รู้จัก Bird Strike เหตุใดอันตรายต่อเครื่องบิน ป้องกันอย่างไร


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก Bird Strike เหตุใดอันตรายต่อเครื่องบิน ป้องกันอย่างไร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1619

รู้จัก Bird Strike เหตุใดอันตรายต่อเครื่องบิน ป้องกันอย่างไร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หนึ่งในอุบัติเหตุทางการเดินอากาศไม่ว่าจะทั้งพาณิชย์และส่วนบุคคลนั้นเกิดขึ้นจากการบินชนนก หรือที่เรียกว่า “Bird Strike” การบินชนเข้ากับนกนั้นอาจสร้างความเสียหายตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงการสูญเสียเครื่องบินได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกรณีการสูญเสียชีวิตจากที่เครื่องบินบินชนเข้ากับนกแต่อย่างใด

กระจกห้องนักบินเครื่องบิน F-16 หลังชนเข้ากับนก

การบินชนนกนั้นมักเกิดขึ้นระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นและลงจอดซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในระดับความสูงที่ต่ำ และเป็นระดับเดียวกับที่นกจะบิน ทำให้มีความเสี่ยงในการบินชนฝูงนกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีกรณีการบินชนเข้ากับนกที่ระดับสูงเช่นกัน

นอกจากนี้เอง การบินชนนกส่วนใหญ่นั้นมักเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงท่าอากาศยาน ตามรายงานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

เครื่องยนต์ Turbofan JT8D หลังชนเข้ากับนก แสดงให้เห็นใบพัดของเครื่องยนต์ที่แตกหักแทบทุกอัน

การชนเข้ากับฝูงนกส่วนใหญ่นั้นมักเปิดการชนเข้าจากข้างหน้า ซึ่งจุดเสี่ยงของเครื่องบินที่อาจได้รับความเสียหายจากการชนนกคือ กระจกห้องนักบิน บริเวณจมูกของเครื่องบิน ปีกส่วนหน้า (Leading Edge) และเครื่องยนต์ ความรุนแรงของการชนนั้นมักขึ้นอยู่กับขนาดของนกที่ชนเข้า ความเร็วในการบินของเครื่องบิน และทิศทางการบินของนก

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปริมาณของนกที่ชนเข้ากับเครื่องบินด้วย โดยที่การบินชนเข้ากับฝูงนกนั้นมักสร้างความเสียหายมากกว่าการบินชนนกเพียงแค่ตัวเดียว

กระจกห้องนักบินเฮลิคอปเตอร์ UH-60 หลังชนเข้ากับนกขนาดใหญ่

ความอันตรายที่สุดของการบินชนนกคือเมื่อนกนั้นบินชนเข้ากับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์ในปัจจุบันนั้นมักเป็นแบบ Turbofan ซึ่งมีใบพัดขนาดใหญ่ที่ใช้ในการดูดอากาศเข้าเครื่องยนต์ หากนกบินชนเข้ากับใบพัดของเครื่องยนต์ อาจทำให้ใบพัดแตกหักได้ และเศษชิ้นส่วนของใบพัดที่แตกหักนี้เอง ก็จะชนเข้ากับใบพัดซี่อื่น ๆ จนทำให้เครื่องยนต์เสียหายหนักได้ เนื่องจากเครื่องยนต์ Turbofan ประกอบไปด้วยใบพัดหลายชุด

ยกตัวอย่างในกรณีของ US Airways เที่ยวบินที่ 1549 ซึ่งชนเข้ากับฝูงนกจัง ๆ เป็นเหตุให้เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องเสียหายและไม่สามารถใช้การได้ จนนักบินจำเป็นต้องลงจอดฉุกเฉินในแม่น้ำ เนื่องจากไม่มีกำลังเครื่องยนต์ในการเลี้ยวกลับหรือบินไปท่าอากาศยานที่ใกล้ที่สุด การสอบสวนย้อนหลังถึงความเสียหายของเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ทั้งสองนั้นเสียหายได้สมบูรณ์จากการกระแทกเข้ากับนก เป็นเหตุให้ใบพัดของเครื่องยนต์เสียหายอย่างหนัก

รถควบคุมนกภายในเขตท่าอากาศยานซึ่งติดตั้งอุปกรณ์จำนวนมากสำหรับการไล่นกออกจากเขตท่าอากาศยาน

ด้วยอันตรายจากการชนนกนี่เอง มีหลายมาตรการซึ่งถูกออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ เนื่องจากไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการเกิด Bird Strike

เริ่มต้นด้วยโครงสร้างการออกแบบของเครื่องบินซึ่งมีความต้องการขั้นต่ำว่าเครื่องบินลำหนึ่ง ๆ ควรจะต้องสามารถรับแรงกระแทกได้อย่างน้อยระดับหนึ่ง ณ จุด ๆ ใดก็ตามบนตัวถังของเครื่องบินโดยไม่เกิดความเสียหาย หน้าต่างห้องนักบินก็จะต้องสามารถรับแรงกระแทกจากวัตถุแข็งได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลการบินพลเรือนของประเทศนั้น ๆ

นอกจากด้านการออกแบบแล้ว ก็มีวิธีในการป้องกันการเกิด Bird Strike ด้วยการพยายามเลี่ยงไม่ให้นกมาบินในเขตท่าอากาศยาน เช่น การใช้สัตว์นักล่าในการป้องกันไม่ให้นกที่มักเป็นเหยื่อมาอยู่ในบริเวณท่าอากาศยาน หรือการใช้แสงต่าง ๆ เช่น แสงไฟท่าอากาศยานหรือเลเซอร์ในการรบกวนฝูงนก รวมถึงยังมีการใช้เสียงในการป้องกันนกไม่ให้บินเข้ามาใกล้เขตท่าอากาศยานอีกด้วย ด้วยการใช้ปืนเสียงที่สามารถยิงเสียงที่ระดับความดังหลายเดซิเบลเพื่อรบกวนฝูงนกได้

สารเคมีอย่าง Methyl Anthranilate และ Anthraquinone ได้รับอนุญาตโดยองค์การการบินพลเรือนสหรัฐฯ (FAA) ให้ใช้เป็นสารเคมีเพื่อขับไล่นกได้ เนื่องจากมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ต่อนก

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Bird Strikeบินชนนกเครื่องบินเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด