย เช่น

  • โรคอุจจาระร่วง รับประทานอาหารปนเปื้นเชื้อโรคหรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือการดื่มน้ำปนเปื้อน ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
  • โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็กเล็ก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการผู้ป่วยคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่แขน ขา หรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้
  • โรคไข้ฉี่หนู โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น สวมรองเท้าบูทยาว ถุงมือยาว
  • โรคเมลิออยด์ ติดเชื้อจากการสัมผัสดินหรือน้ำเป็นเวลานาน หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป กลุ่มเสียง คือ ผู้ที่ทำงานสัมผัสดินน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว

3. กลุ่มโรคที่เกิดจากยุงและสัตว์อื่น ๆ ที่เป็นพาหะ พบบ่อย เช่น

  • โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้
  • โรคชิคุนกุนยา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา หลังได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 4-7 วัน อาการมีไข้ต่ำ ๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา รวมถึงอาจมีผื่นที่ฝ่ามือได้ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง
     

ไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร ?

 

ภัยที่มากับหน้าฝนปี 2566 มีอะไรบ้าง ?

  • ถูกฟ้าผ่า เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนองให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้
  • กินเห็ดพิษ หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษ หรือเห็ดที่กินได้ ไม่ควรนำมากิน หรืออาจเลือกเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น
  • ถูกงูพิษกัด ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ หากถูกงูพิษกัดต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการให้เซรุ่มพิษงูได้ถูกต้องและรวดเร็ว

รู้หรือไม่ การสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้
ดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้านควรนำเสื้อผ้าที่เปียกไปผึ่งให้แห้งก่อนใส่ตะกร้า เพื่อรอการซักหรือซักทันที ไม่ควรทิ้งไว้นาน ๆ เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราบนเสื้อผ้าได้ หากนำมาสวมใส่อาจเกิดโรคผิวหนังจากเชื้อรา

สำหรับโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา โรคกลาก เกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยรอบ เกิดอาการคัน ทำให้เป็นผื่นแพ้และติดเชื้อได้ ไม่ควรเกาหรือปล่อยไว้จนลุกลาม ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี

 

อาการโควิด-19 ต่างจากไข้เลือดออกอย่างไร ?



ที่มา : กรมควบคุมโรค, พญ. กิตติยา ศรีเลิศฟ้า แพทย์อายุรกรรม ฝ่ายการแพทย์ AIA

📖 อ่านเพิ่มเติม :

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ไข้เลือดออกฤดูฝนโรค
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด