ปฏิทินวันหยุดเดือนตุลาคมเช็คลิสต์วางแผนท่องเที่ยว.. เหลืออีก 3 เดือนจะสิ้นปี 2567 ช่วงปลายปีมีเทศกาลสำคัญ และวันหยุดสำคัญอะไรบ้าง เรารวบรวมไว้มาบอกกัน ประการที่สำคัญ วันหยุดเดือนนี้ ถ้ายังไม่มีสถานที่ไปไหน เรามีที่ท่องเที่ยวแบบที่กำลัง “อิน” มาแนะนำ เผื่อไว้เป็นทริปเดินทางช่วงวันหยุดสั้น ๆ กัน
วันหยุดเดือนตุลาคม 2567
วันหยุดอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567 วันนวมินทรมหาราช หรือ วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันหยุดจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2567 วันหยุดชดเชย วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันหยุดเนื่องในวโรกาสเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ซึ่งพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559
วันนี้เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์
วันหยุดพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 วันปิยมหาราช
วันหยุดเนื่องในวโรกาสเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในทุก ๆ ปีหน่วยงานราชการจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ ที่พระบรมรูปทรงม้าอย่างพร้อมเพรียง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปฏิทินวันหยุดเดือนตุลาคมวางแผนท่องเที่ยวยาวๆกัน
เนื่องจากเดือนตุลาคมมีวันหยุดในวันที่ 13-14 และ 23 ถ้าหากวางแผนลาเพิ่มกันดี ๆ จะมีวันหยุดเพิ่มเติมมากขึ้น ใครยังมี “วันลาหยุด” เหลืออยู่ มาลองแพลนวันหยุดยาวนี้กันดู
แบบที่ 1
(ลาเพิ่ม) วันศุกร์ 11 ต.ค.
(วันหยุด) วันเสาร์ 12 ต.ค.
(วันหยุด) วันอาทิตย์ 13 ต.ค. “วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ”
(วันหยุดชดเชย) วันจันทร์ 14 ต.ค.
(ลาเพิ่ม) วันอังคาร 15 ต.ค.
แบบที่ 2
(วันหยุดพิเศษ) วันพุธ 23 ต.ค. “วันปิยมหาราช”
(ลาเพิ่ม) วันพฤหัสบดี 24 ต.ค.
(ลาเพิ่ม) วันศุกร์ 25 ต.ค.
(วันหยุด) วันเสาร์ 26 ต.ค.
(วันหยุด) วันอาทิตย์ 27 ต.ค.
แนะนำวันหยุดเดือนตุลาคม 2567 ทั้งเทศกาลและกิจกรรมที่น่าสนใจ
3 - 11 ตุลาคม 2567 : เทศกาลกินเจ 2567
คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ
ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
กิจกรรมและสถานที่รับประทานอาหารเจ : "เยาวราช" แหล่งรวมอาหารเจใหญ่ที่สุดใน กทม.
***ปีนี้เยาวราชงดจัดงานกินเจประจำปี 2567
17 ตุลาคม 2567 : วันออกพรรษา
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (วันเพ็ญเดือน 11) ของทุกปี เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติ ในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญหรือกิจกรรมทางศาสนา เช่น การตักบาตรเทโว (การตักบาตรดาวดึงส์)
มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่า พระภิกษุทั้งหลาย ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
แนะนำประเพณีช่วงวันออกพรรษา
- ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม บริเวณแม่น้ำโขง และริมฝั่งโขง ถนนสุนทรวิจิตร จ.นครพนม (9 - 17 ตุลาคม 2567) // คืนไหลเรือไฟ ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม 2567
- ประเพณีรับบัว ที่เดียวในโลก แห่งเดียวในไทย จ.สมุทรปราการ วัดบางพลีใหญ่ในฯ จ.สมุทรปราการ (7 - 18 ตุลาคม 2567) // พิธีโยนบัว วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567
- ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร บริเวณศูนย์ราชการ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.สกลนคร (12 – 17 ตุลาคม 2567) // พิธีถวายปราสาทผึ้ง ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร 16 ตุลาคม 2567
- งานบั้งไฟพญานาคโลก จ.หนองคาย ณ ลานวัฒนธรรมริมโขงวัดลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย, ลานเบิกฟ้า อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย, ลานเบิ่งเวียง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และที่ว่าการอำเภอรัตนวาปี อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย (16 - 25 ตุลาคม 2567)
- ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จ.สุราษฎร์ธานี ริมเขื่อนแม่น้ำตาปี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี (14-22 ตุลาคม 2567)
- ประเพณีเขาพระงามเทโวโรหณะ นมัสการหลวงพ่อพระงาม ตักบาตรข้าวต้มลูกโยน จ.ลพบุรี วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร (วัดเขาพระงาม) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
วันสารทไทย 2567
ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ แต่ละภาคมีชื่อเรียกแตกต่างกัน
- ภาคกลาง : วันสารทไทย
- ภาคเหนือ : งานทานสลากภัต หรือ ตานก๋วยสลาก
- ภาคอีสาน : งานทำบุญข้าวสาก
- ภาคใต้ : งานบุญเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต
เทศกาลวันสารทไทย มักมาคู่กับ “กระยาสารท” ขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของไทย ซึ่งมีความเชื่อว่า หากไม่ใส่บาตรด้วยกระยาสารท ผู้ล่วงลับจะไม่ได้รับส่วนบุญที่ทำในวันนี้
31 ตุลาคม วันฮาโลวีน (Halloween)
ฮาโลวีน หรือ “วันปล่อยผี” เชื่อว่ามีที่มาหรือต้นกำเนิดจากเทศกาลดั้งเดิมของชาวเคลต์ (Celts) ที่ตั้งรกรากในยุโรป เป็นอีกเทศกาลหนึ่งของชาวตะวันตก แพร่หลายพอสมควรในประเทศไทย ผู้คนทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองกันด้วยหลากหลายกิจกรรม เช่น การประดับตกแต่งบ้านด้วยฟักทองแกะสลักหน้าผี ปาร์ตี้แต่งกายแฟนซีสุดสยอง
แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใน กทม.
- ตรอกข้าวสาร ย่านท่องเที่ยวในเมืองไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาพัก และใช้บริการมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยปกติ ในช่วงเทศกาลฮาโลวีน ย่านข้าวสารจะมีกิจกรรมการจัดงานฮาโลวีน ร้านรวง และโรงแรมที่พักโดยรอบ จะเต็มไปด้วยสีสันของฮาโลวีน
แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ตุลาคม 2567
เดือนตุลาคม ถือเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศเหมาะต่อการท่องเที่ยว แต่ไหน ๆ ช่วงนี้ “กระแสหมูเด้ง” มาแรง วันหยุดทั้งที จึงขอแนะนำ “สวนสัตว์” ที่สามารถพาครอบครัว ลูก ๆ หลาน ๆ ไปได้ แถมยังได้สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติ เดินทางสะดวก ทริปเที่ยวสวนสัตว์ 4 ภาค มีที่ไหนบ้าง ? ตามไปดูกันเลย
เที่ยว “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว” ไม่ได้มีแค่ “หมูเด้ง”
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สถานที่ท่องเที่ยวที่ฮิตมาแรงจากกระแส “หมูเด้ง” ฮิปโปโปเตมัสแคระชื่อดัง ที่ดังไกลไปทั่วโลก ยังมีสัตว์อื่น ๆ รอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน เริ่มตั้งแต่ คาปิบารา หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ในกลุ่มคนรักสัตว์ว่า “หมามะพร้าว” โคอาลา ละมั่งพันธุ์ไทย ค่างห้าสี และสล็อต 2 นิ้ว
นอกจากนี้ยังมีโชว์ธรรมชาติอย่าง ช้างว่ายน้ำ พาเหรดเพนกวิน และพาเหรดนกกาบบัว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร: 038-318444
การเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ค่อนข้างสะดวก วันเดียวก็เที่ยวได้ เนื่องจากกระแสของ “หมูเด้ง” ทำให้ช่วงนี้มีผู้คนให้ความสนใจมาเที่ยวกันอย่างคึกคัก
เที่ยว “สวนสัตว์ขอนแก่น” ชมความน่ารัก “หมูด้วง” ฮิปโปแคระจากอีสาน
จากกระแส “หมูเด้ง” มารู้จักและเยี่ยมชมความน่ารักไม่แพ้กันของ “หมูด้วง” ฮิปโปโปเตมัสแคระ ซึ่งเป็นหลาน “หมูเด้ง” (เนื่องจากเป็นลูกของพี่ชายหมูเด้ง แม้อายุใกล้กันแต่ก็มีศักดิ์เป็นหลาน) “หมูด้วง” เป็นดาวเด่นของสวนสัตว์ขอนแก่นแห่งแดนอีสาน
นอกจากหมูด้วงแล้วยังมีการแสดงให้อาหารสิงโต รวมถึงการแสดงแมวน้ำโชว์ ยังมีกิจกรรมเดินชมสัตว์บน Sky Walk พร้อมชมวิวที่สวยงาม โทร : 086-4556341
เที่ยว “สวนสัตว์สงขลา” สวนสัตว์แรกแห่งแดนใต้
ใครที่มีแพลนล่องใต้ แนะนำให้ลองแวะมาเที่ยว “สวนสัตว์สงขลา” ดาวเด่นของสวนสัตว์แห่งนี้คือ “โนริ” เจ้าลูกแมวน้ำตัวแรกที่เกิดที่สวนสัตว์แห่งนี้ พร้อมมีการแสดงแมวน้ำโชว์ และพาเหรดเพนกวินร่วมกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์ที่เป็นการแสดงวิถีชีวิตสัตว์ป่า Survival of wildlife ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด
ปิดท้ายด้วยร้านอาหาร Mountain View cafe & restaurant รับประทานอาหารพร้อมยลโฉมความงดงามของเมืองสงขลา สอบถามรายละเอียดได้ที่สวนสัตว์สงขลา โทร : 086-4383693
เที่ยว “สวนสัตว์เชียงใหม่” ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
สวนสัตว์เชียงใหม่กลายเป็นแลนมาร์กดังแห่งหนึ่งของภาคเหนือ หลังการมาของแพนด้าจากประเทศจีน มาถึงวันนี้สวนสัตว์เชียงใหม่ยังคงเป็นสวนสัตว์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด รวมถึงการแสดงที่น่าสนใจ และยังมีเจ้า “แก่นคูน” ฮิปโปโปเตมัสแคระ ญาติห่าง ๆ ที่มีศักดิ์เป็นน้าของ “หมูเด้ง”
ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งโซนหิมะตกในสวนสัตว์ หรือที่เรียกว่า สโนว์ บัดดี้ วินเทอร์แลนด์เปิดให้ผู้คนได้สัมผัสเมืองหิมะจำลอง รวมทั้งโซนอควาเรียม เปิดโลกใต้ทะเลไปกับสัตว์น้ำ รวมถึงปลาน้ำจืดจากลุ่มแม่น้ำโขง สอบถามรายละเอียดได้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โทร : 053-221179
ปฏิทินวันหยุดเดือนตุลาคม 2567 และข้อควรระวังในการเดินทาง
สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนเดินทางในช่วงวันหยุดเดือนตุลาคม 2567 นี้ นอกจากการเช็คปฏิทินวันหยุดแล้ว ยังควรติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีปัญหา ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 พบว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง นับถึงวันที่ 8 กันยายน 2567 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 50 จังหวัด โดย 40 จังหวัดได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีอีก 10 จังหวัดที่ยังคงเผชิญกับปัญหาอุทกภัย
ในช่วง 30 วันก่อนหน้า (9 สิงหาคม - 7 กันยายน 2567) มีพื้นที่ประสบอุทกภัยมากถึง 1.4 ล้านไร่ ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนกว่า 1.8 แสนหลังคาเรือน โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย นครพนม พะเยา และพิจิตร นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะนาข้าวที่เสียหายกว่า 3.1 แสนไร่
สำหรับแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยในปี 2567 นี้ คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้มีความเสี่ยงสูง ส่วนภาคใต้จะมีความเสี่ยงสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทย
นักท่องเที่ยวควรตระหนักว่า คาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยอย่างน้อย 1-2 ลูก และปริมาณน้ำฝนที่มาพร้อมกับพายุอาจสูงกว่าค่าปกติ เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์ลานีญาที่คาดว่าจะเริ่มในเดือนกันยายน ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำฝนในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีสูงกว่าค่าเฉลี่ย
แม้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่และกลางจะยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก แต่หากฝนตกนอกพื้นที่รับน้ำของเขื่อน ความเสียหายอาจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคกลางที่มีความเสี่ยงสูงหากฝนตกใต้เขื่อนหรือนอกเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงอุทกภัย เช่น ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย หรือปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า
ดังนั้น ผู้ที่วางแผนเดินทางในช่วงวันหยุดเดือนตุลาคม 2567 ควรติดตามข่าวสารและประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า และเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือจุดหมายปลายทาง เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างราบรื่นท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้
วันหยุดในเดือนตุลาคม 2567 ตามแผนท่องเที่ยวทั้งสองช่วงเวลา
- แผนท่องเที่ยวที่ 1 ช่วงเวลา 11-15 ตุลาคม รวมหยุดทั้งหมด 5 วัน
- แผนท่องเที่ยวที่ 2 ช่วงเวลา 23 - 27 ตุลาคม รวมหยุดทั้งหมด 5 วัน
อุตส่าห์ลาเพิ่มเพื่อวันหยุดยาวทั้งที่ ถ้าไม่วางแผนการท่องเที่ยวให้ดี รับรองว่าจะเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวกลายเป็นผู้ประสบภัยแน่ๆ เพราะตั้งแต่ต้นปี 2567 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2567 พบว่า
- มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 50 จังหวัด
- 40 จังหวัดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
- 10 จังหวัดยังคงมีปัญหาน้ำท่วม
จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด ได้แก่
- เชียงราย
- สุโขทัย
- นครพนม
- พะเยา
- พิจิตร
สถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2567)
กรมทางหลวงรายงานว่ามีน้ำท่วมขังบนถนนใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา สุโขทัย สมุทรสาคร ขอนแก่น บุรีรัมย์ และนครศรีธรรมราช โดยมี 10 จุดที่ไม่สามารถสัญจรได้
1. เชียงราย ทางหลวง 1098 (ท่าข้าวเปลือก-แก่นใต้) อ.แม่จัน - ตอม่อสะพานทรุด
2. เชียงใหม่ 6 จุดบนทางหลวงหมายเลข 1013, 108, 11, และ 1411 - น้ำท่วมสูงตั้งแต่ 30-110 ซม.
3. ลำปาง ทางหลวง 1102 (พระบาท-บ้านเหล่า) อ.แม่พริก - น้ำท่วมสูง 40 ซม.
4. สุโขทัย ทางหลวง 1195 (เตว็ดใน-วังไม้ขอน) อ.ศรีสำโรง - ถนนขาด
5. นครศรีธรรมราช ทางหลวง 4015 (ฉวาง-ห้วยปริก) อ.ฉวาง - คอสะพานทรุด
คำแนะนำสำหรับนักเดินทางตามแผนท่องเที่ยววันหยุดในเดือนตุลาคม 2567
1. ติดตามข่าวสารและประกาศจากกรมทางหลวงอย่างใกล้ชิด
2. เตรียมแผนสำรองในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือยกเลิกการเดินทาง
3. ใช้เส้นทางเลี่ยงตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
4. เผื่อเวลาเดินทางให้มากขึ้น เนื่องจากอาจต้องใช้เส้นทางอื่นที่ไกลกว่าปกติ
5. ตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้พร้อมก่อนออกเดินทาง
6.ตรวจสอบปฏิทินท่องเที่ยวเดือนตุลาคมและเลือกจุดหมายปลายทางที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมต่ำ
7.ตรวจสอบเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีประวัติน้ำท่วมซ้ำซาก
8. เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง และยาประจำตัว
การวางแผนอย่างรอบคอบจะช่วยให้การเดินทางในช่วงวันหยุดเดือนตุลาคมของคุณปลอดภัยและราบรื่นมากขึ้น แม้จะมีสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่
วันหยุดเดือนตุลาคมนี้ วางแผนการท่องเที่ยวกันให้ดี เดินทางด้วยความปลอดภัย ขอให้เป็นวันหยุดคุณภาพของทุก ๆ คน