อะวาดาเคดาฟรา ! ต้อนรับ “วันฮาโลวีน” (Halloween Day) ด้วยภาพเนบิวลาชื่อดัง “Pillars of Creation” จากกล้อง JWST แต่คราวนี้มาในโทนสีสุดหลอน ประหนึ่งผู้คุมวิญญาณจาก Harry Potter !
นี่คือภาพเนบิวลา “Pillars of Creation” ในช่วงคลื่นอินฟราเรดที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) ผ่านอุปกรณ์ Mid-Infrared Instrument หรือ MIRI ที่ตรวจจับคลื่นอินฟราเรดกลาง โดยนำภาพถ่ายในช่วงคลื่นอินฟราเรดกลางที่แตกต่างกัน 3 ช่วงคลื่น มาประมวลผลเป็นภาพสีของเนบิวลาแห่งนี้ ที่มีความแปลกตาไปจากช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นอย่างมาก
ในช่วงคลื่นนี้ แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างฝุ่นและแก๊สของเนบิวลาแห่งนี้อย่างคมชัด โดยที่ภายในกลุ่มฝุ่นหนาแน่นสีฟ้านี้ มีดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวอยู่จำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นจะพบว่าดาวฤกษ์ในภาพนี้ มีความสว่างและมีจำนวนน้อยกว่าภาพจากช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ดาวฤกษ์จะปลดปล่อยคลื่นอินฟราเรดกลางค่อนข้างน้อย แต่จะปลดปล่อยรังสียูวี คลื่นแสงที่ตามองเห็น และคลื่นอินฟราเรดใกล้ ออกมามากกว่า ทำให้ภาพที่ได้จากอุปกรณ์ MIRI ดาวฤกษ์จะไม่ค่อยโดดเด่นเท่ากลุ่มฝุ่นและแก๊สนั่นเอง
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความรู้ว่า MIRI เป็นหนึ่งในอุปกรณ์หลักของกล้อง JWST ที่ทรงพลังที่สุดในการตรวจจับคลื่นอินฟราเรดกลาง โดยข้อมูลจาก MIRI จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถระบุปริมาณและองค์ประกอบของฝุ่นภายในเนบิวลาได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำไปสร้างแบบจำลองเนบิวลา ที่จะช่วยอธิบายได้ว่าโครงสร้างของเนบิลาแห่งนี้ มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
เนบิวลาเป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่เป็นทั้งเศษซากและต้นกำเนิดของดาวฤกษ์ การศึกษาเนบิวลาจึงเป็นเสมือนการทำความเข้าใจถึงต้นกำเนิดดาวฤกษ์ตั้งแต่กระบวนการก่อตัวของฝุ่นและแก๊ส ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และรวมถึงการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของดาวฤกษ์ที่ใกล้ตัวเราที่สุดอย่างดวงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : webbtelescope, ธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech