กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อผลไม้ยอดนิยมอย่าง “องุ่นไชน์มัสแคท” มีการสำรวจพบสารตกค้าง กระทบถึงความมั่นใจของผู้บริโภค ส่งผลถึงเหล่าร้านค้า ร้อนถึงอย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ต้องออกแถลงคลี่คลายในรายละเอียดถึงความปลอดภัยที่ยังมีอยู่
Thai PBS ชวนสำรวจดู “สารตกค้าง – สารปนเปื้อน” ภัยใกล้ตัวเหล่านี้ เกินค่ามาตรฐานคืออะไร ? เกินอย่างไรถึงต้องระวัง ?
ที่มาของ “สารตกค้าง ปนเปื้อน” ในผักผลไม้
การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันศัตรูพืช เป็นแหล่งที่มาสำคัญของบรรดาสารตกค้างต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้สารป้องกันขับไล่ศัตรูพืชในปริมาณที่มากเกินไป หรือเก็บผลผลิตก่อนเวลาที่สารเคมีจะสลายตัว สารตกค้างปนเปื้อนเหล่านี้กลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา
ในส่วนของความอันตรายจะขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะที่ได้รับสารพิษ รวมถึงสุขภาพของร่างกายของแต่ละคน แต่มีเกณฑ์ปริมาณสารตกค้างที่มีกำหนดเอาไว้ที่เรียกกันว่า “ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRLs)” ซึ่งมีทั้งเกณฑ์ของประเทศไทย โดยเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9002-2559 เรื่อง สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ซึ่งจะมีการกำหนดปริมาณสารพิษสูงสุดที่แตกต่างกัน ทั้งประเภทของสารและสินค้าเกษตร
เช่น ในองุ่น ห้ามมีสารคาร์บาริล (carbaryl) เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมาตรฐานนี้มีขึ้นทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเพื่อมาตรการของสินค้าทั้งที่ผลิต นำเข้าและส่งออกด้วย กรณีที่ทำให้เกิดอันตรายจึงมาจากปริมาณสารตกค้างที่มากเกินเกณฑ์ความปลอดภัย ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ดังนี้
1. ได้รับสารตกค้าง ปนเปื้อนปริมาณมาก เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
การได้รับสารพิษที่ปนเปื้อนในปริมาณมาก อาจมาจากการสัมผัสโดยตรงจากผักหรือผลไม้เหล่านั้นจะทำให้เกิดอาการทันทีได้ เช่น อาเจียน เวียนหัว มีแผล ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ถึงขั้นมีแผลลุกลามได้ โดยอาการเหล่านี้จะแสดงภายใน 2 – 3 ชั่วโมง หรือ 2 – 3 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสารเคมี
2.ได้รับสารตกค้าง ปนเปื้อนปริมาณน้อย แต่สะสมในปริมาณที่มากพอ
ร่างกายได้รับสารพิษสะสมในร่างกายผ่านการรับประทานเป็นหลัก สะสมจนเป็นผลให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ อาทิ มะเร็งในตับหรือลำไส้ เบาหวาน โรคผิวหนัง ผลลักษณะนี้อาจมาจากการรับประทานผัก – ผลไม้ที่ปนเปื้อนต่อเนื่อง โดยได้รับสารพิษปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ซึ่งจะแสดงผลในระยะยาว อาจเป็นเดือนหรือปี
รู้จักระบบตรวจสารตกค้าง – ปนเปื้อนในไทย
มาตรฐานการควบคุมสารตกค้าง – ปนเปื้อนในอาหารทั้งสินค้าเกษตรและปศุสัตว์นั้น มีเกณฑ์หลัก ๆ มาจาก มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9002-2559 เรื่อง สารพิษตกค้าง :ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด อย่างที่กล่าวมาข้างต้น) ส่วนกรณีที่มีสารพิษอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการระบุชื่อไว้ ก็มีแนวทางให้อิงปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดจาก Codex Alimentarius Commission โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
หรือหากพบสารพิษที่ยังไม่มีการระบุไว้ในบัญชีทั้งหมดข้างต้น ก็ยังมีกำหนดค่าตั้งต้นจำกัด (Default Limit) ไว้ให้ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรันต่อกิโลกรัม เพื่อความปลอดภัยสูงสุด หากมีการตรวจพบจะมีการลงโทษปรับ รวมถึงดำเนินการด้านใบอนุญาตต่าง ๆ กับผู้ประกอบการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งมีคณะกรรมร่วมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง รวมถึง กระทรวงสาธารณสุข ที่มีกรมการแพทย์ รวมอยู่ด้วย
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการสุ่มตรวจสารเคมีที่ตกค้างหรือปนเปื้อน กรณีเคยตรวจเจอแล้วจะมีการจัดแบ่งให้กลุ่มผู้ประกอบนั้น ๆ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง จึงจะมีการตรวจทุกครั้งก่อนสินค้าเข้าสู่ตลาด
ทั้งนี้ หากตรวจพบสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน หน่วยงานรัฐจะมีมาตรการลงโทษ เช่น ยึดใบอนุญาตรวมถึงชดใช้ค่าปรับ และมีอำนาจในการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ไม่ทำตามข้อตกลงด้านมาตรฐานสินค้าอีกด้วย
ข้อแนะนำการหลีกเลี่ยงอันตรายจาก “สารตกค้าง - ปนเปื้อน” ในผักผลไม้
สารตกค้าง – ปนเปื้อนถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ระมัดระวังได้ยาก ในส่วนของภาครัฐมีแนวคิดที่จะพัฒนาการเฝ้าระวังรวมถึงตรวจสารตกค้างต่าง ๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ในส่วนประชาชนทั่วไป การมองด้วยตาเปล่าไม่สามารถรู้ได้ว่าผักผลไม้นั้น ๆ มีสารตกค้างหรือปนเปื้อนอยู่ แต่ยังคงมีวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงจากอันตรายจากสารเหล่านี้
1. เลือกผักและผลไม้ตามฤดูกาล การเลือกรับประทานผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น เลือกบริโภคแครอทในช่วงหน้าหนาว หรือบริโภคตำลึงในช่วงฤดูฝน จะมีส่วนช่วยให้พบสารเคมีน้อยลง เนื่องจากเป็นผัก - ผลไม้ตามฤดูกาล จึงมีการใช้สารเคมีเพื่อช่วยในการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้น้อยลงด้วย
2. เลือกบริโภคผักและผลไม้ที่หลากหลาย เนื่องจากผัก - ผลไม้แต่ละชนิด ใช้สารเคมีเพื่อช่วยในการผลิตแตกต่างกัน และอันตรายจากสารเคมีจะเกิดได้จากการรับเอาสารพิษชนิดเดิมเข้าไปสะสมในร่างกาย หากมีการเลือกบริโภคผักและผลไม้ที่หลากหลายจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการรับสารพิษเดิมเข้ามาสะสมจนเกิดอันตรายได้
3 ล้างให้สะอาด การล้างผัก – ผลไม้แต่ละปวิธีมีรายละเอียดและความสะอาดที่แตกต่างกัน ดังนี้
- การล้างให้น้ำไหลผ่านนาน 2 นาที สามารถช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 25 – 63 % ปลอกเปลือก ลอกใบของผักแล้วล้างแช่ในน้ำสะอาด 5 – 15 นาที สามารถช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 27 – 72 %
- การใช้ด่างทับทิมผสมน้ำและแช่นาน 10 นาที ช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 35 – 43 %
- แช่น้ำชาวบ้าน นาน 10 นาที ช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 29 – 38 %
- ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 27 – 38 %
กรณี “องุ่นไชน์มัสแคท” ยังบริโภคได้หรือไม่ ?
องค์กรภาคประชาชน “เครือข่ายต้านภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” หรือ Thai-PAN ได้มีการสุ่มตรวจและพบว่า มีสารตกค้างที่เป็นสารต้องห้ามใช้ในประเทศ 1 รายการ และสารตกค้างที่เกินกำหนดจากที่มีการขึ้นบัญชีไว้ หรือก็คือยังไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดมาตรฐานว่าเท่าไหร่จึงปลอดภัย แต่ก็พบในปริมาณที่น้อยมาก
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีการแจกแจงรายละเอียดในเวลาต่อมาว่า ผลการตรวจนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เนื่องจากสารพิษที่เจอนั้น เกินค่า Default Limit เพียงเล็กน้อย ยังคงสามารถล้างเพื่อเอาสารพิษออกและรับประทานได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในปี 2567 นี้ การตรวจพบสารตกค้างในผักและผลไม้ที่นำเข้ามาในด่านอาหารและยา 506 ตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านมาตรฐาน 177 ตัวอย่าง ซึ่งได้ถูกดำเนินคดีแล้ว
ด้าน Thai-PAN มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้พัฒนาระบบ Rapid Alert System หรือระบบเผยแพร่ผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้าง ทั้งผู้ค้า ผู้ผลิต นำเข้า ร้านค้า มีระบบเรียกคืนสินค้าและทำลายสินค้าได้ทันทีตามแบบสหภาพยุโรป
อ้างอิง
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
- เครือข่ายต้านภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” หรือ Thai-PAN