ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตั้งข้อสังเกตน้ำท่วม หน้า ม.พะเยา ฝนตก-สิ่งปลูกสร้างกีดขวาง

ภัยพิบัติ
18 ก.ย. 67
19:37
2,453
Logo Thai PBS
ตั้งข้อสังเกตน้ำท่วม หน้า ม.พะเยา ฝนตก-สิ่งปลูกสร้างกีดขวาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
น้ำป่าหลากท่วมหน้า ม.พะเยา เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) "ไม่ปกติ" ข้อมูลที่ชัดเจนคือ ฝนตกหนักภายในเวลาสั้น ๆ ชุมชนที่ถูกน้ำท่วม เดิมเป็นพื้นที่รับน้ำ และมีข้อสังเกตว่า คูคลองไม่สามารถรองรับและระบายน้ำได้เพราะมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา ซึ่งมีหอพักอยู่จำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อประชาชนและนิสิตในพื้นที่อย่างมาก จากเหตุดังกล่าวทำให้มีการวิคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำหลากอย่างรวดเร็วในครั้งนี้

อ่านข่าว : การรถไฟฯ ยันโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ไม่เกี่ยวเหตุน้ำท่วม 

สาเหตุน้ำป่าท่วม หน้า ม.พะเยา ฝนตก-สิ่งปลูกสร้างกีดขวาง

ปัจจัยแรก คือ ปริมาณฝน ตั้งแต่เวลา 03.00 - 05.00 น. ของวันที่ 17 ก.ย.ในระยะเวลาเพียง 2 ชม.มีฝนตก 106 มม.ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ฝนตกหนักมาก โดย รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และ ประธานกรรมการบริหารฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ MQDC เปรียบเหตุดังกล่าวว่า " เหมือนการเทน้ำจากกะละมังแบบพรวดเดียว"

ปัจจัยที่ 2 บริเวณที่ถูกน้ำท่วม (สีน้ำเงิน) เต็มไปด้วยอาคารและหอพักที่ก่อสร้างหนาแน่น และอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ อาคารที่พักเหล่านี้ยังก่อสร้างริมลำน้ำแม่กาหลวง ดังนั้นเมื่อน้ำล้นจึงหลากท่วมชุมชนทันทีและมีข้อสังเกตว่า การสร้างอาคาร และถนนในชุมชน อาจจะรุกล้ำหรือกีดขวางทางน้ำหรือทำให้ทางน้ำแคบลงหรือไม่

"เพียบ หาญป้อ" ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า เดิมพื้นที่บริเวณหน้า ม.พะเยา มีสภาพเป็นทุ่งนาเมื่อน้ำท่วมจะไม่รุนแรงมากและน้ำไม่สูง แต่หลังขยายเป็นชุมชน ลำน้ำจึงค่อย ๆ แคบลง

ขณะที่ หากพิจารณาแผนที่บริเวณ ม.พะเยา และบริเวณหอพักที่ถูกน้ำท่วม เมื่อฝนตกน้ำจากลำห้วย 2 สาย คือ หนองเม็ง-นาปอย กับ ห้วยแม่กาหลวง จะไหลมาบรรจบกัน ในพื้นที่น้ำท่วมต้นน้ำของห้วยหนองเม็ง-นาปอย มีอ่างเก็บน้ำ และฝายเล็กๆ ทำให้มีน้ำสะสมทางตอนบนของพื้นที่ และบริเวณตอนบนของห้วยแม่กาหลวง มีโครงการก่อสร้างอุโมงค์โครงการรถไฟทางคู่

นายสะอาด ไชยกุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่กา ยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ตามธรรมชาติ เพราะมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางและมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ด้านบน จึงเตรียมเชิญทุกภาคส่วนมาหารือ และอีกจุดที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ชุมชนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา คือโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 

ตรวจสอบลักษณะกายภาพโครงการรถไฟทางคู่ฯ พะเยา

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ใน ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จุดนี้ถูกตั้งข้อสังเกตจากคนในพื้นที่และสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีการสร้างถนนชั่วคราวข้ามลำห้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมหน้า ม.พะเยา หรือไม่

หนึ่งในผู้ที่ตั้งข้อสังเกต คือ "เพจคนอนุรักษ์" ที่อ้างหลักฐานเป็นภาพถ่ายโครงการ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย. พบว่ามีถนนชั่วคราวที่ทำไว้ข้ามคลองขาด จึงตั้งข้อสังเกตว่า มวลน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักอาจสะสมในจุดดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่ต่างจาก “เขื่อนเล็ก ๆ” เมื่อถนนชั่วคราวพังลงจึงส่งผลให้มีน้ำท่วมพื้นที่หน้า ม.พะเยา ที่อยู่ห่างไม่ถึง 1 กม.หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีผู้โพสต์ภาพและคลิปภาพ ที่อ้างว่า เป็นจุดที่ถนนชั่วคราวขาด แสดงในคอมเมนต์ของโพสต์ดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟฯ แต่ปลายทางปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว 

อ่านข่าว : รัฐล้มเหลว? สัญญาณแจ้งเตือนภัยพิบัติ รับมืออุทกภัยล่วงหน้า 

"เจ้าของหอพัก" ตั้งข้อสังเกตการก่อสร้างอาจทำให้น้ำท่วม

ขณะที่ พ.ต.ท.จารุวัฒน์ สุปินะ เจ้าของหอพักที่ถูกน้ำท่วมตั้งข้อสังเกตว่า น้ำท่วมครั้งนี้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะมีการเปิดหน้าดินและขวางทางน้ำ ทำให้มีน้ำท่วมที่มาพร้อมกับดินโคลน

นักวิชาการคาดสิ่งขวางทางน้ำ อาจไม่ทำให้เกิดมวลน้ำจำนวนมาก

ขณะที่ นายสวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา ระบุว่า น้ำป่ามาจากฝนที่ตกหนักถึง 106 มม.ในพื้นที่ต้นน้ำ 2 ลำห้วย ที่ไหลรวมกัน แล้วท่วมพื้นที่ชุมชน เพราะห้วยมีขนาดเล็กรับน้ำไม่ได้ ส่วนโคลนที่มากับน้ำ อาจเกิดจากการชะล้างจากพื้นที่ตอนบนที่เป็นพื้นที่การเกษตรและอาจเกิดจากหน้าดินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

นายสวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา

นายสวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา

นายสวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา

ส่วนข้อสังเกตเรื่องการสร้างถนนชั่วคราวขวางทางน้ำ เห็นว่า อาจไม่ได้ทำให้เกิดมวลน้ำจำนวนมาก ที่ไหลเข้าท่วมได้ เพราะถนนไม่ได้สูงกว่าตลิ่ง และทำทางระบายเอาไว้แล้ว

ขณะที่ นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ระบุว่า น้ำท่วมอาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องฝนที่ตกหนัก รวมไปถึงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป 

ตรวจสอบอีไอเอโครงการรถไฟทางคู่ฯ พะเยา

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม "โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" ที่จัดทำในปี 2560 พบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ เป็นการพัฒนารถไฟทางคู่

หากเทียบจากพิกัดจุดที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีส่วนกับเหตุน้ำหลากด้วยหรือไม่ พบว่า อยู่ในแนวการปรับเส้นทาง ช่วง ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ถึง ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จากเส้นทางเดิม คือ เส้นประสีแดง ปรับมาเป็นเส้นใหม่ คือ เส้นสีน้ำเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท รวมถึงปรับปรุง เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน ต.แม่กา

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการจะเกี่ยวข้องกับการเปิดป่าด้วยหรือไม่ ในรายงาน EIA ระบุถึงเส้นทางรถไฟไว้ว่า บริเวณนี้จะตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ในเขตตำบลแม่กา และได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าว : น้ำป่าซัดรถ-หอพักหน้า ม.พะเยา เสียหาย ไม่มีแจ้งเตือนล่วงหน้า  

ด่วน! น้ำทะลักหน้า ม.พะเยา เร่งอพยพคนออกจากพื้นที่

เช็กเกณฑ์ เงื่อนไขเยียวยาน้ำท่วมปี 67 จังหวัดไหนบ้างได้สิทธิ 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง