ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : ภาพเก่าถูกอ้างชาวเกาหลีใต้ประท้วงปธน."ยุน ซอก-ยอล"


Verify

18 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : ภาพเก่าถูกอ้างชาวเกาหลีใต้ประท้วงปธน."ยุน ซอก-ยอล"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2034

ตรวจสอบพบ : ภาพเก่าถูกอ้างชาวเกาหลีใต้ประท้วงปธน."ยุน ซอก-ยอล"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ผู้ชุมนุมหลายพันคนเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังรัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากเขาประกาศใช้กฎอัยการศึกอันล้มเหลวซึ่งส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ใช่ภาพการชุมนุมในเดือนธันวาคม 2567 แต่เป็นภาพผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงโซลเพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย เมื่อเดือนธันวาคม 2559

"ผู้ประท้วงเกาหลีใต้เดินขบวนไปที่ทำเนียบประธานาธิบดี เรียกร้องให้เผด็จการยุนลาออกทันที ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะปลดเขาออก!" คำบรรยายในโพสต์ X เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ระบุ

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพจากมุมสูงซึ่งเผยให้เห็นประชาชนรวมตัวกันอย่างหนาแน่นบนท้องถนนในกรุงโซล และถูกแชร์หลังสมาชิกรัฐสภาลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ปธน.ยุน ยกเลิกกฎอัยการศึก โดยในขณะนั้นมีประชาชนหลายพันคนออกมาเดินขบวนประท้วงด้วย (ลิงก์บันทึก)

การประกาศใช้กฎอัยการศึกทำให้เกิดความโกรธแค้นและตื่นตระหนก ส่งผลให้ชาวเกาหลีใต้และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ปธน.ยุนลาออกและถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ (ลิงก์บันทึก)

แม้ว่ายุน ซอก-ยอลจะรอดจากการลงมติถอดถอนอย่างหวุดหวิด แต่เขาและคนสนิทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกาศกฎอัยการศึกก็ถูกสั่งฟ้องและกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน (ลิงก์บันทึก)

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ  พม่า และอาหรับ

แม้ว่ามีการชุมนุมขับไล่ผู้นำเกาหลีใต้หน้าอาคารรัฐสภาและที่ทำเนียบประธานาธิบดีจริง แต่ภาพที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายนี้เป็นภาพเก่าจากเมื่อ 8 ปีก่อน

ภาพจากปี 2559

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิลพบภาพเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวของวอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 (ลิงก์บันทึก)

VOA ได้ให้เครดิตภาพกับสำนักข่าว Associated Press (AP) และเขียนคำบรรยายภาพว่า "ผู้ประท้วงรวมตัวกันบนท้องถนนในใจกลางเมืองของกรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2559 เพื่อต่อต้านประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย"

ภาพต้นฉบับปรากฏบนเว็บไซต์ของสำนักข่าว AP เช่นกัน (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักข่าว AP (ขวา):

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักข่าว AP (ขวา)

AFP รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ผู้ชุมนุมหลายแสนคนออกมารวมตัวกันในกรุงโซลเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ลาออกและถูกจับกุม (ลิงก์บันทึก)

ความนิยมของอดีตปธน.พัค เสื่อมถอยอย่างรวดเร็วในช่วงปีสุดท้ายก่อนจะหมดวาระ เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลอื้อฉาวว่า เธอได้มอบอำนาจโดยมิชอบให้เพื่อนสนิทเข้ามาแทรกแซงกิจการของรัฐ (ลิงก์บันทึก)

ในเดือนมีนาคม 2560 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีมติเอกฉันท์ให้ถอดถอนพัคจากตำแหน่งประธานาธิบดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน (ลิงก์บันทึก)

ข้อมูลจาก : AFP

ผลกระทบจากการใช้ภาพปลอมในโพสต์มีผลกระทบมากน้อยขนาดไหน ?

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการวิจัยที่ผ่านมาพบบ่อยมากคือเมื่อพูดถึงข่าวปลอม มักจะมีภาพจริง เนื้อข่าวปลอม คำอธิบายภาพปลอม หรือภาพจริงแต่ไม่ใช่ข่าว ณ เวลานั้น ซึ่งผลกระทบของภาพเหล่านี้มักสร้างความตื่นตระหนกให้กับสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเพิ่มความรู้สึกร่วม หรือเพิ่มความรู้สึกต่อต้านให้กับผู้รับสาร เพราะภาพปลอมสามารถสร้างความโน้มน้าวใจบางอย่างให้เกิดขึ้นได้

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนการนำภาพมาโพสต์จะมีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่นั้น ต้องดูข้อเท็จจริง ว่าเพจที่นำมาโพสต์มีลักษณะอย่างไร หากเป็นเพจทางการเมืองก็เชื่อได้ว่า น่าจะมีแนวโน้มในการหวังผลอะไรบางอย่าง ด้วยการใช้รูปแบบของการโพสต์คอนเทนต์เข้าไปในระบบเรื่อย ๆ เพื่อค่อย ๆ จูงความคิดเห็นของสาธารณะให้คล้อยตามเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเพจเหล่านี้มักไม่ใช่เพจที่เป็นทางการ แต่หากมียอดเข้าชมที่สูง หรือเป็นเพจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลทางการเมือง ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเจตนาอะไรบางอย่าง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพปลอมแอบอ้างหลอกลวงประท้วงเกาหลีใต้ข่าวปลอม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด