ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"บัญชีม้า" ขาย-ได้เงิน-จบ จริงหรือ ?


Verify

30 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

"บัญชีม้า" ขาย-ได้เงิน-จบ จริงหรือ ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1807

"บัญชีม้า" ขาย-ได้เงิน-จบ จริงหรือ ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กรณีสืบนครบาล จับกุมบัญชีม้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงหญิงสาวแม่ลูกอ่อน อายุ 28 ปี เจ้าของบัญชีที่หลอก "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" ให้โอนเงินกว่า 3.2 ล้านบาท ไปตรวจสอบ โดยอ้างว่า "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" เข้าไปพัวพันกับยาเสพติด แม้หญิงสาวรายนี้จะมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าวจริง แต่เธอกลับไม่เคยแม้แต่จะสัมผัสเงินจำนวนดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต เพราะเป็นเพียง "บัญชีม้า" ที่ได้ค่าตอบแทนเพียง 400 บาท เพียงเท่านั้น

ภาพสืบนครบาลจับกุมบัญชีม้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในคดีฉ้อโกง “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย”

นิยามของ "บัญชีม้า"

ธนาคารแห่งประเทศไทยนิยามความหมายคำว่า บัญชีม้า ไว้ว่า

"บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ที่นำมาใช้เป็นช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถ่ายโอนเงิน การรับเงินการโอนเงิน ซึ่งเงินที่ได้มาจากการกระทำผิด"

จุดประสงค์การเปิดบัญชีม้าคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้กระทำผิดได้

 

ภาพจากเพจเฟซบุ๊กที่พบว่ายังคงมีความต้องการรับซื้อบัญชีม้า

"บัญชีม้า" ยังคงเป็นที่ต้องการ

นี่เป็นภาพบันทึกหน้าจอการโพสต์รับซื้อบัญชีธนาคาร และการขายบัญชีธนาคาร ที่ Thai PBS Verify ตรวจสอบพบในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง สะท้อนได้เป็นอย่างดี ว่าความต้องการใช้บัญขีม้าในการทำธุรกรรมของเหล่ามิจฉาชีพยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ราคาหลักร้อย-หลายพัน

ในเพจดังกล่าวมีทั้งการโพสต์ขายบัญชีเงินฝากธนาคาร และการตั้งรับซื้อบัญชีธนาคาร โดยมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 800 บาท จนถึง 8,000 บาท โดยผู้ที่จะขายบัญชีม้า จะระบุถึงการส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ให้กับผู้ซื้อ เช่น สมุดบัญชี บัตรเอทีเอ็ม แอปพลิเคชัน และซิมการ์ดโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชี ไปผูกกับ mobile banking และทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที

ภาพแสดงโพสต์ของผู้โพสต์ขายบัญชีม้าในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง

ขณะที่ผู้รับซื้อก็ระบุถึงรูปแบบของบัญชีที่ต้องการ เช่น ต้องการบัญชีของธนาคารอะไร รวมถึงราคารับซื้อต่อบัญชี เป็นต้น

ภาพการโพสต์รับซื้อบัญชีธนาคารจากผู้จัดหาบัญชีม้าในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง

สาเหตุที่เหยื่อมักอายัดเงินไม่ทัน

มิจฉาชีพส่วนใหญ่ทำงานกันเป็นขบวนการ โดยเฉพาะเหล่า "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่มักใช้บัญชีม้าหลายบัญชีในการโอนเงินส่งต่อกันเป็นทอด ๆ เพื่อป้องกันตัวเองจากการตรวจสอบของตำรวจหรือการถูกอายัดเงิน

ปิดบัญชีเท่าไหร่ ก็ยังไม่ยอมหมด

ข้อมูลจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีผลการดำเนินงานถึง 17 ต.ค.67 ระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,100,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 559,843 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 356,313 บัญชี

ผลการดำเนินงานศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่ 1 พฤษจิกายน 2566 - 25 ตุลาคม 2567

โทษเปิด "บัญชีม้า" ทั้งปรับ-จำคุก ! 

พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จับกุมบัญชีม้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567

คนจัดหาหรือรวบรวม "บัญชีม้า" โทษหนักกว่า !

ผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รู้หรือไม่ ? ถูกแจ้งความโทษแยกเป็นกรรม

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงการดำเนินคดีกับบัญชีม้าว่า หากบัญชีม้าที่ถูกนำไปฉ้อโกงประชาชน จะถูกดำเนินคดีตามฐานความผิด เช่นหากบัญชีนั้นถูกนำไปฉ้อโกงออนไลน์ หรือฉ้อโกงประชาชน ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี จะถูกดำเนินคดีตามอัตราโทษที่ได้มีการตัดสินด้วย และหากมีหลายคดี ก็จะถูกนับเป็นต่างกรรมต่างวาระ

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของเหล่ามิจฉาชีพเด็ดขาด เพราะค่าจ้างที่ได้รับเพียงหลักร้อย หรือหลักพันบาท แต่เมื่อเวลาถูกดำเนินคดี หากมีการดำเนินคดีในต่างพื้นที่ก็จะต้องเดินทางไปพื้นที่นั้น ๆ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาอีกด้วย

ป้องกันตัวจากบัญชีม้าได้อย่างไร ?

ที่ผ่านมาพบว่า มิจฉาชีพมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน หลอกขอทำการตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารต่าง ๆ ของผู้เสียหาย เพื่อให้โอนเงินไปตรวจสอบ โดยอ้างว่าหากการตรวจสอบเงินที่ได้มาของผู้เสียหายเสร็จสิ้นเมื่อใด ก็จะทำการโอนเงินคืนให้กับผู้เสียหาย เช่นกรณีของ "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" หรือการหลอกเป็นหน่วยงานของรัฐ ขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ - ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ มาสร้างเรื่องหลอกให้เหยื่อตกหลุมพราง และที่พบล่าสุด คือการหลอกเหยื่อรับแจ้งความออนไลน์ การลงทะเบียนคืนเงินออนไลน์  เพื่อหวังข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกรณีของ "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" เป็นการหลงเชื่อมิจฉาชีพ ทำการโอนเงินโดยตรงไปให้กับบัญชีม้า ที่เป็นเพียงบัญชีส่วนบุคคล แต่ปัจจุบันพบว่า มิจฉาชีพได้เปลี่ยนวิธีการหลอกลวงผู้เสียหายให้แยบยลมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีจดทะเบียนนิติบุคคลและนำหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือที่เรียกว่า บัญชีม้านิติบุคคล และนำบัญชีม้านิติบุคคลนั้น มาใช้เป็นบัญชีรับเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวง

ดังนั้น หากพบว่า เลขบัญชีที่อ้างว่าเป็นของหน่วยงานราชการและเอกชน แต่ไม่มีการส่งหนังสือหรือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาชี้แจง ให้หยุดการทำการโอนเงินทางออนไลน์ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามทันที

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชน ยึด "หลัก 4 ไม่" คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน เพื่อเป็นการตัดช่องทางการหลอกลวงของมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อีกทางหนึ่ง และสำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง สามารถติดต่อแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 เพื่อระงับบัญชีได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

บัญชีม้าหลอกเปิดบัญชีธนาคารหลอกลงทะเบียนหลอกลวงหลอกสมัครงานหลอกโอนเงินโดนหลอกข่าวปลอม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด