พร้อมเพย์ (PromptPay) ข้อควรระวังที่ควรรู้


How to

24 ก.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

พร้อมเพย์ (PromptPay) ข้อควรระวังที่ควรรู้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1637

พร้อมเพย์ (PromptPay) ข้อควรระวังที่ควรรู้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

หลังจากถูกใช้เป็นช่องทางหลักหนึ่งของภาครัฐเพื่อโอนเงินต่าง ๆ ให้กับประชาชน ล่าสุด พร้อมเพย์ (PromptPay) ก็เป็นช่องทางการโอนเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือ “เงินหมื่นดิจิทัล” ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567

ด้วยความสะดวกสบายของระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ผูกตัวตนของเจ้าของบัญชี ผ่านเลขบัตรประชาชน และเบอร์มือถือช่วยให้ธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทว่าความสะดวกสบายเหล่านี้หากไม่รู้เท่าทันก็อาจนำอันตรายมาถึงทุกคนได้

Thai PBS รวบรวมข้อควรระวังที่คุณควรรู้ เพื่อใช้งานระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) 1 เบอร์โทร 1 บัตรประชาชน ผูกได้ 1 บัญชีเท่านั้น

การใช้หมายเลขเดียวกันลงทะเบียนซ้ำกับหลายธนาคาร จะทำให้การลงทะเบียนไม่สำเร็จ ทั้งนี้ หากต้องการเปลี่ยนบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมเพย์ ต้องไปยกเลิกการลงทะเบียนกับธนาคารที่ผูกบัญชีไว้ก่อน โดยสามารถยกเลิกการผูกบัญชีผ่านแอปพลิเคชันธนาคารนั้น ๆ ได้ แล้วจึงลงทะเบียนบัญชีใหม่

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน การลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) เมื่อเปิดบัญชีแล้วสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันชองธนาคาร โดยมีรายละเอียดขั้นตอนส่วนใหญ่คือเข้าไปที่เมนู “สมัครพร้อมเพย์” หรือ “บริการพร้อมเพย์” แล้วเลือกยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนจะเลือกบัตรประชาชน และเบอร์มือถือที่ใช้ผูกบัญชี อาจมีข้อแตกต่างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับธนาคาร

ส่วนวิธีการยกเลิกการผูกบัญชีนั้น เข้าไปที่เมนู “สมัครพร้อมเพย์” หรือ “บริการพร้อมเพย์” เลือกที่บัตรประชาชนแล้วยกเลิก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีผลทันที สามารถขึ้นทะเบียนกับธนาคารแห่งใหม่ได้เลย รายละเอียดและขั้นตอนอาจมีข้อแตกต่างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับธนาคาร

QR พร้อมเพย์ (PromptPay) ไม่มีสแกนแล้วได้เงิน มีแต่โอนเงินเท่านั้น

ระบบ QR พร้อมเพย์ (PromptPay) คือการสร้าง QR Code ขึ้นมาเพื่อใช้ในการรับเงิน เป็นหนึ่งในระบบการจ่ายเงินเพื่อซื้อขายสินค้าและบริการที่เรามักพบเจอได้ตามร้านค้าต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ทว่าความสะดวกของระบบ QR พร้อมเพย์ (PromptPay) ที่เพียงสแกนแล้วจ่ายเงินก็ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เพราะหลักการพื้นฐานคือ ผู้สแกนจะเป็นผู้จ่ายเงิน ผู้สร้าง QR code จะเป็นผู้รับเงินโอนเท่านั้น แต่มิจฉาชีพจะใช้การหลอกโดยบอกว่า สามารถสแกน QR code เพื่อรับเงินได้ด้วย

โดยมีปรากฏข่าวมิจฉาชีพ (Scammer) หลอกโอนเงินด้วยวิธีดังกล่าว ดังนั้น ก่อนดำเนินการเกี่ยวกับการเงินใด ๆ ควรตรวจสอบในขั้นตอนของการทำธุรกิจให้ดี เช่น การโอนเงินควรตรวจดูรายละเอียด ชื่อบัญชีที่โอนเงินเพื่อความถูกต้องทุกครั้ง

เลข “พร้อมเพย์ (PromptPay)” ใช้ตรวจสอบว่าเป็นมิจฉาชีพได้

การซื้อขายของออนไลน์หลายครั้งมีการใช้บัญชีพร้อมเพย์ หลายคนอาจมองว่าบัญชีที่มีการผูกกับบัตรประชาชน คงมีความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วย ทว่าแท้จริงแล้ว หลายครั้งมีการนำบัตรประชาชนมาผูกเพื่อเปิดบัญชีม้า ก่อนทำธุรกรรมทางการเงินที่รู้สึกว่ามีความผิดปกติ คุณสามารถตรวจสอบด้วยการนำเลขพร้อมเพย์ (PromptPay)  ทั้งเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือมาเซิร์ชในเว็บ https://www.checkgon.com/

ก่อนใช้พร้อมเพย์ (PromptPay) ทำธุรกรรมทางการเงินทุกครั้งควรทำอย่างระมัดระวัง

กลโกงมิจฉาชีพที่ใช้ “พร้อมเพย์ (PromptPay)” มีอะไรบ้าง ?

มิจฉาชีพมีกลโกงมากมายเพื่อหลอกลวงให้เป้าหมายโอนเงินเข้าไป โดยเฉพาะในยุคที่การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ที่กรอกตัวเลขหรือสแกนเพียงครั้งเดียว กลโกงมาในหลากหลายรูปโดยมีกรณีตัวอย่าง ที่ทุกคนควรรู้ไว้ดังนี้

- หลอกให้กู้เงินนายหน้าเถื่อน เงินอาจไม่ได้รับ บางกรณีได้รับแต่อาจเป็นหนี้สินดอกเบี้ยโหด หรือถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ได้

- หลอกด้วยการโอนเงินเข้าไปผิด มิจฉาชีพใช้ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ผูกกับเลขมือถือแกล้งโอนผิด และโทรเข้ามาให้โอนเงินคืน อาจเป็นการหลอกโอนให้ทำธุรกรรมการเงินที่ผิดกฎหมายได้ ห้ามโอนเงินกลับด้วยตัวเอง ให้สอบถามรายละเอียดการโอนผิด และติดต่อกับธนาคารเพื่อดำเนินการต่อไปเท่านั้น 
ทั้งนี้ ยังมีกรณีหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ติดต่อให้โอนเงินคืน ให้ทำการตรวจสอบหมายเลขที่โทรเข้ามา ต้องเป็นของหมายเลขของธนาคารนั้น ๆ มักไม่ใช่เบอร์ส่วนตัวในการติดต่อ หรือติดต่อกับธนาคารด้วยตัวเองเพื่อให้ธนาคารทำการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น 

- ขายของออนไลน์ราคาถูกเกินจริง หากมีการใช้โอนเงินบางครั้งจะมีเป็นระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่แสดงรายละเอียดของบัญชีที่โอนไป หรือมีรายละเอียดไม่ตรง อาจเป็นการสวมรอยโดยใช้ฟังก์ชั่น QR พร้อมเพย์ (PromptPay) ได้ ดังนั้นก่อนโอนต้องระมัดระวังอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วน

ผู้กระทำความผิดเหล่านี้จะมีความผิดตามกฎหมายเป็น ความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 ประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อ “โดนหลอกให้โอนเงิน โอนเงินผิด” ต้องทำอย่างไร ?

การโดนหลอกโอนเงินรวมถึงการโอนเงินผิดอาจเกิดขึ้นได้ สิ่งที่ควรทำเมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมีขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนี้

- เก็บรวบรวมหลักฐานไว้ให้ดี หลักฐานไม่ว่าจะเป็นแชทต่าง ๆ หากมีการพูดคุยติดต่อกัน สลิปการโอนเงิน ทั้งแบบกระดาษและหน้าจอการโนเงิน รายละเอียดหมายเลขบัญชีทั้งของเรา และบัญชีที่เราโอนผิด

- แจ้งเรื่องกับธนาคาร โดยนำบัตรประชาชนไปติดต่อดำเนินการกับธนาคาร โดยทางธนาคารจะทำการติดต่อเจ้าของบัญชีที่โอนเงินไปผิด หรือกรณีอีกฝ่ายเป็นมิจฉาชีพอาจมีการอายัติบัญชี ทั้งนี้ กรณีโอนผิดแล้วอีกฝ่ายไม่คืนเงินผ่านการติดต่อของเจ้าหน้าที่ธนาคาร สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เมื่อดำเนินการทุกอย่างแล้ว เงินจะโอนกลับบัญชีโดยอัตโนมัติ

การแจ้งความดำเนินคดีสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ศูนย์ PCT ติดต่อ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.go.th/ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.)
     

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กระเป๋าเงินดิจิทัลดิจิทัลวอลเล็ตพร้อมเพย์
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด