โรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล และ โรคถุงลมโป่งพอง คือ อาการป่วยของประชาชน 30,339 คน ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 15 มีนาคม 2567 มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว เพราะวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้ เพียง 12,671 คน
"เลือดกำเดาไหล" ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากในช่วงวิกฤตฝุ่นPM2.5 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กมีอาการหายใจติดขัด จมูกบวม และ เลือดกำเดาไหล
รองศาสตรจารย์ แพทย์หญิง กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รองศาสตรจารย์ แพทย์หญิง กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาร่วมกับนักศึกษาแพทย์หาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์ของการเกิดเลือดกำเดาไหลในผู้ป่วยนอกเเละห้องฉุกเฉิน พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยอาการเลือดกำเดาไหลอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เข้าไปทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูก และไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่มีโอกาสเลือดกำเดาไหลง่ายกว่าผู้ใหญ่
นอกจากข้อมูลผลกระทบสุขภาพในปีนี้แล้ว สถิติย้อนหลังของกระทรวงสาธารณสุขยังระบุว่าอัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2566 กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2563 มีจำนวนผู้ป่วย 10,522 คนต่อแสนประชากร และ ในปี 2564 และ 2565จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,000 คน ขณะที่ปี 2566 อัตราป่วยอยู่ที่ 16,123 คนต่อแสนประชากร
นอกจากนี้อัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดปี 2564 ซึ่งคำนวณการตายจากฐานข้อมูลการตาย(มรณบัตร) และ จำนวนประชากร(ตัวหาร)โดยสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสารสุขภาพ ก็พบว่าภาคเหนือได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ สถิติสูงสุดอยู่ที่จังหวัดลำปาง 44.9 คนต่อแสนประชากร รองลงมา คือ จังหวัดเชียงใหม่ 33.4 คนต่อแสนประชากร และ จังหวัดเชียงรายที่ 32.7 คนต่อแสนประชากร
แม้ PM2.5 อาจเป็นเพียง 1 ในปัจจัยทำให้เกิดโรค "มะเร็งปอด" แต่เป็นที่น่าสังเกตถึงจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในภาคเหนือ ซึ่งเผชิญวิกฤตฝุ่นควันทุกปี เฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 ปีที่ผ่านมา มีคณาจารย์ เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด ถึง 4 คน จน ผศ.ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องโพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามว่า ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5
จ.เชียงใหม่ ระบุแก้ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ประจำปี 2567 ทำได้ดีกว่าปี 2566
จังหวัดเชียงใหม่สรุปการถอดบทเรียนป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ประจำปี 2567 ทำได้ดีกว่าปี 2566 ในทุกๆ ด้าน ทั้งจุดความร้อน , พื้นที่เผาไหม้ , จำนวนวันที่ค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน และ จำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แม้ว่าจะไม่ได้ตามเป้าหมายตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ว่าจะลดให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เข้าตรวจรักษามีจำนวน 8,844 ครั้ง ลดลงจากปีก่อนถึง 76 เปอร์เซ็นต์
นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต
แต่ในความเห็นของ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต กลับเห็นว่าตัวชี้วัดนี้เป็นตัวเลขลวงตา ไม่ใช่การวิเคราะห์วิจัยว่าเป็นผู้ป่วยจากฝุ่นควันที่ลดลงจริง เพราะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ โรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคเรื้อรัง ฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับข้อมูลโรคปอดอุดกั้นกำเริบจะแม่นยำกว่า และ ยังจำเป็นต้องไปวิเคราะห์ต่อว่าสาเหตุว่าเพิ่มหรือลดเกิดจากฝุ่นPM2.5 หรือ ปัจจัยอื่นๆ
นพ.ชายชาญยืนยันว่าในช่วงที่เกิดฝุ่นควันตั้งแต่มกราคม-เมษายน จำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ ปอดอักเสบ เพิ่มขึ้นจริง แม้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่งานวิจัยทั่วโลกในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา ระบุตรงกันว่า PM2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาฝุ่นควันของภาครัฐ นพ.ชายชาญ เห็นว่าควรต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานที่จริงจังมากขึ้น จากเดิมที่เป็นไปตามระบบราชการ ให้เป็นรูปแบบพันธสัญญาทางการเมือง หรือ political commitment
การทำงานของแต่ละกระทรวงเป็นเพียงแต่การประชุม แต่ไม่มีแผนปฏิบัติการ หรือ Action Plan ไม่มีการตรวจสอบผลลัพธ์อย่างจริงๆ จังๆ มันก็จะเหมือนงานในระบบราชการทั่วไปที่ไม่สามารถชี้วัดอะไรได้อย่างชัดเจน เป็นปัญหาปีต่อปีไป ยี่สิบปีที่ผ่านมา มีอะไรที่สำเร็จเป็นรูปธรรมบ้าง นอกจากจะมีฟ้าฝนมาช่วยให้ฝุ่นควันคลี่คลาย
มาตรการภาครัฐ ลดผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นPM2.5 ยังมีข้อจำกัด
ในช่วงเกิดวิกฤตฝุ่นควันพิษ หน่วยงานภาครัฐ ใช้การกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่มีการออกประกาศจังหวัดให้หน่วยงานภาครัฐ และ บริษัท ห้างร้าน Work from Home ขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยว กลุ่มเปราะบาง ลดกิจกรรมนอกบ้าน ให้หน่วยงานรัฐ พิจารณาเปิดบริการห้องลดฝุ่นให้แก่ประชาชน ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีห้องลดฝุ่น หยุดการเรียนการสอน และ ให้หน่วยงานภาครัฐปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
แต่มาตรการเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดเพราะเป็นไปในรูปแบบการขอความร่วมมือ สิ่งสำคัญ คือ เครื่องมือในการป้องกันที่ได้ผล ซึ่งก็คือเครื่องฟอกอากาศ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึง จึงเป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมป้องกันฝุ่นพิษ โดยเฉพาะ "กล่องอากาศดี" โดยนักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ นำไปใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการสร้างห้องปลอดฝุ่นแบบDIYที่มีต้นทุนต่ำ
หนุน อปท.เตรียมแผนล่วงหน้าสร้างห้องปลอดฝุ่นแบบต้นทุนต่ำ
ดร.คงศักดิ์ บุญยะประณัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพระบุว่าปีที่ผ่านมาทางสถาบันเข้าช่วยจัดทำห้องปลอดฝุ่นแบบต้นทุนต่ำด้วย "กล่องอากาศดี" แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากกว่า 500 แห่ง ส่วนในปีนี้ก็เตรียมขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และ จังหวัดน่าน โดยการลงพื้นที่ที่ผ่านมาพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.ต่างๆมากกว่าพันแห่ง มักขาดแคลนงบประมาณ จึงเสนอให้แต่ละ อปท.จัดตั้งงบประมาณล่วงหน้า หรือ ปรับปรุงระเบียบการจัดซื้ออุปกรณ์ทำเครื่องฟอกอากาศแบบ DIY
อปท.ต้องทำแผนการล่วงหน้า เพราะการจัดตั้งงบประมาณต้องใช้ระยะเวลา และ ตามระเบียบราชการการจัดซื้ออุปกรณ์ทำเครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะตัวพัดลมซึ่งถือเป็นครุภัณฑ์ ก็มีข้อจำกัดในการจัดซื้อ หากในพื้นที่สามารถที่จะวางแผนร่วมกันในการจัดซื้อครุภัณฑ์ หรือ อาจจะมีนโยบายจากภาครัฐที่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้อุปกรณ์บางอย่างในเครื่องฟอกอากาศเป็นวัสดุได้ ก็จะเป็นทางออกให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถประดิษฐ์ หรือ จัดทำเครื่องฟอกอากาศได้เอง
ดร.คงศักดิ์ บุญยะประณัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สภาลมหายใจเชียงใหม่เสนอคัดกรองสุขภาพคนดับไฟ
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่าข้อเสนอในการรับมือวิกฤตฝุ่นPM2.5ในปีนี้ นอกจากการดูแลกลุ่มเปราะบางที่บ้านพักไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของ อปท.ในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้แล้ว ยังควรมีการคัดกรองสุขภาพอย่างละเอียดให้แก่ทีมอาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ชาวบ้านแกนนำที่มีหน้าที่ดับไฟป่า รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน และเสือไฟ เพราะผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจจะไม่พร้อมที่จะเข้าไปเผชิญไฟ และ ที่ผ่านมาก็มีผู้เสียชีวิตจากโรคประจำตัวในขณะดับไฟมาแล้ว
เราควรจะมีการตรวจสุขภาพแบบละเอียดสำหรับคนที่เผชิญไฟ แล้วจะต้องสร้างความคุ้นชินในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะหน้ากากสำหรับคนที่ต้องเข้าไปดับไฟป่า ควรจะเป็นหน้ากากที่ป้องกันฝุ่น ป้องกันควันได้ ถึงแม้จะราคาแพง แต่ควรจะจัดหา แล้วก็ฝึกให้ใช้จริง
รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ