ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“วันฮาโลวีน” ชวนคุยเรื่อง “ผี” ด้วยหลักจิตวิทยา


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

31 ต.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“วันฮาโลวีน” ชวนคุยเรื่อง “ผี” ด้วยหลักจิตวิทยา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1809

“วันฮาโลวีน” ชวนคุยเรื่อง “ผี” ด้วยหลักจิตวิทยา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“วันฮาโลวีน” (Halloween) ตรงกับ 31 ต.ค. ของทุกปี โดยมีความเชื่อกันว่าเป็นวันที่วิญญาณของคนตายจะออกมาป่วนโลก Thai PBS Sci & Tech ไม่พลาดขออินเทรนด์ชวนคุยเรื่องผี ๆ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับ “ผี” แบบจิตวิทยา  แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะสยึ๋มกึ๋ย - ขนหัวลุกกันนะจ๊ะ

หากพูดในเชิงจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์นั้น เรื่อง “ผี” ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ และยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็จริง แต่ทว่านักจิตวิทยาพยายามหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผี

ผศ. ดร.วรวัชร์ ตั้งจิตรเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ผีหลอกหรือผีอำเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ยกตัวอย่าง “ผีอำ” เกี่ยวกับภาวะการนอนหลับในช่วงหนึ่ง เรียกว่าช่วงหลับที่มีการเคลื่อนไหวของตาอย่างรวดเร็ว (Rapid Eye Movement: REM Sleep) ซึ่งมีการฝันเกิดขึ้นร่วมด้วย โดยปกติเมื่อฝัน ร่างกายจะพยายามตัดส่วนของมอเตอร์ฟังก์ชันไม่ให้เราขยับได้ ณ ช่วงนั้น แต่เมื่อมีความผิดปกติในวงจรการหลับเกิดขึ้นจะทำให้เรารู้สึกตัว แต่ร่างกายยังกดการทำงานมอเตอร์ฟังก์ชันของเราไว้ ทำให้เราขยับไม่ได้ และเราจะเริ่มตีความสิ่งเร้า หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น คิดว่ามีผีมานั่งทับ มีบางสิ่งบางอย่างมากดไว้ สิ่งเร้าเหล่านี้เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ผีอำในทางจิตวิทยา

ผี

“ผีหลอก” มุมที่เกี่ยวข้องกับผี

การหลอกหรือผีหลอก สำหรับนักจิตวิทยาส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเป็น Hallucination หรือภาพหลอน เป็นการตีความสิ่งเร้าภายใต้ภาวะที่มีความกำกวม สังเกตได้ว่าเวลาเจอผีหลอก หรือคนอื่นเล่าให้ฟัง ส่วนมากจะไม่ได้เจอแบบเปิดประตูมาแล้วเห็นผีเต็ม 100% แต่มักจะอยู่ในสถานที่ที่มีแสงสลัว ๆ มืด ๆ ในขณะที่สิ่งเร้ามีความกำกวมมาก คนจะตีความสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ โดยตีความไปตามสิ่งที่เราเชื่อ และใช้ประสบการณ์เข้าไปร่วมด้วย

ชมคลิปวิทยาศาสตร์ปะทะวิญญาณ! เจาะลึกเครื่องจับผี Ghostbusters

จะเห็นได้ว่า “ผีหลอก” มักเป็นไปตามเรื่องเล่าที่ปรากฏขึ้นในสังคม ผีไทย ผีจีน ผีฝรั่ง จะไม่เหมือนกัน เพราะเรื่องเล่าในแต่ละสังคมและบริบทแตกต่างกัน เช่น ในแอฟริกา แม้จะมีต้นกล้วยเยอะแต่ไม่มีผีตานี เพราะเขาไม่มีเรื่องเล่าปรากฏบริเวณนั้น แต่ของไทยนั้น ผีตานีสวมใส่สไบ อาจเห็นในภาวะกลางคืน ในดงกล้วย ตัวใบกล้วยมีความคล้ายคลึงกับสไบ ทำให้เราตีความในเชิงนั้นได้ อย่างไรก็ตามมันอาจเป็นภาพที่เราสร้างขึ้นมาในขณะที่สิ่งเร้ามีความกำกวมมากให้มีความสอดคล้องกับความรู้ของเราที่มี

เงาคนจับกระจก

“กลัวผี” แต่ติดฟังเรื่อง “ผี”

มีคำอธิบายเกี่ยวกับการชอบเสพสื่อทางลบ ซึ่งเรื่องผีเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ได้สวยหรู สามารถอธิบายได้ว่าทำไมคนถึงชอบฟังเรื่องผี คือ

1. การแสวงหาแรงกระตุ้นเร้าจากอารมณ์ หรือจากความรู้สึกกลัว (Sensation seeking)

ถ้ามนุษย์อยู่ไปเรื่อย ๆ อาจรู้สึกเบื่อ แน่นอนว่าเรามีวิธีการแก้เบื่อหลายอย่าง อย่างการฟังเรื่องผี ซึ่งเป็นเรื่องตื่นเต้น มีความเหนือความคาดหมาย เมื่อได้ฟังก็เป็นแรงกระตุ้นเร้าอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกกลัว มีคำอธิบายในทางชีววิทยาว่า ในช่วงที่เรากลัวและตื่นเต้น ร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) และหลังจากที่เรากลัวสักพักหนึ่ง ร่างกายจะหลั่งสารโดพามีน ทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข ทำให้เรารู้สึกเสพติดการฟังเรื่องผี เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง

หน้าผีหรือวิญญาณ

2. การระบายออก (Catharsis)

คนเรามีความรู้สึกหลายอย่าง ความก้าวร้าว ความกลัว เราต้องการระบายความรู้สึกเหล่านั้น ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีการสะสมความรู้สึกกลัวอยู่ และการได้ฟังเรื่องผีเป็นเหมือนการระบายออกของความกลัวในรูปแบบหนึ่ง หากมองในในทางจิตวิเคราะห์ จะเป็นเหมือนการสร้างการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ เช่น เวลาเราเสพเรื่องที่แย่ ๆ เราจะเกิดความเปรียบเทียบกับความเป็นอยู่ของเรา ณ ปัจจุบัน เรื่องผีคือเรื่องทางลบ เป็นเรื่องที่มีความเป็นโศกนาฏกรรม พอเราเสพสิ่งที่มันอยู่ในสถานภาพเลวร้ายกว่า จึงเกิดการเปรียบเทียบว่า เรา ณ ปัจจุบันดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องราวนั้น มันก็สร้างความรู้สึกดีกับเราได้ในรูปแบบหนึ่ง

คฤหาสน์ผีสิงในคืนฮัลโลวีน

3. ความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางสังคม

บางครั้งเราอาจไม่ได้ฟังเรื่องผีคนเดียว อาจฟังในลักษณะเป็นกลุ่ม ย้อนไปในอดีต 10-20 ปีที่แล้ว เราชอบฟังเรื่องผี แต่ในหลาย ๆ ครั้ง เราก็ไม่ฟังคนเดียว จะมีการแชร์กับเพื่อน ๆ จึงมองได้ว่าเป็นกิจกรรมทางสังคมได้ และหากมองในเชิงพิธีกรรมทางสังคม (Ritual) อาจเป็นการฝึกการก้าวข้ามความกลัวของวัยรุ่นชาย ใครแสดงออกมาก-น้อย คนไหนกลัวมาก อาจถูกบุลลีหรือถูกล้อได้ เป็นการหล่อหลอมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง

“ฮาโลวีน” (Halloween)

ซึ่งหากมองในปัจจุบัน ความเชื่อมโยงกับเทศกาล “ฮาโลวีน” (Halloween) ก็อาจเป็นเหมือนกับการทำกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศเอง ฮาโลวีนก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับการเป็นผีที่น่ากลัว ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรม อย่างเด็ก ๆ แต่งตัว เพื่อไปเคาะประตูบ้านคนอื่นในช่วง 1-2 ทุ่ม (Trick or Treat) เป็นพื้นที่ให้มีกิจกรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง รวมถึงมีกิจกรรมไปในทางสนุกสนาน เฮฮาปาร์ตี้มากกว่าการจัดงานเนื่องจากกลัวผีหรือศรัทธาในผี


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ผศ. ดร.วรวัชร์ ตั้งจิตรเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันฮาโลวีนฮาโลวีนHalloween DayHalloweenผีผีหลอกจิตวิทยาวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด