จากกรณีพบแสงปริศนาเหนือน่านฟ้าประเทศไทย ลักษณะสีขาวพร่ามัว เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ พบเห็นได้หลายพื้นที่ ช่วงหัวค่ำ 16 ธ.ค. 67 เวลาประมาณ 19.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ “สดร.” (NARIT) เผยว่า จากหลักฐานภาพถ่าย และคลิปวิดีโอที่มีการแชร์เป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย สอดคล้องกับลักษณะของชิ้นส่วนจรวดตอนบน (upper stage rocket) ของจรวด Long March 5B ที่ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวด Wenchang Satellite Launch Center บนเกาะไหหลำ ประเทศจีน ภายใต้ภารกิจ SatNet LEO Group 1
ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สดร. กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ธ.ค. 67 เวลาประมาณ 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย ปรากฏแสงปริศนา มีลักษณะเป็นแสงสีขาวพร่ามัว รูปร่างเป็นโคนคล้ายดาวหาง เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ พบเห็นได้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนบน
จากหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่มีการแชร์เป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย ด้วยรูปพรรณสัณฐานที่ปรากฏ และเวลาที่พบเห็นสอดคล้องกับลักษณะของชิ้นส่วนจรวดตอนบน (upper stage rocket) ของจรวด Long March 5B ที่ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวด Wenchang Satellite Launch Center บนเกาะไหหลำ ประเทศจีน ภายใต้ภารกิจ SatNet LEO Group 1
ลักษณะของแสงปริศนาดังกล่าว มีสีออกขาว มีจุดสว่างหนึ่งจุดพร้อมกับโคนที่ฟุ้งออกไปเป็นวงกว้าง ดูคล้ายกับภาพถ่ายดาวหาง แต่มีความสว่างกว่าเป็นอย่างมาก อีกทั้งวัตถุดังกล่าวเคลื่อนที่ได้ โดยเคลื่อนที่ช้า ๆ เยื้องไปทางทิศเหนือ จากรูปพรรณสัณฐานเช่นนี้ สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับวัตถุจำพวกชิ้นส่วนจรวดตอนบน (upper stage rocket) ที่ดับแล้ว โดยจะมีชิ้นส่วนของตัวถังเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์จรวด พร้อมกับแก๊สขับดันที่ถูกปล่อยออกมาแล้ว เคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กัน โดยในบางครั้งตัวจรวดอาจจะยังคงมีพลาสมาที่หลงเหลืออยู่ปล่อยออกมาบ้างเล็กน้อย และส่องสว่างเรือง ๆ เป็นสีฟ้าจาง ๆ แต่หากพบเห็นในช่วงหัวค่ำ อย่างในกรณีของเมื่อค่ำวันที่ 16 ธ.ค. 67 อาจจะสะท้อนแสงอาทิตย์ปรากฏเป็นสีขาว
ดร.มติพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ มีจรวดเพียงลำเดียวที่ถูกปล่อยจากฐานปล่อยจรวดทั่วโลกในวันที่ 16 ธ.ค. 67 นั่นคือจรวด Long March 5B ปล่อยออกจากฐาน Wenchang Satellite Launch Center บนเกาะไหหลำ ประเทศจีน ภายใต้ภารกิจ SatNet LEO Group 1 เมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลาประมาณสองชั่วโมงก่อนที่คนไทยจะพบเห็นแสงปริศนาดังกล่าว
ปกติแล้วจรวดที่ปล่อยออกจากพื้นโลกจะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก เพื่อใช้ประโยชน์จากทิศทางการหมุนของโลกในการลดเชื้อเพลิง ดังนั้นจรวด Long March 5B ของจีนจึงไม่ได้ผ่านเหนือน่านฟ้าประเทศไทยโดยตรงระหว่างการขึ้น อย่างไรก็ตาม ภารกิจของจรวดนี้เป็นการส่งดาวเทียมเครือข่าย (constellation satellite) เพื่อภารกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลภายใต้เครือข่าย GuoWang ของจีน ซึ่งจะต้องอาศัยแรงขับดันหลักจากจรวดตอนบนในการเดินทางไปยังวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) ก่อนที่ดาวเทียมจะถูกปล่อยออกไป
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ภายหลังจากที่สิ้นสุดภารกิจแล้ว ชิ้นส่วนจรวดตอนบน เชื้อเพลิงบางส่วนที่ถูกขับออกมา และพลาสมาที่ถูกปล่อยทิ้งออกมาในภายหลัง ล้วนแล้วแต่จะเคลื่อนที่ต่อไปในวงโคจรต่ำของโลก
ซึ่งใช้เวลาในการโคจรรอบโลกหนึ่งรอบ เพียงเวลาประมาณ 90-120 นาที ซึ่งเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับเวลาที่พบเห็นทั้งจรวดและเชื้อเพลิงเหนือน่านฟ้าประเทศไทย หลังจากเวลาปล่อยจรวดออกจากฐานประมาณสองชั่วโมงพอดี จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากชิ้นส่วนตอนบนของจรวด Long March 5B ของจีน ซึ่งหลังจากที่จรวดและเชื้อเพลิงโคจรรอบโลกไปสักพักหนึ่ง แรงต้านจากชั้นบรรยากาศตอนบนของโลก จะทำให้ชิ้นส่วนดังกล่าวค่อย ๆ เคลื่อนที่ช้าลง จนไม่สามารถคงวงโคจรต่ำอีกต่อไปได้ ก่อนที่จะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศระหว่างที่ตกกลับลงมาภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลกไปในที่สุด
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech