เมื่อสภาพเศรษฐกิจคือ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต หากเศรษฐกิจดี ก็ส่งผลให้คนเราอยู่ดีกินดี มีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือ แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่ คุณภาพชีวิตที่เคยได้เสพสุขก็อาจจะลดลง
โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายที่ยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับสวนทาง ทำให้ชีวิตต้องรัดเข็มขัด ใช้เงินอย่างระมัดระวัง หรือสุดท้ายนำไปสู่การสูญเสียความมั่นคงของชีวิต ซึ่งอาจรวมถึง ‘ที่อยู่อาศัย’
‘ลุงพงศ์’ หรือ ‘สุรพงศ์ คลังสิน’ ชายวัย 60 ปี ที่เรียกได้ว่าอดีต ‘คนไร้บ้าน’ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและสถานการณ์โรคระบาดอย่างโควิด-19 ลุงพงศ์เคยทำงานร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวถนนรัชดาภิเษก จากเด็กเสิร์ฟสู่การเป็นกัปตันร้านอาหาาร เส้นทางที่เหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับต้องฝันสลายเมื่อโลกเข้าสู่ภาวะโรคระบาด จากตำแหน่งกัปตันร้านอาหาร สู่คนว่างงาน และด้วยรายได้ที่ได้มาส่วนหนึ่งลุงพงศ์ได้ส่งให้พี่สาวและแม่ของเขาหมด ทำให้ไม่มีเงินเก็บในยามฉุกเฉิน ทำให้สุดท้ายลุงพงส์ได้เข้าสู่สถานะ ‘คนไร้บ้าน’
จากรายงานข่าวเมื่อปี 2566 พบว่า กว่า 22% ของคนไร้บ้านในไทย คือผู้สูงอายุ และมีสาเหตุหลักจาก 2 ปัญหา ได้แก่ ‘ปัญหาจากตัวบุคคล’ ไม่ว่าจะความเจ็บป่วย ความพิการ หรือสารเสพติด และ ‘ปัญหาจากเศรษฐกิจ’ ครอบครัว และสวัสดิการ เมื่อสำรวจจำนวนของคนไร้บ้าน มีจำนวนถึง 2,499 คน ที่เป็นคนไร้บ้าน เพราะสาเหตุอย่าง ‘การถูกไล่ออกและไม่มีงานทำ’
ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่งของโลกอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่ประสบกับสถานการณ์ของคนไร้บ้านที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพ มีส่วนทำให้จำนวนของคนไร้บ้าน (Homeless) เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จากรายการของ National Alliance to End Homelessness พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไร้บ้านคือ ‘ค่าเช่าที่พักอาศัยเพิ่มสูง’ แต่ในขณะเดียวกัน ‘รายได้กลับต่ำ’ อีกทั้งความน่ากลัวคือ ผู้เช่าที่มีรายได้น้อยมากกว่า 70% ต้องเสียค่าเช่าที่พักอาศัยมากกว่า 50% ของรายได้ที่ได้รับ
สิ่งหนึ่งที่คนไร้บ้านต้องการคือ ‘โอกาส’ เพราะคนไร้บ้านหลายคนมีศักยภาพในการทำงาน เพียงแต่ถูกสังคมกีดกั้น ทั้งด้วยเงื่อนไขของอายุ สมรรถภาพทางกายและสถานะทางสังคม จากเรื่องราวของลุงพงศ์ เมื่อวันหนึ่งคนไร้บ้านที่ว่างงาน สู่คนไร้บ้านที่เริ่มกลับมามีอาชีพ ‘โครงการจ้างวานข้า’ หนึ่งในโครงการของมูลนิธิกระจกเงา ที่มอบโอกาสให้คนไร้บ้านได้กลับสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง จนทำให้เส้นทางของลุงพงศ์ในปัจจุบัน กลับมามีรายได้ประจำและทำงานอยู่ที่ ‘สดชื่นสถาน’ ซึ่งเป็นแหล่งให้บริการซักอบผ้า บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า
‘แนวคิดมนุษยนิยม’ เป็นอีกแนวคิดที่จะช่วยสนับสนุนคนไร้บ้านได้ เป็นแนวคิดที่เชื่อในเรื่องของศักยภาพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หากมีพื้นฐานแนวคิดนี้ ทำให้เรามองคนไร้บ้านในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่มีความต้องการเหมือนกับคนทั่วไป ในเรื่องของสิทธิพื้นฐานของการมีชีวิต การมีงานทำและการมีรายได้ ส่งผลให้การผลักคนไร้บ้านในฐานะ ‘คนชายขอบ’ จะลดน้อยลง เนื่องจากมีโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น และโอกาสที่ภาครัฐส่งเสริมในเรื่องของสวัสดิการมากขึ้น
เมื่อต้นเหตุส่วนหนึ่งของการเป็นคนไร้บ้านคือ ‘การว่างงาน’ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการ ‘ให้งานทำ’ จึงเป็นอีกทางออกที่หนึ่งที่ตอบโจทย์ ขณะเดียวกัน ‘การสนับสนุน’ ทั้งจากระดับประเทศและท้องถิ่นในเชิงสวัสดิการ เป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านด้วยเช่นกัน ทั้งการสนับสนุนในเรื่องของที่พัก การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ การศึกษา จึงกล่าวได้ว่าการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน อาจต้องร่วมมือทั้ง ภาคประชาชนในเรื่องของการให้โอกาส และภาครัฐ ในเรื่องของการให้สวัสดิการสนับสนุน
เรื่องราวของลุงพงศ์จึงเป็นภาพสะท้อนของคนไร้บ้านจำเป็น ที่โดนสังคมและเศรษฐกิจบีบบังคับ แม้จะไร้บ้านแต่ใช่ว่าจะไร้ความสามารถ เพราะสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการคือ ‘โอกาส’ ในการมองเขาเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งในสังคม และภาครัฐที่พร้อมจะสนับสนุนคุณภาพชีวิตพื้นฐานเพื่อส่งเขาคืนกลับตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ
รับชมเรื่องราว ‘ลุงพงศ์ ’ (ในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay
อ้างอิง