ทุกวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี ประเทศไทยจะเฉลิมฉลอง วันแรงงานแห่งชาติ เพื่อยกย่องเหล่าผู้ใช้แรงงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ วันนี้เป็นวันหยุดตามกฎหมายที่ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิหยุดงานได้โดยไม่ถูกหักเงินเดือนหรือค่าจ้าง แต่ถ้าใครต้องมาทำงานหรืออยู่ทำโอที (Overtime) ในวันนี้ บอกเลยว่าได้ค่าแรงพิเศษแบบจุก ๆ ตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้ ชวนเจาะลึกกันว่าได้ค่าแรงกี่เท่า และมีอะไรน่าสนใจเกี่ยวกับวันแรงงานบ้าง
ทำงาน "วันแรงงาน" ได้ "ค่าแรง" เท่าไหร่กันนะ ?
ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กระทรวงแรงงาน ถ้าลูกจ้างต้องมาทำงานในวันแรงงานแห่งชาติ (1 พ.ค.) นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างพิเศษเพิ่มเติม ดังนี้
- ทำงานในวันหยุด ได้ค่าจ้างเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างปกติ นอกเหนือจากค่าจ้างปกติที่ได้รับอยู่แล้ว
- ทำงานล่วงเวลา (โอที) ได้ค่าจ้างโอทีไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานปกติ
ยกตัวอย่าง
ช่างวิน ลูกจ้าง ได้ค่าแรงวันละ 500 บาท ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง คิดเป็นชั่วโมงละ 62.50 บาท
ถ้า ช่างวิน มาทำงานในวันที่ 1 พ.ค. ก็จะได้ค่าจ้างปกติ 500 บาท และ ได้ค่าจ้างวันหยุดเพิ่มอีก 500 บาท (1 เท่า) รวมเป็น 1,000 บาท
ถ้า ช่างวิน อยู่ทำโอทีต่ออีก 4 ชั่วโมง จะได้ค่าโอที = 62.50 x 3 (เท่า) x 4 (ชั่วโมง) = 750 บาท
สรุปวันนั้นช่างวินได้เงิน ทั้งหมด 1,000 + 750 = 1,750 บาท

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
วันแรงงานแห่งชาติไม่ใช่แค่วันหยุดธรรมดา แต่เป็นวันที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ในประเทศไทย กระทรวงแรงงานใช้โอกาสนี้รณรงค์ให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิและสวัสดิการของลูกจ้าง รวมถึงส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน
โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกสารเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2568 แสดงความขอบคุณและความชื่นชมอย่างสุดใจ ต่อแรงงานไทยกว่า 40 ล้านคน ทั้งในภาคการผลิต บริการ เกษตร และแรงงานไทยในต่างประเทศ ที่เป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโต อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในปี 2568 นี้ กระทรวงแรงงานยังมีแผนจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทั่วประเทศ เช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน การอบรมความปลอดภัยในการทำงาน และการมอบรางวัลให้สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานดีเด่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ที่ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 07.00 น. เป็นต้นไป
เสียงจากลูกจ้าง-นายจ้าง
ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดค่าแรงพิเศษในวันแรงงานไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากทั้งฝั่งลูกจ้างและนายจ้าง
"เมษา" พนักงานร้านอาหารในกรุงเทพฯ เล่าให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "วันแรงงานเป็นวันที่เราควรได้หยุดพัก แต่บางทีร้านอาหารก็ต้องเปิด เพราะลูกค้าเยอะ ถึงจะได้ค่าแรงพิเศษ แต่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้มาทำงาน ถ้าเลือกได้ก็อยากหยุดมากกว่า" เมษายังบอกอีกว่า บางครั้งนายจ้างไม่ค่อยชี้แจงเรื่องค่าแรงวันหยุดชัดเจน ทำให้ลูกจ้างไม่รู้ว่าตัวเองได้เงินครบตามสิทธิหรือเปล่า
ทางด้าน "แมน" เจ้าของร้านกาแฟเล็ก ๆ ในเชียงใหม่ กล่าวว่า "การจ่ายค่าโอที 3 เท่าในวันหยุดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะลูกจ้างก็เหนื่อย แต่สำหรับร้านเล็ก ๆ ค่าใช้จ่ายตรงนี้กระทบเยอะ โดยเฉพาะช่วงที่ยอดขายยังไม่กลับมาเต็มที่หลังโควิด" แมนสะท้อนปัญหาอยากสื่อถึงรัฐบาล หากมีนโยบายช่วยเหลือ เช่น ลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจขนาดเล็กในวันหยุดพิเศษแบบนี้ จะช่วยให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้ง่ายขึ้น

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
นักวิชาการด้านแรงงาน มองว่าค่าแรงพิเศษในวันแรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคุ้มครองแรงงาน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างระบบที่ทำให้ลูกจ้างรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน เช่น การมีสัญญาจ้างที่ชัดเจน สวัสดิการที่ดี และโอกาสพัฒนาทักษะ พร้อมยังชี้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและ AI เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รัฐบาลและเอกชนต้องร่วมกันวางแผนเพื่อให้แรงงานไทยปรับตัวได้ทัน
ลูกจ้างต้องรู้ "ทำอย่างไร ?" ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าแรงวันหยุด
กระทรวงแรงงานย้ำว่า ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิตรวจสอบและเรียกร้องค่าแรงตามกฎหมาย ถ้าพบว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างวันหยุดหรือค่าโอทีตามที่กำหนด สามารถทำได้ดังนี้
- เจรจากับนายจ้าง เพื่อขอคำชี้แจงหรือแก้ไขปัญหา
- ติดต่อกระทรวงแรงงาน สายด่วน 1546 หรือไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน
- เก็บหลักฐาน เช่น สลิปเงินเดือน บันทึกเวลาทำงาน หรือข้อความที่คุยกับนายจ้าง เพื่อใช้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังมี ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน ที่ให้คำปรึกษาฟรี และในบางกรณีอาจมีการตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อให้มั่นใจว่านายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย
"วันแรงงานแห่งชาติ" 1 พ.ค.2568 ไม่ใช่แค่วันที่ลูกจ้างได้หยุดพักหรือได้ค่าแรงพิเศษ แต่เป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐมาร่วมกันสร้างระบบแรงงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การสร้างสวัสดิการที่ครอบคลุม หรือการสนับสนุนให้แรงงานมีทักษะที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

ภาพ AI ใช้ประกอบข่าว
ภาพ AI ใช้ประกอบข่าว
รู้หรือไม่ : 1 พ.ค. "วันแรงงาน" ไม่ถูกนับเป็น "วันหยุดราชการ" ดังนั้น จะมีแค่ธนาคารและเอกชน ที่ได้หยุดในวันนี้
อ่านข่าวอื่น :
"ลิเวอร์พูล" ปิดจ็อบ ถล่มสเปอร์ส 5-1 การันตีแชมป์พรีเมียร์ลีก
เอกอัครราชทูตจีนฯ แถลงภารกิจ "สี จิ้นผิง" เยือน 3 ประเทศอาเซียน