ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรียนรู้ 5 สเตป การช่วยหลือผู้ป่วยบนเครื่องบิน มีขั้นตอนปฐมพยาบาลอย่างไร ?


Lifestyle

17 ธ.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

เรียนรู้ 5 สเตป การช่วยหลือผู้ป่วยบนเครื่องบิน มีขั้นตอนปฐมพยาบาลอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2038

เรียนรู้ 5 สเตป การช่วยหลือผู้ป่วยบนเครื่องบิน มีขั้นตอนปฐมพยาบาลอย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

“การป่วยบนเครื่องบิน” เกิดขึ้นได้ หลายครั้งมักเป็นการป่วยฉุกเฉินรุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต Thai PBS รวบรวมเรื่องที่คุณควรรู้ 

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลมีอะไรบ้าง ? ควรทำอย่างไร ? เตรียมตัวอย่างไรไม่ให้ป่วย ? อาการป่วยที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง ?

ทั้งนี้ แนวทางและขั้นตอนต่าง ๆ ในการรับมือเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์บนเครื่องบินนั้น มีมาตรฐานกลางของหน่วยงานสากลได้แก่ Aerospace Medical Association (AsMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยและให้ข้อแนะนำรวมถึงหน่วยงานกำหนดมาตรฐานการบินอย่าง International Civil Aviation Organization (ICAO) และ International Air Transport Association (IATA) อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการจัดการอาจมีข้อแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยเท่านั้น โดยสรุปรวมแล้วมีอะไรบ้างมาดูกัน ?

“ป่วยบนเครื่องบิน” มีแนวทางการรับมืออย่างไร ?

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโดยเฉพาะอาการป่วยบนเครื่องบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือก็คือแอร์โฮสเตสและสจ๊วต จะเป็นผู้ให้การช่วยเหลือซึ่งผ่านการอบรบการปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน (First AID) มาแล้ว โดยแนวทางการรับมือมีดังนี้

1. ค้นหาผู้ป่วย
การค้นหาผู้ป่วยมีตั้งแต่ในระดับที่เจ้าหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องสังเกตดูอาการของผู้โดยสาร อาจมีการแจ้งจากผู้โดยสารมาก่อนในกรณีผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยง รวมถึงการร้องขอความช่วยเหลือเองจากผู้โดยสารหรือเพื่อนร่วมทางที่นั่งอยู่ใกล้เคียง เมื่อเจ้าหน้าที่ต้อนรับได้รับแจ้งเหตุจะเข้าให้ความช่วยเหลือดูแล และแจ้งต่อไปยังเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินคนอื่น ๆ ได้รับทราบเหตุ

2. ประเมินความเร่งด่วนของอาการป่วย
เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินจะได้รับการอบรมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับอาการป่วยโดยทั่วไป การประเมินอาการป่วย จะประเมินตามลักษณะและความรุนแรงของอาการ ร่วมกับระยะทางในการบิน การตัดสินใจนำเครื่องลงฉุกเฉินนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกัปตัน หากอยู่ในขอบเขตที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ จะดำเนินการตามที่มีการอบรมมาโดยใช้เวชภัณฑ์ที่มีการจัดเตรียมไว้บนเครื่อง

3. ให้ความช่วยเหลือตามอาการ
เมื่อประเมินสถานการณ์ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินที่ผ่านการอบรม จะให้ความช่วยเหลือตามอาการ เช่น การปั๊มหัวใจ (CPR) การใช้เครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillators - AED) รวมถึงการใช้เครื่องให้ออกซิเจนฉุกเฉิน โดยบนเครื่องบินจะมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่มีการกำหนดไว้ตามมาตรฐาน ตั้งแต่ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และชุดให้การรักษาฉุกเฉินและกู้ชีพ รวมถึงยาจำเป็นต่าง ๆ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินยังคงให้ความช่วยเหลือในลักษณะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น หากอาการหนักกว่านั้น จำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มาดูแลช่วยเหลือเพิ่มเติม

4. ขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์บนเครื่องบิน
กรณีอาการป่วยบนเครื่องบินที่พบเจอนั้นรุนแรงเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินจะรับมือได้ เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินจะประกาศขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมโดยสารมา ทั้งนี้ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือจำเป็นจะต้องประเมินความพร้อมของตัวเองด้วย ทั้งในส่วนของความเชี่ยวชาญ สภาพร่างกายรวมถึงจิตใจของตัวเอง รวมถึงระดับความพร้อมและความคุ้นเคยกับการรับมือสถานการณ์
หากไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือบนเครื่องบิน สายการบินจำนวนมากจะมีบริการติดต่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่บนภาคพื้นดินเพื่อขอคำปรึกษาได้

5. ลงจอดฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิต
หากอาการป่วยของผู้โดยสารอยู่ในภาวะวิกฤตจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน กัปตันจะร่วมตัดสินใจจากคำแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากหอบังคับการบิน เพื่อประสานงานเปลี่ยนเส้นทางการบิน การส่งต่อผู้ป่วยและลงจอดฉุกเฉิน ทั้งนี้ การลงจอดฉุกเฉินจากเหตุทางการแพทย์ มีการศึกษาพบว่าอยู่ที่ราว 4 – 7 % ของการเดินทางด้วยเครื่องบินทั้งหมด

การเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานานอาจเกิดเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์ขึ้นได้

“อาการป่วยบนเครื่อง” ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง ? ป้องกันอย่างไร ?

อาการป่วยมีหลายกรณีโดยทั่วไป มีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบินเมื่อยังมีอาการป่วยอยู่ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วยแต่มีเหตุจำเป็นต้องโดยสารเครื่องบิน นักเดินทางต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลผ่านแบบฟอร์มข้อมูลทางการแพทย์ (MEDIF) ก่อนจองตั๋วเครื่องบินเพื่อความปลอดภัย ซึ่งสายการบินอาจปฏิเสธหรือขอเลื่อนหากอาการของผู้ป่วยยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ และควรเตรียมยาที่จำเป็นที่ต้องใช้รักษาตัวเองเอาไว้ด้วย

ส่วนการป่วยบนเครื่องบินที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเหนื่อยล้าระหว่างเดินทาง ความเครียด อาหารไม่ย่อย รวมถึงความกดอากาศที่เปลี่ยน อาการป่วยที่พบบ่อยมีอยู่ 3 อาการด้วยกัน ได้แก่

1. อาการปวดหู ปวดโพรงจมูก
การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศในช่วงที่เครื่องบินขึ้นหรือลง มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้โดยสารที่เป็นโรคภูมิแพ้รวมถึงไซนัสเรื้อรัง เกิดอาการปวดหู ปวดโพรงจมูกได้มากกว่าคนปกติ นอกจากนี้อากาศในเครื่องยังแห้งกว่าปกติ ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวมได้ 

ป้องกันได้อย่างไร ? 
- ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
- ใช้ยาลดบวมพ่นจมูก หรือรับประทานยาแก้แพ้ก่อนขึ้นเครื่อง 30 นาที
- เคี้ยวหมากฝรั่ง หาวโดยอ้าปากกว้าง หรือใช้วิธีเคลียร์จมูก (Vasalva) ด้วยการปิดจมูกปิดปากแล้วเป่าลมแรง ๆ ออก จะช่วยลดอาการหูอื้อได้

2. อาการอ่อนเพลียจากการเดินทาง
อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางยาวไกลโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่เดินทางเวลากลางคืน อาจทำให้เกิดอาการที่ตามมาได้ เช่น นอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ ท้องผูก เครียด

ป้องกันได้อย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้การนอนผิดเวลา รวมถึงทำให้คุณภาพการนอนมีปัญหาได้ 
- พิจารณารับประทานยาเมลาโทนิน หรือยานอนหลับอ่อน ๆ ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้ง่ายขึ้น (ห้ามใช้ยาเมลาโทนินในเด็ก ผู้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด และผู้มีอาการของโรคลมชัก)
- ก่อนเดินทางไกลด้วยเครื่องบิน ลองปรับเวลานอนและตื่นให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน เพื่อปรับเวลาตื่นนอนให้พอดีกับช่วงเวลาบนเครื่องบิน

3 อาการหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน (DVT)
อาการนี้เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดก่อตัวในขา มีสาเหตุมาจากการนั่ง ไม่เคลื่อนไหวติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงบรรยากาศภายในเครื่องบิน ความชื้นและปริมาณออกซิเจนที่ลดลง โดยทั่วไปแล้วไม่เป็นอันตราย แต่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงชีวิตได้จากการอุดตันของเส้นเลือดดำหากเกิดบริเวณปอด กลุ่มเสี่ยงหลัก ๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี ผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดดำอุดตัน ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ กลุ่มผู้ที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตร 

ป้องกันได้อย่างไร ? 
- ดื่มน้ำในมากขึ้น เพื่อรักษาปริมาณน้ำในร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมและสบาย
- ลุกเดินบ่อย ๆ บริหารร่างกายตามคำแนะนำบนเครื่องบิน พยายามยืดเหยียดร่างกายอย่างสม่ำเสมอระหว่างเดินทาง หรือช่วงที่ลุกไปเข้าห้องน้ำ
- ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรฟังคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเดินทางเพื่อให้ยาป้องกัน

นอกจากนี้ ยังมีอาการป่วยที่พบบ่อยแล้วต้องได้รับการรักษาตามอาการได้แก่ อาการเป็นลมหรือใกล้เป็นลม ราว 30 % อาการระบบทางเดินหายใจ ราว 12 % คลื่นไส้หรืออาเจียน รวม 10 % อาการทางหัวใจ ราว 7 % อาการชัก ราว 5 % และ อาการปวดท้อง ราว 4 % ผู้ที่พบอาการเหล่านี้สามารถรีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่บนเครื่องเพื่อขอความช่วยเหลือได้

อ้างอิง

  • Aerospace Medical Association (AsMA)
  • American Family Physician Journal
     

แท็กที่เกี่ยวข้อง

การขึ้นบินการบินป่วยลงจอดฉุกเฉินเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินป่วยบนเครื่องบินปฐมพยาบาลบนเครื่อบินปฐมพยาบาล
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด