การดู “หนังผี” หรือ “หนังสยองขวัญ” อาจเป็นตัวเลือกกิจกรรมสำหรับหลายครอบครัวที่อยากจะเข้าร่วมเทศกาลฮาโลวีน (Halloween) ทว่าหลายครั้งหนังแนวนี้ก็มีองค์ประกอบที่อาจไม่เหมาะสมกับเด็กนัก
ความน่ากลัว การทำให้ตกใจสั่นผวา รวมถึงเรื่องราวที่หลอกหลอนชวนขนลุก สิ่งเหล่านี้ส่งผลทางจิตต่อ “เด็ก” อย่างไร ? Thai PBS พาไปสำรวจเพื่อทำความเข้าใจ “หนังผี” สามารถสร้างแผลทางใจในวัยเด็กได้หรือไม่ ?
สำรวจผลทางจิต เมื่อเด็กดู “หนังผี”
หนังผีหรือหนังสยองขวัญ มักมาพร้อมเทคนิคทางภาพยนตร์ที่สร้างความตื่นตกใจกลัว หลายครั้งจึงมีการจำกัดอายุผู้เข้าชม แต่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีน หลายครอบครัวเลือกรับชมหนังสยองขวัญร่วมกัน คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วหนังแนวนี้ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไรบ้าง ?
Dr. Natalie Scanlon นักจิตวิทยาจาก Texas Tech Health มองว่าผู้ที่ดูแลเด็กไม่ควรให้เด็กดูหนังผี เนื่องจากมักจะมีเนื้อหาที่รุนแรงเกินไป อาทิ มีภาพเลือด ซากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงความรุนแรงโหดร้าย โดยเด็กอายุน้อย ๆ ที่ยังไม่มีพัฒนาการในด้านการรับรู้ภาพ อาจแยกแยะระหว่างความจริงกับภาพที่ปรุงแต่งขึ้นมาไม่ได้
ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ความกลัวที่เกิดจากการรับชมหนังสยองขวัญ ไม่ว่าจะเป็นแนวเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านผีสิงหรือภาพของความโหดร้าย ส่งผลให้เกิดแผลทางจิตใจ (Trauma) ได้ และทำให้เกิดอาการบางอย่างที่คล้ายอาการทางจิต เช่น อาการเครียดเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder – ASD) หรือ ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post Traumatic Stress Disorder)
“หนังผี” เยียวยาความกลัวในชีวิตจริง
แม้หนังผี จะทำให้เกิดความกลัว แต่ความกลัวเหล่านั้นก็เป็นเพียงสิ่งสมมติหรือก็คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของภาพยนตร์ เคยมีการศึกษาที่เผยให้เห็นประโยชน์ของการรับชมหนังสยองขวัญในด้านของการทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว ทั้งจากความตื่นเต้น การต่อสู้ที่เกิดในเรื่องราว ดนตรีประกอบ และสิ่งที่ทำให้ตกใจ
แต่มากไปกว่านั้น หนังผีกลับทำให้ผ่อนคลายได้ เพราะเมื่อเรื่องราวคลี่คลายหรือหนังจบลง ความเครียดก็ผ่านพ้นไป ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ โดยมีกรณีศึกษาของเด็กอายุ 13 ปี ในช่วงปี 1990 ที่พบว่าตัวเองเลือกดูหนังสยองขวัญเพื่อบำบัดรักษาจิตใจตัวเอง เนื่องจากเจ้าตัวมีปัญหาในชีวิตจริง ทั้งนี้ ผู้ศึกษากรณีดังกล่าวได้ให้คำอธิบายไว้ว่า หนังสยองขวัญทำหน้าที่หลายอย่างกับเด็กวัยรุ่น เช่น การเรียนรู้ด้านอารมณ์ การรับมือกับสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ คล้ายกับนิทานดั้งเดิมที่ทำหน้าที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับเด็กเล็ก
เมื่อหนังผีมีผลให้เกิดแผลทางใจได้ จึงมีการศึกษาค้นหาในมุมกลับว่า หนังผีสามารถรักษาแผลทางใจได้หรือไม่ ? เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจน หากแต่มีประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ
Leela R. Magavi นักจิตวิทยาจากแคลิฟอร์เนีย ผู้เป็นแฟนหนังสยองขวัญ และมีประสบการณ์กับหนังแนวนี้ พบว่า หนังสยองขวัญช่วยลดอาการทางจิตเวชส่วนบุคคล เช่น อาการหวาดกลัวสิ่งต่าง ๆ (phobias) หรือลดบาดแผลทางใจ (trauma) ลงได้
Mathias Clasen ผู้อำนวยการจากสถาบัน Recreational Fear Lab และผู้ช่วยศาสตราจาย์สาขาสื่อและวรรณกรรมที่ Aarhus University จากประเทศเดนมาร์ก เผยถึงผลการศึกษาว่า การรับชมหนังสยองขวัญมีส่วนช่วยให้ผู้คนรับมือกับความกลัวในชีวิตจริงได้ดีขึ้น โดยพบว่าแฟนหนังผีมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่ไม่ได้เป็นแฟนหนังผีในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา
การดูหนังผีในเด็ก ควรได้รับคำแนะนำ และมีการจัดระเบียบ
การดูหนังผี ด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบทางจิตใจในแง่ลบ ทว่าอีกด้านก็มีการศึกษาพบคุณประโยชน์บางอย่าง การทำให้เข้าใจผลทางจิตในเด็กและการจัดระเบียบอย่างเหมาะสมสามารถช่วยให้คำตอบได้ โดยกรมสุขภาพจิต เผยถึงแนวทางมาตรฐานที่กำหนดให้เด็กอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่สามารถรับชมภาพยนตร์แบบใดก็ได้ ขณะที่เด็กอายุน้อยกว่านั้น ได้มีการกำหนดเรทติงเพื่อความเหมาะสม
ผลทางจิตที่เกิดจากดูหนังสยองขวัญ
- เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พัฒนาการทางสมองของเด็กยังไม่เพียงพอ และทำให้ยังคงแยกโลกความจริงกับโลกของเรื่องแต่งจากกันไม่ออก หากให้รับชมหนังที่มีความรุนแรง ก็อาจเกิดผลกระทบทางจิตใจได้ มีพฤติกรรมเลียนแบบ
- เด็กอายุ 10 – 18 ปี ฉากความรุนแรงอาจส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ จิตใจ และความรู้สึกได้มาก อย่างการรับชมหนังบางเรื่องแล้วรู้สึกดิ่งโดยไม่รู้ตัว เด็กอาจซึมซับความรุนแรงของหนังที่รับชมได้ รวมถึงผลกระทบเป็นแผลทางใจนั้นผู้ปกครองหรือเด็กเองควรสังเกตตัวเองด้วยว่ามีบุคลิกส่วนตัวประกอบด้วย เช่น เกิดความเครียดกังวลได้ง่าย เกิดความกลัวได้ง่ายหรือไม่ โดยผู้ปกครองควรพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
Dr. Natalie Scanlon นักจิตวิทยาจาก Texas Tech Health ได้ให้ข้อแนะนำถึงการเลือกหนังผีมาดูเพื่อรับกับเทศกาลฮาโลวีนของครอบครัวว่า สามารถเลือกหนังผีที่ทำมาเพื่อเด็กอย่าง แคสเปอร์ ผีน้อยเพื่อนรัก หรือหนังเรื่องอื่น ๆ ที่แม้จะมีผีในเรื่อง แต่ก็ไม่มีความรุนแรงได้
หนังผีอาจไม่ได้ผู้ร้ายเสมอไป แต่ความรุนแรงที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในหนังและการเลือกรับชมหนังตามการจัดเรทติงที่ถูกต้อง จะช่วยให้เด็กได้รับชมหนังแม้จะเป็นหนังผีก็เหมาะสมกับช่วงวัยของเขาได้
อ้างอิง
- Nationalgeographic
- Researchgate
- กรมสุขภาพจิต