วันนี้ (18 ก.ย.2567) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 เรื่องพายุ “ดีเปรสชัน” เมื่อเวลา 16.00 น.ว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 415 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และคาดว่าในช่วงวันที่ 20–21 ก.ย.นี้ จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
อ่านข่าว อัปเดต "พายุดีเปรสชัน" ขึ้นฝั่งเวียดนาม 19 ก.ย.อีสานฝนตกหนัก
มรสุมกำลังแรง-ใต้คลื่นสูง 4 เมตร
ประกอบกับร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 19–23 ก.ย.นี้ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19 22 ก.ย.นี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
อ่านข่าว เช็กเอกสารรับเงินเยียวยาน้ำท่วม-หายทำใหม่ฟรี 15 วัน
บึงกาฬ เตรียมกระสอบทรายรับมือ
เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองบึงกาฬ และทหารจากหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง นำกระสอบทรายมาวาง หน้าบ้าน และร้านค้า ซึ่งเป็นจุดที่ลุ่มต่ำ ในเขตเทศบาลเมืองบึงกาฬ ระยะทางประมาณ 500 เมตร เพื่อป้องกันน้ำไหลท่วมชุมชน
วนิดา ฝ่ายชำนาญ ชาวชุมชนศรีโสภณ เขตเทศบาลเมืองบึงกาฬ บอกว่า พายุ "ยางิ" รอบที่แล้ว ทำให้น้ำท่วมถนน และบางส่วนก็เข้ามาในร้าน ดังนั้นการเตรียมรับ พายุลูกใหม่ ครั้งนี้จะย้ายสินค้าจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน
ส่วนเทศบาลเมืองบึงกาฬ เร่งสูบน้ำที่ค้างท่อในชุมชน เพื่อระบายลงแม่น้ำโขง ซึ่งยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร และตั้งจุดสูบน้ำในเขตเทศบาลรวม 5 จุด
นอกจากภาคอีสานแล้ว ยังคงมีบางจังหวัดของภาคเหนือ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง อย่างจ.ลำปาง เมื่อช่วงเกิดมีน้ำป่าหลากท่วม ทำให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดในชุมชน กำลังทหารจากมณฑลทหารบทที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี เข้าช่วยอพยพออกจากบ้าน
ส่วนที่จังหวัดน่าน ชาวบ้านดอนศรีเสริมกสิกร ชุมชนริมน้ำน่าน ที่มักถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ได้เตรียมเก็บของใช้ที่จำเป็น ทั้งเสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรค เพื่อพร้อมอพยพทันที หากแม่น้ำน่านสูงขึ้นจนถึงระดับวิกฤต
สำหรับ จ.สุโขทัย แม่น้ำยมลดลงแล้ว แต่สภาพตลิ่งบางจุดใน ต.ยางซ้าย ยังมีร่องรอยความเสียหาย ทางจังหวัดเร่งเสริมความมั่นคงแข็งแรงแนวตลิ่งจุดที่เป็น ต้นทางการระบายน้ำ และปรับแผนเผชิญเหตุ โดยเฉพาะการอพยพผู้ประสบภัย
ศปช.ถกนัดแรก-รายงานสถานการณ์ทุกวัน
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมนัดแรกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ร่วมกับ 22 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ เพื่อร่วมกันพิจารณารูปแบบการจัดตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือฯ ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารข่าวสาร เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน
ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังหารือถึงการปรับแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการจ่ายเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์เดิม หรือ การจ่ายเงินเยียวยาในกรณีพิเศษ รวมถึงมาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ และ ค่าไฟฟ้า พร้อมย้ำการขับเคลื่อนต้องบูรณาการ แก้ปัญหาแบบ “วันสต็อปเซอร์วิส" ภายใต้ความรวดเร็ว-ยึดประชาชนเป็นหลัก
อ่านข่าว เช็กเกณฑ์ เงื่อนไขเยียวยาน้ำท่วมปี 67 จังหวัดไหนบ้างได้สิทธิ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบรูปแบบรายงานการติดตามสถานการณ์ โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานสถานการณ์ประจำวันส่งเข้าไลน์กลุ่มคณะทำงานก่อนเวลา 12.00 น. ของทุกวัน
และเห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินเยียวยา ในกรณีพิเศษ และมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า รวมถึงเห็นชอบการมอบอำนาจให้ ผอ.ศปช. ปฏิบัติหน้าที่แทน ศปช. ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการของ ศปช.อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์
ขณะที่พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประกาศเดินหน้า ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมเตรียมรับมือพายุลูกใหม่ในพื้นที่ภาคอีสาน ให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาต้องถึงที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมง คือเป้าหมายหลักของทหาร