จับตา "พายุ" ที่ต้องรับมือ วิธีการเตรียมตัวยามประสบอุทกภัย


Insight

2 ก.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

จับตา "พายุ" ที่ต้องรับมือ วิธีการเตรียมตัวยามประสบอุทกภัย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1551

จับตา "พายุ" ที่ต้องรับมือ วิธีการเตรียมตัวยามประสบอุทกภัย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

น้ำท่วมกลายเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ หลายคนกังวลไปถึงน้ำท่วมปี 54 ขณะกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศถึง โอกาสที่ไทยจะเจอพายุ 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายนนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน 

Thai PBS ชวนทุกคนมาจับตา “พายุ” พร้อมข้อมูลเพื่อคาดการณ์สถานการณ์ รวมถึงวิธีรับมือหากต้องเผชิญกับเหตุน้ำท่วมทั้งจากอุทกภัย และวาตภัย หรือภัยจากพายุ

เตรียมจับตา “พายุ” ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ (ส.ค.-ก.ย.67)

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 และคาดว่าจะสิ้นสุดหน้าฝนในกลางเดือนตุลาคม 2567 นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ในช่วงหน้าฝนนี้ อาจเกิด “พายุ” เข้าไทย 1 – 2 ลูก ตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยจะเข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย
ลักษณะของพายุที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และช่วงเวลานี้จะเรียกกันว่า “พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ” เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ เกิดขึ้นบริเวณใกล้ทะเลหรือมหาสมุทรเขตร้อน ไม่สามารถมองเห็นลักษณะการเป็นพายุหมุนได้ชัดเจนเนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก ภาพที่เห็นจึงเป็นภาพจากด้านบนในมุมไกล

พายุหมุนเขตร้อนสามารถแบ่งประเภทได้ตามความรุนแรงได้ ดังนี้

พายุดีเปรสชัน (Depression) ความเร็วลมไม่เกิน 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลักษณะของพายุมักมีการหมุนของลมที่ไม่ชัดเจน ถือว่ายังคงเป็นพายุที่มีกำลังลมอ่อนที่สุด ในทางอุตุนิยมวิทยายังไม่นับว่าเป็นพายุ (Storm) เนื่องจากจุดศูนย์ยังไม่ชัดเจนนัก แต่ยังคงต้องติดตามว่าจะมีกำลังแรงขึ้นหรือไม่ ดีเปรสชันทำให้เกิดฝนตกปานกลางบริเวณใกล้จุดศูนย์กลาง

พายุโซนร้อน (Tropical storm) มีความเร็วลมระหว่าง 34 – 64 นอต หรือ 63 – 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มีการหมุนของลมที่ชัดเจนกว่าดีเปรสชัน ก่อให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ลักษณะของลมมีความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะในทะเลที่จะมีลมแรงมาก สามารถจมเรือขนาดใหญ่ได้ อาจก่อให้เกิดเหตุน้ำท่วมได้

พายุใต้ฝุ่น (Typhoon) ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงที่สุด มีความเร็วลดสูงสุดตั้งแต่ 64 นอต หรือ 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป อาจรุนแรงมากถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการหมุนวนของลมที่รุนแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ระดับความรุนแรงอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ไร้สวน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทั้งสายไฟฟ้า ถนนหนทาง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพายุ

สถานการณ์น้ำเป็นอย่างไร ? น้ำท่วมแบบปี 54 หรือไม่ ? 

จากฝนที่ตกหนักในช่วงเวลานี้ เกิดคำถามที่ผู้คนหวั่นใจคือ จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 54 หรือไม่ ? เทียบสถานการณ์จนถึงตอนนี้ยังคงมีความแตกต่างกัน โดยผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า น้ำท่วม 2567 ไม่น่ารุนแรงเหมือนน้ำท่วม 2554 เนื่องจากมีปัจจัยที่แตกต่างกันดังนี้ 

ปี 2554 มีพายุ 5 ลูก ที่ส่งอิทธิพลถึงไทย ได้แก่ พายุโซนร้อน นกเต็น (NOCK-TEN) เคลื่อนเข้าสู่ไทยที่จังหวัดน่าน พายุโซนร้อน ไหหม่า (HAIMA) กับ ไห่ถาง (HAITANG) ที่สลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศเข้าสู่ประเทศไทย พายุไต้ฝุ่น เนสาด (NESAT) และ นาลแก (NALGAE) ที่สลายตัวที่เวียดนาม แต่ยังส่งอิทธิพลถึงไทยทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าพายุจะเข้ามาเพียง 1 – 2 ลูกเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้มีเพียงพายุ “พระพิรูณ” ที่เคลื่อนผ่านไปทางเวียดนาม ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง
ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีพายุไต้ฝุ่น “ชานชาน (Shanshan)” มีเส้นทางเคลื่อนผ่านประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีความรุนแรง แต่กรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของประเทศไทย และล่าสุดกับพายุโซนร้อน “ยางิ (YAGI)” ทีี่ก่อตัวขึ้นแถวฟิลิปปิน ก่อนเคลื่อนไปยังตอนของเกาะไต้หวัน ยังคงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย แต่ยังส่งผลให้เกิดฝนตกมากขึ้น ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

น้ำท่วมปี 2554 มีปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) เป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้ฝนตกยาวนานมากกว่าปกติ ขณะที่ปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาเผยถึงไทยเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านหรือที่เรียกว่า ปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) คือสภาพอากาศเปลี่ยนผ่านจาก เอลนีโญ (El Niño) ไปสู่ ลานีญา 
โดยต่อเนื่องจากปี 2566 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ส่งผลให้เกิดภัยแล้งขึ้น จนเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2567 สภาพอากาศเข้าสู่ภาวะปกติ (Neutral) และช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ถึงไตรมาสแรกของปี 2568 สภาพอากาศของไทยจะเข้าสู่ช่วงลานีญาที่ฝนเริ่มตกหนักอย่างต่อเนื่อง
สรุปได้ว่าเหตุน้ำท่วมปี 2554 เกิดลานีญายาวนานทำให้ฝนตกต่อเนื่องสะสม ขณะที่ต้นปี 2567 เผชิญกับเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง ก่อนจะค่อย ๆ เข้าสู่ลานีญา ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่า

ปริมาณน้ำน้อยกว่าน้ำท่วมปี 2554 จากข้อมูลของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ระบุว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สูงกว่าค่าปกติถึง 24 % (มากสุดในรอบ 61 ปี) ขณะที่ปริมาณน้ำฝนของปี 2567 นี้ โดยรวมแล้วยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนพื้นที่รองรับน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ (ในวันที่ 24 ส.ค.) พบว่าปี 2554 รับน้ำได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปี 2567 รับน้ำได้ 12,071 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม เหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมมีหลากหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการน้ำในส่วนอื่น ๆ ปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน รวมถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า ยังควรต้องระมัดระวัง เตรียมเมืองให้พร้อม ขณะที่มาตรการเตือนภัยจากภาครัฐ จำเป็นต้องมีความรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่

สถานการณ์น้ำท่วมอาจเกิดขึ้นได้

วิธีรับมือน้ำท่วมจากพายุ หากเกิดอุทกภัยและวาตภัย

แนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ถือเป็นชุดความรู้ที่ทุกคนควรรู้ไว้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย มีอะไรบ้าง ? มาดูกัน

1. ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ โดยเฝ้าติดตามข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติ ตรวจสอบข่าวพยากรณ์อากาศรวมถึงเหตุน้ำท่วมเพื่อประเมินสถานการณ์ และพร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัย รวมถึงคำแนะนำจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการเตือนภัยให้ออกจากพื้นที่ ควรรีบออกจากพื้นที่ตามเส้นทางที่ปลอดภัย โดยให้ความช่วยเหลือเด็กและคนชราก่อน

2. หมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ช่วยให้สามารถคาดการณ์ความผิดปกติด้วยตัวเองได้
กรณี อุทกภัยหรือเหตุน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก สามารถสังเกตได้จากปริมาณฝนที่ตกหนัก และระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูง
กรณี วาตภัยหรือพายุฤดูร้อน สังเกตได้จากอากาศร้อนอบอ้าว และเมฆที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
กรณี ดินถล่ม สังเกตได้จากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องนานกว่า 6 ชั่วโมง บนที่ลาดเชิงเขา ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีสีขุ่นข้นหรือสีเดียวกับดินภูเขา มีเสียงดังผิดปกติ รวมถึงสัตว์ป่าแตกตื่น หากพบความเสี่ยงควรเตรียมการอพยพให้พร้อม และหนีตามเส้นทางให้พ้นจากแนวดินถล่มในทันที โดยพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม มักอยู่บริเวณที่ลาดเขิงเขา มีร่องรอยดินไหล ดินเลื่อน 

3. จดชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์สมาชิกในครอบครัวติดตัวไว้ กรณีเด็กและผู้สูงอายุให้เขียนชื่อ - นามสกุลผู้ดูแล ญาติ ติดกระเป๋า กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พลัดหลงขณะอพยพ ได้รับบาดเจ็บหรืออาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว สามารถติดต่อกันได้

4. จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับใส่ในถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ขณะที่ของใช้จำเป็นในระยะแรก ได้แก่ ไฟฉายพร้อมถ่านแบบกันน้ำ วิทยุพร้อมถ่านสำรอง ชุดปฐมพยาบาล นกหวีด เทียนไข เชือก ถุงพลาสติก กระดาษชำระ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีปัน เสื้อผ้าสำรอง 

5. เก็บเอกสารสำคัญไว้ในถุงพลาสติกกันน้ำ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร บัตรประกันสังคม กรมธรรม์ประกันชีวิต โดยเอกสารสำคัญเหล่านี้ควรใส่ถุงพลาสติกกันน้ำและจัดเก็บไว้กับถุงยังชีพที่สามารถพกพาไปด้วยได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

6. ขนย้ายทรัพย์สินของมีค่าขึ้นที่สูง โดยเฉพาะสิ่งของในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงปลั๊กไฟให้สูงพ้นจากระดับน้ำท่วมถึง พร้อมตัดกระแสไฟภายในบ้าน ขณะที่ประชาชนในกลุ่มเกษตรกรอาจเร่งเก็บผลผลิตหรือเตรียมผูกยึดสิ่งของ เช่น กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำให้แน่นหนา เพื่อป้องกันความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร

7. เดินทางในพื้นที่ประสบภัยอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัญจรในเส้นทางที่มีน้ำไหลเชี่ยวกราก หากต้องเดินทางผ่านพื้นที่น้ำท่วมควรใช้ไม้สำรวจเส้นทาง หลีกเลี่ยงการลุยน้ำตอนกลางคืน หากจำเป็นให้ใช้ไฟฉายเพื่อป้องกันการพลัดตกท่อระบายน้ำ

เบอร์ฉุกเฉิน สายด่วน ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม 2567

👉 1111 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล
👉 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
👉 1567 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย
👉 1586 กรมทางหลวง
👉 1146 ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สำหรับสอบถามเส้นทางน้ำท่วม 
👉 1460 กรมชลประทาน สอบถามข้อมูลน้ำในเขื่อน 
👉 1193 ตำรวจทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม 
👉 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 
👉 1677 เครือข่ายอาสาสมัครวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 

📱 ประชาชนสามารถร่วมแจ้งสถานการณ์น้ำท่วม-ขอความช่วยเหลือได้ที่รายการ #สถานีประชาชน - #ร้องทุกข์ลงป้ายนี้ ไทยพีบีเอส
🔹 LINE @RongTookThaiPBS  
🔹 โทร. 02-790-2630-2  , 02-790-2111  

#ThaiPBS ขอเป็นสื่อกลางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป และสามารถเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม 2567 กับ Thai PBS ได้ที่ www.thaipbs.or.th/Flood67

รวมเบอร์สายด่วน น้ำท่วม 2567

ภัยพิบัติที่มักมาในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนของประเทศไทย ถือเป็นช่วงสภาพอากาศที่ควรระมัดระวังและเตรียมตัวอย่างดีเพื่อรับกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้

อ้างอิง
เอกสาร การป้องกันความเสี่ยงจากสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
กรมอุตุนิยมวิทยา
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

พายุน้ำท่วมน้ำท่วมใหญ่น้ำท่วม กทม.
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ