Thai PBS Verify พบผู้ใช้บัญชีติ๊กตอกชื่อ "mainaingthanlwin3" โพสต์คลิปทหาร "ตะอาง" กำลังขุดแนวสนามเพลาะป้องกัน แต่ทำให้ผู้ใช้บัญชีติ๊กตอกจากไทยที่ไม่ทราบเข้าใจผิดคิดว่า ทหาร "ว้าแดง" กำลังเร่งมือขุดแนวป้องกันจากทหารไทย เบื้องต้นพบผู้หลงเชื่อเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และยอดดูไปแล้วถึง 1 แสนครั้ง
แหล่งที่มา : TikTok
กระบวนการตรวจสอบ
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ใช้บัญชีติ๊กตอกชื่อ "mainaingthanlwin3" ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1,397 คน และมียอดกดถูกใจกว่า 4,294 ครั้ง ได้โพสต์คลิปกองกำลังติดอาวุธกำลังเร่งมือขุดแนวป้องกันอยู่บริเวณสันเขาแห่งหนึ่ง โดยได้ระบุข้อความเป็นภาษาเมียนมา ซึ่งเมื่อใช้เครื่องมือแปลภาษาด้วยภาพถ่ายจาก Google Lens เราพบว่า ข้อความดังกล่าวระบุว่า "คุณพ่อมินอองหล่ายต้องการงาน 5-12-2567"
ขณะที่เมื่อตรวจสอบโปรไฟล์ของผู้ใช้ติ๊กตอกดังกล่าว เราพบสัญลักษณ์จากชุดของกองทัพที่ผู้ใช้บัญชีติ๊กตอกรายนี้สังกัดอยู่ โดยสัญลักษณ์ที่พบระบุภาษาอังกฤษว่า TNLA ซึ่งย่อมาจาก Ta'ang National Liberation Army หรือ กองทัพปลดปล่อยชาติตะอาง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา และเป็นหน่วยติดอาวุธของแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง หรือ (PSLF) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของกองทัพสหรัฐว้าแดง (UWSA) แต่อย่างใด
ขณะที่ชุดของกองทัพปลดปล่อยชาติตะอาง (TNLA) ก็มีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันกับชุดของกองทัพสหรัฐว้าแดง (UWSA) ด้วยเช่นเดียวกัน
(ภาพขวามือจากเฟซบุ๊ก United Wa State Army - UWSA)
ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?
โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากบัญชีผู้ใช้ติ๊กตอกชาวไทย โดยมีผู้ส่งข้อความเข้าไปยังบัญชีเจ้าของโพสต์กว่า 506 ครั้ง และมียอดชมวิดีโอดังกล่าวไปแล้วกว่า 107,000 ครั้ง ซึ่งผู้ที่รับชมคลิปดังกล่าว ต่างเข้าใจว่าภาพดังกล่าวคือการเตรียมการเสริมการป้องกันของทหารว้าแดง ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดของผู้ทีไม่ทราบความจริง และเป็นการสร้างความขัดแย้งต่อประเด็นดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ความเข้าใจที่ผิดจะส่งผลกระทบอย่างไร ?
นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ให้ความคิดเห็นว่า ผู้ที่ลงคลิปถือเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และไม่ใช่กลุ่มว้าแดงที่ได้มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ซึ่งความเข้าใจผิดถือเป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะนอกจากความเข้าใจผิดแล้ว ในปัจจุบันยังมี fake news ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และบางครั้งสื่อที่ไม่ได้มีการตระหนักในเรื่องเหล่านี้ ก็มีการหยิบประเด็น fake news นำมาขยายความต่อ โดยที่ไม่รู้ว่าเรื่องที่มีการนำเสนอเป็น fake news ซึ่งทำให้คนทั่วไปที่เสพสื่อเหล่านี้ ได้รับสารที่ผิด ๆ อย่างรวดเร็ว
ส่วนกรณีของคลิปที่เกิดขึ้น กลุ่มคนในคลิปเป็นชาวตะอาง ที่ทำการรบอยู่ในพื้นที่ตอนในของเมียนมา และไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มของว้าแดง โดยกองกำลังของตะอาง ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ที่แย่งพื้นที่กับกองทัพเมียนมาตลอดมา และช่วงหลังมีการรบกันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติของทหาร ที่จะต้องมีการสร้างสนามเพาะ เพื่อป้องกันตัวเองจากความอันตรายในพื้นที่
สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวตะอางนั้น ถือว่ามีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาชาวตะอางที่มาอยู่ในประเทศไทย ก็ได้มีการจัดงานประจำปีในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน โดยในส่วนของผู้หญิงชาวตะอางนั้น ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการแต่งตัว ที่มีสีสันมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตามผลกระทบของการเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นมีหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่
1. การสร้างความเกลียดชัง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์
2. อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสร้างความรุนแรงที่ตามมา เพราะเมื่อเกิดความเกลียดชังก็จะเกิดความรู้สึกไม่อยากให้กลุ่มคน ที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ร่วมกัน หรือเกิดคำพูดที่รุนแรงต่อกัน จนนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงต่อกัน จนอาจทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมร่วมกันได้
อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคมไทย จึงจำเป็นที่จะต้องมองว่าคนที่อยู่ร่วมกันกับเรา หรือร่วมโลกกับเรา ควรจะอยู่กันอย่างสงบสุขอย่างไรด้วยคุณค่าของตนเอง
ความเข้าใจผิดอาจสร้างผลกระทบต่อความมั่นคง
รศ.ดร. พิทยา สุวคันธ์ นักวิชาการลุ่มน้ำโขงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า ข่าวนี้ถือเป็นหนึ่งในความเข้าใจที่ผิดที่ถูกปล่อยออกมาในโลกออนไลน์ในช่วง 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะจากฝั่งประเทศเมียนมา ซึ่งกลุ่มที่ถือว่าได้ประโยชน์จากข่าวนี้คือ กลุ่มชาติพันธุ์ว้าแดง เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าแดงดูเข้มแข็งมากขึ้นในการต่อรองกับรัฐบาลทหารเมียนมา ขณะที่ทหารไทยได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดเกี่ยวกับความเชื่อมั่น โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงบริเวณชายแดน
“เรื่องนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ไทยควรให้ความสำคัญมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ว้าแดง แต่เป็นเรื่องพูดยากและซับซ้อน เพราะแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมามีกองกำลังของตนเองที่แตกต่างจากประเทศอื่น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์มีความคาบเกี่ยวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์บริเวณชายแดน ที่มีผลถึงเรื่องความมั่นคง ทางทหารไทยควรรีบออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการ”
นอกจากนี้ระบุว่า สำหรับการมองถึงภาพลักษณ์ของกลุ่มว้าแดงโดยเฉพาะจากคนทั่วไปเชื่อว่า คนทั่วไปก็จะมองกลุ่มว้าแดงไม่ดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายแดนไทยกับพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ครอบครองอีกด้วย เพราะในอดีตที่ผ่านมาผู้ที่อยู่ร่วมกันตามแนวชายแดน มักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะการถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งการแก้ปัญหานั้นขึ้นอยู่กับภาครัฐว่า การออกมาพูดนั้นจะนำไปสู่เชิงบวกอย่างไร ในเรื่องของความสัมพันธ์ แต่หากปล่อยให้ออกมาในลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดอะไรขึ้น ก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตรวจสอบพบ : โพสต์ติ๊กตอกปลอม อ้างทหาร "ว้าแดง" เสริมกำลังเต็มอัตราศึก !