Thai PBS Money Tip EP 1 : “เงินเฟ้อ” (Inflation) ที่เราได้ยินบ่อย ๆ นั้น อธิบายง่าย ๆ ให้เข้าใจก็คือ ภาวะทางเศรษฐกิจที่สินค้าและบริการต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น ทำให้เงินมีมูลค่าน้อยลง หรือก็คือเงินจำนวนเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าเดิมได้ในปริมาณที่น้อยลง เช่น เมื่อ 10 ปีก่อน เราใช้เงิน 60 บาท ซื้อข้าวผัดกะเพราได้ 2 จาน แต่ในปัจจุบันเงิน 60 บาทสามารถซื้อข้าวผัดกะเพราได้จานเดียว เป็นต้น
“ภาวะเงินเฟ้อ” เกิดจากอะไร ?
โดยทั่วไปเกิดจาก 2 สาเหตุคือ
1. ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า-บริการเพิ่มขึ้น แต่สินค้า-บริการนั้นกลับมีในตลาดไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้า-บริการสูงขึ้น
2. ผู้ผลิตแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้า-บริการให้สูงขึ้นตามต้นทุนนั่นเอง
แต่ภาวะเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ มีผลมาจาก 3 สาเหตุคือ
1. การแพร่ระบาดของโควิด-19
เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เช่น แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ต้องมีการหมุนเวียนกำลังแรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตมีกำลังการผลิตลดลง เป็นต้น
2. ผลกระทบจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว
3. ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกจึงตอบโต้ด้วยการลดอุปทานของน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นนั่นเอง (ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น คือผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด)
“เงินเฟ้อ” และผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทั่วไป
ผลกระทบด้านการถือครองเงิน
ผลกระทบภาวะเงินเฟ้อมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้เรามีรายจ่ายและค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ที่เป็นตัวเงินยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และถึงแม้ว่ากรอบตัวเลขเงินเฟ้อประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1-3% แต่ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่านั้นขึ้นไปอีก นั่นแปลว่าเราก็ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อข้าวแกง 1 จาน หรือเราต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อของใช้ที่ปริมาณเท่าเดิม
ผลกระทบด้านเงินออมและการลงทุน
ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงจะยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย-อัตราผลตอบแทนแท้จริงที่จะได้รับ มีมูลค่าลดลง เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารร้อยละ 1.25% แต่อัตราเงินเฟ้อ 1% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่ 0.25% และหากอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงจากการเงินฝากธนาคารนั้นจะมีมูลค่าติดลบ (-1.75%) ในสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินแน่นอน อย่างเช่น เงินสด เงินฝากประจำ มูลค่าจะลดลง
เปิดเหตุผลที่จะทำให้ “เงินเฟ้อ” ลดลง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน พ.ค. 66 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 65 ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้ง ราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอ ตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 65 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน เม.ย. 66) พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการยังอยู่ระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 66 อยู่ที่ระหว่าง 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง โดยจะมีการประเมินอัตราเงินเฟ้อทั้งปีใหม่อีกครั้งในเดือนนี้ (ก.ค. 66)
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 66 เงินเฟ้อโลก และไทยจะทยอยปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลง แต่เงินเฟ้อไทยคงไม่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะภาครัฐมีแนวโน้มเก็บเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
นอกจากนี้ในประเทศไทยจะยังคงเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการ ไปยังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากราคาสินค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง หรือกลับมาเร่งตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้ออ่อนแรงมีน้อยลงตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อไทยในปี 66 จะอยู่ที่ราว 3.0%
สาเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
สำหรับสาเหตุที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทย จากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานต่ำกว่าหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว กว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 คือช่วงต้นปี 66 เนื่องด้วยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวสูง และเผชิญกับการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งในมิติรายได้ พื้นที่ และสาขาเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานยังคงเปราะบาง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เร่งตัวสูง
นอกจากนี้ แรงกดดันด้านอุปทานต่อเงินเฟ้อไทยยังต่ำกว่าที่ประเทศอื่นเผชิญ แม้ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต (Global supply chain disruption) จะส่งผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกสูงขึ้น แต่เนื่องจากไทยพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศในการผลิตสินค้าและบริการในประเทศค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 16% ทำให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นจึงไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ ราคาสินค้าหมวดพลังงานยังมีกลไกภาครัฐดูแลตรึงราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกัน กำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งมากนัก จึงทำให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ยาก
ประชาชนรับมืออย่างไร ? เมื่อ “เงินเฟ้อ” ทำทุกอย่างแพงขึ้น
วางแผนการออมเงิน
แผนที่เราเริ่มทำได้ทันทีคือการออมเงิน เช่น การฝากธนาคาร ด้วยการฝากแบบประจำซึ่งจะได้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง
วางแผนการลงทุน
ด้วยความที่ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ จึงอาจต้องมีการนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนกองทุนรวม แต่การลงทุนมีความเสี่ยงดังนั้นควรศึกษาให้ดี-ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
วางแผนการใช้จ่ายเงิน
อาหารการกิน, สินค้า, ค่าบริการต่าง ๆ แพงขึ้น ดังนั้นต้องพยายามลดต้นทุนลง เช่น ทำอาหารกินเอง เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ หรือคนที่บ้านออกจากบ้านไปทำงานพร้อมกันด้วยรถคันเดียว จากที่ไปคนละคัน เป็นต้น
อาชีพเสริมช่วยได้
บางคนมีทักษะที่ทำได้ มีความถนัดในสิ่งนั้นอยู่ในตัว นำออกมาสร้างรายได้เสริม เช่น วาดรูป งานเขียนออนไลน์ ปลูกต้นไม้ รับทำกราฟิก รับทำบัญชีออนไลน์ เพื่อทำให้รายได้มีมากกว่ารายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
หลีกเลี่ยงการก่อ “หนี้เสีย”
ด้วยมูลค่าของเงินที่ลดน้อยลงตามภาวะเงินเฟ้อ สิ่งที่ควรทำก็คือการไม่สร้างหนี้เสีย ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายอย่างรัดกุม หากจำเป็นต้องสร้างหนี้ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ เพื่อไม่ให้เกิดการชักหน้าไม่ถึงหลัง
ติดตามข่าวสาร
สิ่งที่ทุกคนควรทำอย่างยิ่งก็คือการติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพราะ “เงินเฟ้อ” ส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินในกระเป๋าของเรา รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
แม้ว่าการเกิด “ภาวะเงินเฟ้อ” จะเป็นหนึ่งในกลไกทางการตลาดและภาวะของสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเป็นหลัก การขึ้นราคาสินค้าและบริการอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และแม้ว่าการเพิ่ม-ปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมและวางแผนการใช้เงินให้ดี เพื่อลด-ป้องกันผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้ ดังนั้น การวางแผนการทางเงินจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรี, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ