ปลายเดือนกันยายน 67 ที่ผ่านมา มีการจัดงานด้านสิ่งแวดล้อม ESG Symposium 2024 ภายใต้แนวคิด Driving Inclusive Green Transition หรือการเดินหน้าเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจและสังคมสีเขียว ตามสโลแกนที่ว่า ยิ่ง “เร่งเปลี่ยน” ยิ่ง “เพิ่มโอกาส
งานนี้เป็นการรวมเอาองค์ความรู้ ในการขับเคลื่อนธุรกิจจากหลากหลายวงการ ไปสู่ความเป็นธุรกิจสีเขียว รวมทั้งยังเป็นพันธกิจร่วมกัน ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” ตามที่ได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2050
ภายในงานนอกจากจะมีนิทรรศการ การนำองค์ความรู้สู่การเปลี่ยนผ่าน “สังคมคาร์บอนต่ำ” จากหลากหลายแวดวงธุรกิจแล้ว ยังมีการเสวนาเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งระดับนานาชาติ และบุคลากรในหลากหลายสาขาอาชีพของเมืองไทย มาร่วมแชร์วิสัยทัศน์ ตลอดจนรายงานผลโครงการที่น่าสนใจร่วมกัน
Thai PBS รวบรวมเรื่องราวน่ารู้ของงาน ESG Symposium 2024 งานดี ๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจความหมายของการเดินหน้าสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มาบอกกัน
ทำความรู้จัก งาน ESG Symposium คืออะไร ?
จากวิกฤตโลกเดือดที่ทวีความรุนแรงขึ้น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดว่า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2027 ซึ่งปัจจุบันอุณหภูมิของโลกขึ้นไปที่ 1.42 องศาเซลเซียส
สาเหตุสำคัญคือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในภาคพลังงาน ภาคการคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จนนำมาซึ่งการเดินหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือสังคมคาร์บอนต่ำ ที่เป็นภารกิจร่วมกันของคนทั้งโลก
และหนึ่งในวิธีคิดเพื่อนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ คือ การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ
- สิ่งแวดล้อม (Environment) โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม
- สังคม (Social) คือหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์ และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างไร
- การกำกับดูแล (Governance) เป็นหลักการที่ใช้วัดว่า บริษัทมีวิธีการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เมื่อนำองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างมารวมกัน จึงเป็นที่มาของ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ESG Symposium 2024 นิทรรศการที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้มากมาย
งาน ESG Symposium 2024 ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานราชการ จำนวนกว่าร้อยองค์กร
โดยได้นำ “แนวคิด” ตลอดจนข้อมูลดี ๆ ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทย “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” หรือเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้จงได้
ภายในงานมีเกร็ดข้อมูลเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ
- ทุกวันนี้ ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 40 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
- ในส่วนของประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 3.69 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/คน/ปี เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 4.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/คน/ปี ถือว่ามีอัตราที่สูง
- ปัจจุบันการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มการเกษตร 15.69% กลุ่มอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ 10.77% กลุ่มพลังงาน 69% และของเสีย 4.48%
- 34% ของก๊าซเรือนกระจก มาจากการผลิตอาหาร โดยเฉพาะ “เนื้อวัว” ที่มีการปล่อยคาร์บอนมากกว่าการผลิตไก่ถึง 8-10 เท่า และมากกว่าการผลิตพืชตระกูลถั่วถึง 20 เท่า
- วัตถุดิบที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่สุด 5 อันดับ คือ พืชตระกูลถั่วเปลือกแข็ง, พืชตระกูลส้ม, แอปเปิล, พืชใต้ดิน หรือพืชหัว และกล้วย
- ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 10 อันดับของโลก ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, อิหร่าน,เยอรมนี, ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
- หนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจที่เดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ ธุรกิจการบิน ปัจจุบันมีการทดลองใช้เชื้อเพลิงแบบไบโอดีเซล และที่ผ่านมา สายการบิน “แอร์เอเชีย” ยังรณรงค์การลดใช้ตั๋วกระดาษมาเป็นตั๋วอิเลกทรอนิกส์ (E-boarding pass) ตั้งแต่ปี 2015 ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของผู้โดยสารทั้งหมด ที่เปลี่ยนมาใช้ตั๋วเครื่องบินแบบอิเลกทรอนิกส์
งานเสวนา ESG Symposium 2024 กับองค์ความรู้ใหม่ ๆ และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
นอกจากนิทรรศการ งาน ESG Symposium 2024 ยังมีการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เริ่มต้นที่ Niamh Collier-Smith ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ได้ขึ้นกล่าวเรื่องราวการขับเคลื่อนสู่สังคมโลกใหม่ หรือการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
เธอบอกว่า ในอดีตการวัดความก้าวหน้ามักอิง GDP แต่ปัจจุบันเน้นที่อายุขัย การศึกษา และคุณภาพชีวิต และประการที่สำคัญ เป้าหมายที่ทุกคนมีร่วมกันคือ การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มประเทศกว่า 128 ประเทศ ที่ให้คำมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
อีกหนึ่ง Speaker ที่นำเรื่องราวมาแบ่งปันได้อย่างน่าสนใจ คือ Dr. Cai Guan รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท Wuhan Carbon Peaking & Carbon Neutrality Industry Development Service จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน เธอได้นำเรื่องราวการเดินหน้าขับเคลื่อน “เมืองอู่ฮั่น” ให้กลายเป็นเมืองสีเชียวมาบอกเล่า
ที่เมืองอู่ฮั่นให้ความสำคัญกับ “ตลาดคาร์บอน” มีการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนทำให้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดคาร์บอนที่จีน มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 19% และราคาคาร์บอนเพิ่มสูงขึ้นถึง 87% นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถบันทึกกิจกรรมคาร์บอนต่ำและสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกซื้อสินค้าได้อีกด้วย
มาถึงอีกหัวข้อหนึ่งของการพูดคุย นั่นคือ “Thailand ‘s Potential for Sustainable Transition” หรือ ศักยภาพการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย
โดยมี Dr. Eric Larson ศาสตราจารย์วิจัย มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา Dr. Nana Kuenkel ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร และ Belinda Knox รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-เอ็นไวรอนเมนท์ อินเวสเมนท์ จำกัด (IEI) บริษัทในเครืออีโตชู คอร์ปอเรชั่น จากสหราชอาณาจักร ทั้งหมดได้มาร่วมกันแชร์มุมมองที่เป็นประโยชน์กับการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน
Dr.Eric Larson บอกว่า การปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ต้องมองภาพรวมอย่างเข้าใจ เพราะมีหลายองค์ประกอบที่มีความสำคัญ อาทิ ทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงิน ทุนสังคม หรือทุนมนุษย์ ที่ทั้งหมดต้องเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน และต้องเปลี่ยนอย่างยั่งยืน
อีกภาคหนึ่งที่มีความสำคัญ และต้องผ่านการขับเคลื่อนไปด้วยกัน นั่นคือ ภาคการเกษตร โดย Dr. Nana Kuenkel บอกว่า การผลักดันให้ภาคการเกษตรสู่ความยั่งยืนมีหลายปัจจัย และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม ควรดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง เร่งส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้
เช่น การนำเทคนิคการเปลี่ยนแปลงระหว่างการปล่อยน้ำและการลดการปล่อยก๊าซมีเทน รวมถึงการใช้เทคนิคการปรับระดับดินด้วยเลเซอร์ การสร้างแนวทางที่ความเหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ทั้งหมดนำพาไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน และการไปสู่ Net Zero ได้
ทางด้าน Belinda Knox ได้มาเผยเรื่องราวการกำจัดขยะ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เธอได้พูดถึง โครงการ EFW (Energy from Waste) ซึ่งเป็นการแปลงขยะเป็นพลังงาน โดยการเผาขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการเผาไหม้
กระบวนการนี้จะช่วยลดปัญหาขยะในหลุมฝังกลบ และสร้างพลังงานทดแทน ถือเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะในเมืองใหญ่ที่ประเทศไทยเองก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกัน
ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่สัคมคาร์บอนต่ำอย่างไร ?
มาถึงอีกหนึ่งเซสชันที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน เป็นหัวข้อที่ชื่อว่า “The Key Driver for Inclusive Green Transition” หรือการหยิบเอา “ปัจจัยสำคัญ” และรวมถึงโมเดลต้นแบบ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง อันประกอบไปด้วย
- Circular Economy หรือการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้คุ้มค่าสูงสุด
- Just Transition การสนับสนุนทรัพยากรแก่ผู้ประกอบการ
- Technology for Decarbonization การพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- Sustainable Packaging Value Chain การจัดการแพคเกจจิ้งทั้งระบบอย่างยั่งยืน
- Saraburi Sandbox การสร้างโมเดลต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย
ในมุมของ Circular Economy วิทยากรรับเชิญคือ ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน ตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่ เพื่อให้เกิดการผสมผสานและได้ข้อมูลในเรื่องการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้ชัดเจนที่สุด ทั้งนี้ต้องสร้าง Road map ขึ้นมา เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในคราวเดียวกัน ควรมีกฎหมายที่รองรับเรื่อง Circular Economy อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ด้านกลไกการเปลี่ยนผ่าน (Just Transition) แสงชัย ธีรกุลวาณิช ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า รัฐต้องมีกลไกให้การสร้างมาตรฐานให้เป็นไปโดยง่าย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งหมด สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวได้อย่างแท้จริง
ส่วนในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมารองรับ (Technology for Decarbonization) รศ. ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงทรรศนะว่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้น แต่ยังติดข้อจำกัดในเรื่องบุคลากร รวมถึงการเปิดเผยข้อมูล ต้องรู้ว่าองค์กรปล่อยคาร์บอนเท่าไร และมีแผนอย่างไรในการลดปริมาณคาร์บอนเหล่านั้น
รศ.ดร.จรรยา ยังให้ความเห็นว่า ในอนาคต เรื่องปริมาณการปล่อยคาร์บอน หรือการนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาจเป็นหนึ่งใน KPI ที่ทุก ๆ องค์กรต้องตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน
ประเด็นที่ว่านี้ มาตอบรับกับมุมมองของ สุชัย กอประเสริฐศรี นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย เขาบอกว่า ต่อไปแพคเกจจิงของแต่ละแบรนด์จะไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียว แต่ต้องบอกได้ว่า นี่เป็นแพคเกจจิงที่มีคาร์บอนเท่าไร รวมถึงเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ อนาคตการออกแบบแพคเกจจิง จะต้องมีเงื่อนไขเรื่อง Carbon Footprint เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น
มาถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของเสวนา คือเรื่องราวของ Saraburi Sandbox หรือโมเดลต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ซึ่งได้ภาคีเครือข่ายในจังหวัดสระบุรี มาร่วมมือกัน ทำให้ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรีลดลง เรื่องนี้ บัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ย้อนเล่าให้ฟังว่า ภารกิจนี้เป็นความท้าทายอย่างมาก
จากในปี 2559 สระบุรีมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 27 ล้านตันคาร์บอนฯ จนมาในปี 2562 ลดลงเหลือ 23 ล้านตันคาร์บอนฯ และเป้าหมายของการทำสระบุรีแซนด์บ็อกครั้งนี้คือ ต้องลดปริมาณคาร์บอนลงเหลือ 5 ล้านตันคาร์บอนฯ ให้ได้ภายในปี 2570
บัญชา เล่าต่อว่า เรื่องตัวเลขที่ลดลงถือเป็นภารกิจสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการตอบคำถามชาวบ้านให้ได้ว่า “ทำแล้วได้อะไร ?” ซึ่งประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในเวลานี้คือ เกิดป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น เกิดระบบนิเวศที่ดีขึ้น ทั้งหมดเกิดจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ป่าชุมชนกว่า 38 แห่งทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของการสร้าง Saraburi Sandbox ขึ้นนั่นเอง
บัญชา สะท้อนภารกิจครั้งนี้ว่า เริ่มต้นอาจจะมีความยาก แต่ขอให้คิดบวก ถ้าจังหวัดสระบุรีทำได้ จังหวัดอื่น ๆ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน
“เราสู้กับธรรมชาติไม่ได้ แต่เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ สำคัญคือต้องปรับตัว และต้องปรับตัวอย่างกล้าหาญด้วย”
คำมั่นสัญญา จากวันนี้ สู่ความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม
ช่วงท้ายของงาน ESG Symposium 2024 ได้รับเชิญจาก ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ขึ้นกล่าวสรุป พร้อมนำข้อเสนอที่ได้จากการจัดงานครั้งนี้ ส่งต่อให้กับภาครัฐ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเชิงรูปธรรม
โดย ธรรมศักดิ์ สรุปข้อเสนอ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
- ปลดล็อกกฎหมายเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
- ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว
- พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว
- เสริมศักยภาพ sme เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มาร่วมในงานครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ได้ตอบรับข้อเสนอ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ และจะเร่งขับเคลื่อนทุก ๆ นโยบายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของทุกภาคส่วนให้สำเร็จจงได้
“เราทุกคนจะร่วมกันเปลี่ยนความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจํากัด เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
งาน ESG Symposium ยังมีจัดขึ้นอีกทุกปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย “โลกที่ดีกว่าเดิม” ถึงตรงนี้ ทุก ๆ คนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส...โอกาสที่พวกเราจะได้รักษา “บ้านหลังใหญ่” แห่งนี้ร่วมกัน เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อลูกหลานของเราต่อไป…
- ชมงานเสวนา ESG Symposium 2024 อีกครั้ง