พบวัตถุใหม่ 230 ดวง สนับสนุนทฤษฎี “แถบไคเปอร์” ใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้


Logo Thai PBS
แชร์

พบวัตถุใหม่ 230 ดวง สนับสนุนทฤษฎี “แถบไคเปอร์” ใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1597

พบวัตถุใหม่ 230 ดวง สนับสนุนทฤษฎี “แถบไคเปอร์” ใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลังจากที่ยานนิวฮอไรซัน (New Horizon) ได้พบว่าอนุภาคใน “แถบไคเปอร์” นั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้ยานจะเดินทางจนใกล้ถึงขอบสุดของแถบไคเปอร์แล้วก็ตาม ทำให้เกิดสมมติฐานว่าแถบไคเปอร์อาจจะกินพื้นที่กว้างใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้ ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวซูบารุ (Subaru) ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาสำรวจวัตถุในแถบไคเปอร์ใหม่และพบวัตถุที่อยู่ไกลกว่าแถบไคเปอร์มากถึง 230 ดวง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา ทีมยานอวกาศนิวฮอไรซันได้ออกมาประกาศถึงความเป็นไปได้ที่แถบไคเปอร์อาจจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เราคาดคิดไว้ จากการที่พบว่าอนุภาคที่เข้ามาพุ่งชนตัวอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองในอวกาศนั้นกลับยังคงมีปริมาณสูงแม้ยานจะเดินทางเลยขอบของแถบไคเปอร์แล้วก็ตาม

ภาพกราฟิกแนวคิดของยาน New Horizons ขณะทำการสำรวจเทหวัตถุในแถบไคเปอร์ Arrokoth ภาพจาก NASA

จากนั้นไม่นาน ทีมวิจัยของนิวฮอไรซันได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวซูบารุ (Subaru Telescope) หอดูดาวแห่งชาติของญี่ปุ่น บนยอดเขาเมานาเคอา (Mauna Kea) เกาะฮาวาย เพื่อสังเกตและจับภาพวัตถุที่อยู่ห่างจากพื้นที่ในแถบไคเปอร์ที่เคยระบุเอาไว้ ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้ทำให้พบวัตถุที่อยู่นอกเหนือจากอาณาบริเวณเขตของแถบไคเปอร์เดิมถึง 230 ดวง

จากเดิมเราคาดการณ์ว่าขอบนอกของแถบไคเปอร์นั้นจะอยู่ที่ 50 หน่วยดาราศาสตร์เท่านั้น (1 หน่วยดาราศาสตร์มีระยะทางประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งทั้งสองการค้นพบ ได้แก่ การค้นพบว่าอนุภาคฝุ่นไม่ได้ลดลงเลยแม้จะเดินทางเลย 55 หน่วยดาราศาสตร์ และการพบวัตถุที่อยู่ไกลกว่า 50 หน่วยดาราศาสตร์ เป็นเครื่องยืนยันว่าแถบไคเปอร์ใหญ่กว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก และขอบปลายสุดของแถบไคเปอร์อาจจะแผ่ขยายไปได้มากถึง 90 หน่วยดาราศาสตร์เลยทีเดียว

การค้นพบวัตถุที่มากกว่า 230 ดวงในครั้งนี้ต้องขอบคุณเทคโนโลยีภายในกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ ในปี 2020 ทางทีมวิจัยได้เริ่มต้นใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ Hyper Suprime-Cam (HSC) ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพที่มีน้ำหนักมากกว่า 3 ตันและความสูงของแค่อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มากถึง 3 เมตร ที่ถูกติดตั้งเพื่อรับแสงจากกระจกปฐมภูมิขนาด 8.2 เมตรที่ทำหน้าที่ในการรับแสงที่ริบหรี่จากวัตถุอวกาศที่อยู่ห่างไกลกว่าดาวพลูโตถึง 2 เท่า

ภาพวาดแนวคิดแถบไคเปอร์และวัตถุนอกขอบเขตของดาวเนปจูน ภาพโดย ESA

ทีมงานของนิวฮอไรซันได้ใช้การสังเกตและมองหาวัตถุด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ร่วมกับการใช้ Machine Learning ตามหาวัตถุและคำนวณระยะห่างของวัตถุจากภาพถ่าย ทำให้สามารถพบวัตถุได้มากถึง 230 ดวง วัตถุส่วนใหญ่ที่ตรวจพบได้นั้นอยู่ที่ระยะห่างมากกว่า 70 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งเราไม่เคยรู้จักหรือพบวัตถุเหล่านี้มาก่อนเลย

แม้ว่าการค้นพบนี้จะยังไม่ได้รับการยืนยันโดย IAU หรือสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลว่าวัตถุทั้ง 230 ดวงนั้นเป็นวัตถุจริง แต่ข้อมูลที่ออกมานั้นก็เป็นเครื่องมือสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าแถบไคเปอร์นั้นมีขนาดใหญ่มากกว่าที่คาดคิดกันไว้

ภาพแนวคิดสภาพการเกิดเทหวัตถุภายในแถบไคเปอร์ ภาพจาก NASA

ตอนนี้ตัวยานนิวฮอไรซันจะยังไม่มีเป้าหมายใหม่ในการเดินทางไปยังวัตถุใหม่ ๆ ที่ค้นพบ แต่จากข้อมูลเราได้รับมานี้หมายความว่ายังมีวัตถุอีกมากมายที่รอการสำรวจในแถบไคเปอร์อยู่ที่เส้นทางใกล้เคียงกับตัวยานนิวฮอไรซันจะสามารถเดินทางไปหาได้ ในตอนนี้ตัวยานนิวฮอไรซันยังมีเชื้อเพลิงพอใช้สำหรับการปรับเส้นทางการเคลื่อนที่ของยานได้อยู่ และอาจจะสามารถปรับเส้นทางเพื่อไปศึกษาวัตถุเหล่านั้นได้ในอนาคต

การศึกษาวัตถุในแถบไคเปอร์นอกจากจะเพิ่มองค์ความรู้ให้กับมนุษยชาติเกี่ยวกับวัตถุเหล่านี้แล้ว ยังช่วยเราทำความเข้าใจกระบวนการการเกิดขึ้นของระบบสุริยะ กำเนิดโลก หรือแม้แต่กำเนิดชีวิตบนโลก เนื่องจากเราพบข้อมูลจากการสำรวจวัตถุ 486958 Arrokoth หนึ่งในวัตถุในแถบไคเปอร์ ว่าพื้นผิวของมันเต็มไปด้วยสีแดงที่เกิดจากสารทอลิน (Tholin) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เชื่อว่ามีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เกิดสารประกอบที่เป็นพื้นฐานของชีวิตได้ ดังนั้นการศึกษาวัตถุในแถบไคเปอร์ไม่ได้เป็นเพียงการศึกษาก้อนหินสกปรกที่ลอยอยู่ในอวกาศ แต่เป็นการศึกษาถึงเรื่องราวที่ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงยุคต้นกำเนิดของระบบสุริยะและชีวิตบนโลก

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA, spaceth, arxiv

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แถบไคเปอร์ยานนิวฮอไรซันNew HorizonsNew HorizonสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด