ทำไม “ขายตรง (แฝง) แชร์ลูกโซ่” ยังมีอยู่ในสังคมไทย ?


Insight

11 ต.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

ทำไม “ขายตรง (แฝง) แชร์ลูกโซ่” ยังมีอยู่ในสังคมไทย ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1707

ทำไม “ขายตรง (แฝง) แชร์ลูกโซ่” ยังมีอยู่ในสังคมไทย ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

กลายเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อ “ธุรกิจขายตรง (Direct Selling)” ที่มีผู้มีชื่อเสียงระดับดารามากมายเกี่ยวข้องอย่าง “ดิไอคอนกรุ๊ป” ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่ (Pyramid Scheme หรือ Ponzi Scheme)” ปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวมีเกิดขึ้นหลายครั้งในไทย เกิดเป็นข้อสงสัย “ธุรกิจขายตรง (แฝง) แชร์ลูกโซ่” เหตุใดจึงยังมีอยู่ แล้วเหตุใดจึงมักพบผู้เสียหาย จากผู้ที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตนักธุรกิจขายตรง สู่ เหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่

ทำความรู้จักกลยุทธ์ขายตรง เริ่มต้นจาก “ขายฝัน” ผันเปลี่ยนไปถึง “แชร์ลูกโซ่”

ในชีวิตของหลายคนอาจพบเจอการชักชวนไปร่วมทำธุรกิจไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในช่วงชีวิตที่มีการเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะช่วงกำลังจะเรียนต่อ เพิ่งเรียนจบการศึกษา หรือเข้าสู่วัยเกษียณอายุได้ไม่นาน จากการชักชวนไป “ขายตรง” หรือร่วมทำธุรกิจอะไรบางอย่างที่นำไปสู่การ “ขายฝัน” และจบลงด้วย “แชร์ลูกโซ่”

จากหลายกรณีที่เกิดขึ้นทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ และข้อมูลจากองค์กรที่ทำงานด้านนี้อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พอจะสรุปรวบยอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ธุรกิจขายตรงแฝงแชร์ลูกโซ่” มีกลยุทธ์ในการชักชวนจูงใจผู้คนที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ทางจิตวิทยาหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. นำเสนอความมั่นคง ร่ำรวยในชีวิต “รู้จัก Passive income มั้ย ?” คำถามหนึ่งที่ธุรกิจขายตรงใช้ชักชวนผู้คนให้เข้าสู่วงจรธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของที่ท้ายที่สุดคือ “ชีวิตที่สุขสบายโดยไม่ต้องทำงาน” นี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่มาพร้อมการโน้มน้าวใจ ผ่านปมส่วนตัวบางอย่าง เช่น ไม่อยากให้ครอบครัวสุขสบายเหรอ ?

2. เริ่มต้นจากเงินน้อย ๆ สู่เงินที่มากขึ้น และยากจะถอนตัว “ค่าคอร์สออนไลน์แค่ 98 บาท” แต่เนื้อหาในการอบรมนอกจากหลักการตลาดทั่วไปแล้ว ภาพรวมจะเป็นการโน้มน้าวใจให้ร่วมธุรกิจสมัครสมาชิก โดยเงินค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันบาท พร้อมได้สินค้ามาทดลองใช้หรือขาย และต้องเข้าร่วมอบรมต่อเนื่องที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ

3. แสดงให้ดูว่า “ใคร ๆ ก็ทำได้” โดยมีตัวอย่างเป็นคนที่เข้าร่วมทำธุรกิจแล้วสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ละคนจะมีส่วนที่ประกอบกันเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ที่ถูกชักชวนให้มาร่วมธุรกิจ เช่น หมอที่ผันตัวมาร่วมธุรกิจ ข้าราชการเกษียณอายุ นักเรียนทั้งระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย วัยรุ่นที่เคยทำตัวเกเรมาก่อน จนถึงคนทำงานหาเช้ากินค่ำ หลายคนสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับกรณีที่ประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อ ๆ ไป

4. ผลตอบแทนสูงเมื่อชักชวนคนมาเข้าร่วม เมื่อขายฝันสำเร็จมีการเข้าสู่การเป็นสมาชิก ข้อเสนอถึงผลกำไรจากการชักชวนคนมาเข้าร่วมโดยการันตีค่าตอบแทนสูงจะเกิดขึ้นตามมา หากมีค่าตอบแทนที่สูงเกินจริงจะเข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ทันที แต่หากการตอบแทนมีลักษณะของการขายสินค้า หลายครั้งสินค้ามักไม่มีคุณภาพเพียงพอ

5. ปรับตัวเปลี่ยนแบรนด์ทันสมัยอยู่ในเรื่องราวของผู้คนอยู่เสมอ เมื่อขายฝันสำเร็จ อาจมีการจ่ายค่าตอบแทนคืนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุดที่แชร์ลูกโซ่โตได้ไม่เพียงพอ จุดจบสุดท้ายคือการปิดบริษัทหนี แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายครั้งก็เกิดกระบวนการใหม่ที่เปลี่ยนสินค้า เปลี่ยนแบรนด์ โดยสินค้าและบริการหลากหลายชนิด ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างเรื่อวราวทางธุรกิจ จากอาหารเสริม เครื่องสำอาง จนถึงการลงทุนค่าเงินอย่าง Forex ที่ลงท้ายคือ การฉ้อโกงผู้คนครั้งใหญ่ ผู้ร่วมกระบวนการเปลี่ยนสินค้าที่นำมาขาย และทำทุกอย่างใหม่อีกครั้ง มีการแจกของยอดนิยมในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น มือถือชื่อดัง ของเล่นที่เป็นกระแส ซึ่งทั้งดึงดูดและทำให้รู้สึกว่าพูดภาษาเดียวกันกับผู้คนในช่วงเวลานั้น

แบบไหนเรียก "ขายตรง"

เหตุใด “ขายตรงแอบแฝงแชร์ลูกโซ่” ยังไม่หมดไป ?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีธุรกิจการลงทุนมากมายที่ท้ายที่สุดลงเอยที่ “แชร์ลูกโซ่”  หลายครั้งข้อกฎหมายไม่เพียงพอที่จะเอาผิดกลุ่มคนเหล่านี้ แต่มีผู้เสียหาย เสียทรัพย์สินเกิดขึ้นแล้ว และมีอีกมากมายหลายกรณีที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว ความเสียหายอาจน้อย แต่นั่นอาจหมายถึง “เงินก้อนสุดท้าย” ของชีวิตใครบางคน บางคนขายทรัพย์สิน หรือหยิบยืมกู้เงินมาเพื่อลงทุน

ทั้งนี้ ในมุมของนักวิเคราะห์ด้านธุรกิจและนักการตลาด มองปรากฏการณ์เหล่านี้ เหตุใดที่ “กลวิธีการฉ้อโกง” เหล่านี้ถึงยังไม่หมดไปจากเมืองไทยเสียที ? 

1. ผู้คนยังต้องการการยอมรับ การได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเป็นทางสังคม การเงิน และอำนาจ เป็นจุดที่ทำให้กระบวนการแชร์ลูกโซ่ใช้หยิบยื่นมาโน้มน้าว หรือมาหลอกล่อให้เหยื่อเข้ามาติดกับได้

2. ธรรมชาติของการชอบเสี่ยงโชค ทฤษฎีแบบแผนการดำเนินชีวิต (Lifestyle Theory) ของ Michael Hindelang และคณะ อธิบายภูมิหลังของคนที่มักยกเหยื่อว่ามีพฤติกรรมที่ชอบเสี่ยงโชค อยากลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง

3. บทลงโทษยังคุ้มกับความเสี่ยง ความเสียหายของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ส่งผลต่อผู้คนมากมาย สร้างความเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก แต่ในมุมของบทลงโทษ ท้ายที่สุดแม้จะพิจารณาโทษเพิ่มเติมต่างกรรมต่างวาระ และมีจำนวนความผิดที่ต้องรับโทษนับพันปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กำหนดให้โทษสูงสุดไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น และเมื่อจำคุกจริง กลไกการจองจำยังเกิดการลดหลั่นลงไปตามกระบวนการ 

4. ปรับตัวตามยุคสมัย กระบวนการหลอกลวงแชร์ลูกโซ่มักมีการปรับเปลี่ยนสินค้า หรือ “คอนเทนต์” เพื่อชักจูงผู้คนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การชวนอบรมสัมมนาตำแหน่งงานด้านการตลาด สู่การชวนลงทุนค่าเงินต่างประเทศ มีการลงทุนทองคำในช่วงกระแสข่าวทองคำราคาขึ้น 

การลงทุนมีความเสี่ยงยังคงเป็นคำพูดที่หยิบยกมาได้เสมอ และกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ขณะที่ผู้คนต้องระมัดระวังและรู้เท่าทันการหลอกลวงด้วยตัวเอง ท่ามกลางคำถามสำคัญว่า “รัฐ” ควรมีบทบาทอย่างไร ? ควรมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามธุรกิจแชร์ลูกโซ่ รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น? แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนควรต้องรู้เท่าทันและระมัดระวังตัวเองจากกลโกงเหล่านี้ด้วย การศึกษาวิธีสังเกตแชร์ลูกโซ่และเรียนรู้การลงทุนที่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ทำไมเหตุเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ? เพราะหลากหลายกรณีในอดีต จากกรณีแชร์ลูกโซ่ดังอย่าง แชร์แม่ชม้อย FOREX-3D จนถึง พรีมายา เหล่านี้มียอดความเสียหายมากกว่าพันล้านบาท

เช็กกลกวงแชร์ลูกโซ่ในธุรกิจขายตรง

Did You Know ? 
“ขายตรง” VS “แชร์ลูกโซ่” แตกต่างกันอย่างไร ? 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีข้อแนะนำการแยก “ธุรกิจขายตรง” กับ “ธุรกิจแอบแฝง” (แชร์ลูกโซ่) ไว้เป็นแนวทางนี้ต่อไปนี้

ลักษณะของธุรกิจขายตรง
1. รายได้หลักของสมาชิกมาจากการขายสินค้า การทำงาน การซื้อช้ำของผู้บริโภค
2. จ่ายค่าสมัครและซื้อสินค้าครั้งแรกในราคาที่เหมาะสม
3. มีการรับประกันคุณภาพสินค้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
4. บริษัทรับซื้อคืนสินค้าเมื่อสมาชิกต้องการลาออก
5. เน้นการอบรมสมาชิกให้รู้วิธีทำการตลาด (รู้คุณภาพสินค้าและกระจายสินค้าคุณภาพถึงผู้บริโภค)
6. ไม่ชักจูงให้สมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อกักตุนหรือเกินความจำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง
7. ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณของนักขายตรงที่ดี เคารพกฎหมาย

ลักษณะของธุรกิจแอบแฝง
1. รายได้หลักมาจากการชักชวนคน / ระดมเครือข่ายสมาชิก / แทนการขายสินค้า
2. จ่ายค่าสมัครและบังคับซื้อสินค้าราคาแพงหรือจำนวนมากเกินความจำเป็นในการบริโภค
3. ไม่มีการรับประกันคุณภาพสินค้า
4. เมื่อสมาชิกต้องการลาออก ไม่สมารถคืนสินค้าได้
5. แผนการจ่ายผลตอบแทนดีเลิศอย่างเหลือเชื่อ (ไม่น่าเชื่อว่าลงทุนต่ำ ไม่ต้องทำงาน แต่รวยเร็ว)
6. เน้นการหาสมาชิกใหม่ให้มาร่วมลงทุนแทนการให้ความรู้เรื่องคุณภาพและการนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค
7. เน้นการจูงใจสมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมากเกินความจำเป็นสำหรับการบริโภค
8. ไม่ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณของนักขายตรงที่ดี หลบเลี่ยงกฎหมาย
9. ดำเนินธุรกิจในลักษณะหลบเลี่ยงกฎหมาย

ึึความแตกต่างระหว่าง "ขายตรง" - "แชร์ลูกโซ่"

อ้างอิง

  • สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
  • มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) 
  • สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย
     

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ขายตรงธุรกิจขายตรงแชร์ลูกโซ่
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด