“วันยุงโลก” (World Mosquito Day) ตรงกับวันที่ 20 ส.ค. ของทุกปี เพื่อตระหนักถึงภัยอันตรายของ “ยุง” ช่วยกันลดการแพร่พันธุ์ ร่วมกันหาทางป้องกันโรคจากยุง Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำความรู้มาให้ได้ทราบว่า คนแบบไหน “ยุง” ชอบกัดเป็นพิเศษ ก่อนปรับเปลี่ยนตัวเองหลีกเลี่ยงยุงกัด พาหะนำโรค เช่น ไข้เลือดออก, ไข้ซิกา, ชิคุนกุนยา, ไข้มาลาเรีย รวมถึงไข้สมองอักเสบ
ทำไม ? บางคนถึงถูก “ยุงกัด” มากกว่าคนอื่น
ยุง (Mosquitoes) เป็นพาหะของโรคร้ายต่าง ๆ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่ดูดเลือดกินเป็นอาหาร เนื่องจากมันต้องอาศัยโปรตีนและธาตุเหล็กที่อยู่ในเลือดเพื่อสร้างไข่ของมัน แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมบางคนถึงได้ถูกยุงกัดมากกว่าคนอื่น
มีปัจจัยมากมายที่พอจะสันนิษฐานได้ว่า ทำไมบางคนจึงโดนยุงกัดมากกว่าคนอื่น เช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทางลมหายใจ อุณหภูมิของร่างกาย หรือกลิ่นตัวเฉพาะ โดยยุงมีตัวรับสัญญาณเคมี (Chemical Sensors) ที่สามารถตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ และกรดแลกติกได้ในระยะไกลถึง 100 ฟุต (36 เมตร)
เรื่องน่ารู้ : ผู้หญิง ช่วงมีประจำเดือน เสี่ยงถูกยุงกัดมากขึ้น นั้นเพราะมีการปล่อย “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” มาก ขณะที่ระดับฮอร์โมน แตกต่างจากปกติ นอกจากนี้เด็กมีโอกาสถูกยุงกัดมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผิวที่อ่อนนุ่ม ยุงเจาะง่าย ขณะที่ อาหารบางชนิด ทำให้เรามีกลิ่นตัว เพิ่มแนวโน้มยุงมากัด ได้เช่นกัน
หลังจากที่ยุงจับสัญญาณได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ใกล้เคียง มันก็จะอาศัยอวัยวะรับกลิ่นที่เรียกว่า Maxillary palps นำทางไปยังเหยื่อทันที ดังนั้นผู้ที่หายใจเร็วและแรง จะมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายมากกว่าคนที่หายใจปกติ จึงมีแนวโน้มที่ยุงจะไปกัดคนนั้นมากกว่า
เรื่องน่ารู้ : “ยุงลาย” บินได้ไม่ไกล ชอบอาศัยเกาะพักอยู่ในที่มืดและพื้นที่ที่มีความชื้นในอากาศสูง ก่อนออกดูดเลือด โดยเฉพาะยุงลายบ้าน เป็นยุงที่ชอบกินเลือดคนมาก จะชอบอาศัยอยู่ในบ้านคน วันหนึ่ง ๆ แค่บินจากฝาผนังที่ยุงเกาะพัก จากตู้เสื้อผ้า หรือบินมาจากห้องน้ำไปกัดคนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน แล้วก็บินกลับไปเกาะที่เดิม วันหนึ่งอาจบินไกลไม่ถึง 10 เมตร
นอกจากนี้ “ยุง” ยังสามารถตรวจจับปริมาณความร้อนในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ได้ ดังนั้นคนที่มีการเผาผลาญในร่างกายสูง เนื่องจากสารคัดหลั่งจากเหงื่อ เช่น กรดแลกติก ยูริก และแอมโมเนีย อุณหภูมิบริเวณผิวหนังก็จะสูงด้วย ก็จะมีโอกาสโดนยุงกัดได้มากกว่า รวมถึงยุงจะเห็นสีเข้ม เช่น สีดำ น้ำเงิน ได้ชัดเจนกว่าสีอ่อน ดังนั้นหากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการโดนยุงกัด ก็ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน เช่น ขาว เทา หรือฟ้า เพื่อพรางตัวไม่ให้ยุงมากัด เป็นการพรางตัวอย่างง่าย ๆ วิธีหนึ่ง
🎬ชม Did you know : คนแบบไหนยุงชอบกัด
การป้องกันโรคจาก “ยุง”
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์
- ระบายน้ำไม่ให้เกิดน้ำขัง เพื่อลดประชากรยุง
- ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีประสิทธิภาพการไล่ยุงได้ประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง
แม้โดยส่วนใหญ่แล้ว เราอาจจะไม่ได้พบเจอกับยุงทุกสายพันธุ์ในชีวิตประจำวัน แต่การหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองถูกยุงกัด หลีกเลี่ยงจากการเดินทางไปในพื้นที่ที่มียุงอยู่ชุกชุม หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ และรู้จักป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากยุงโดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพนั้นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ เพราะถ้าหากได้รับเชื้อจากยุงจนต้องได้เข้ารับการรักษาแล้ว นอกจากจะต้องเสียทรัพย์ เสียเวลาในการรักษาตัว ในรายที่ร้ายแรงยังอาจมีโอกาสเสียชีวิตอีกด้วย แม้ต้นเหตุจะมาจากยุงเพียงตัวนิดเดียวก็ตาม
เวลาไหนเหมาะกำจัด “ยุง”
ช่วงหลังรับประทานอาหารของคน ในช่วงหลังอาหารเช้า หลังอาหารเที่ยง เป็นช่วงพีคที่ยุงออกหากิน พบมากที่สุด คือ เวลา 09.00 - 11.00 น. และ 13.00 -14.30 น. สิ่งที่ทำให้ยุงออกมากกัดมากที่สุดก็คือ กลิ่นอาหารที่ร่างกายย่อย ซึ่งจะปล่อยกลิ่นออกมาทางผิวหนัง ลมหายใจ ทำให้ดึงดูดยุง ฉะนั้นหากอยากกำจัดยุง เวลานี้อาจเหมาะสม
นอกจาก “ยุง” จะเป็นพาหะนำโรคแล้ว ยังทำให้เกิด “ผื่นแพ้ยุง” ได้ด้วย
ยุงที่กัดส่วนใหญ่ในบ้านเราคือ “ยุงรำคาญ” (Culex quinquefasciatus) เป็นยุงเพศเมียเพราะต้องการเลือดในการสร้างไข่ เมื่อยุงกัดจะปล่อยน้ำลายออกมาซึ่งในน้ำลายนี้เองมีสารโปรตีนที่เป็นสาเหตุของผื่นคันและการแพ้
ผื่นยุงกัดลักษณะเป็นอย่างไร
ผื่นยุงกัดมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ และอาการขึ้นกับปริมาณยุงที่กัดด้วย ส่วนใหญ่เมื่อโดนกัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง อาการมักจะน้อยลง โดยทั่วไปจะเห็นเป็นตุ่มนูน แดง คัน ขึ้นอยู่นานประมาณ 20 นาที และค่อย ๆ ยุบไปได้เอง ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณขา ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นการแพ้ แต่เป็นปฏิกิริยาต่อน้ำลายยุงเท่านั้น ส่วนในคนที่แพ้ยุงจริง ๆ นั้นหลังถูกกัดจะพบตุ่มนูนแดงคงอยู่นานหลายวัน หรือพบตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่ (บางครั้งใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร) ตุ่มน้ำพอง จ้ำเลือด ในบริเวณที่โดนกัด ในบางรายมีผื่นลมพิษทั่วตัวหรือลมพิษชนิดลึกร่วมกับมีอาการหมดสติได้ ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากการแกะ เกา และมีรอยดำตามมาได้บ่อย
ใครคือบุคคลที่เสี่ยงต่อการแพ้ยุง
- เด็กเล็กซึ่งยังไม่เคยโดนยุงกัดมาก่อนเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อยุงน้อย จะสังเกตเห็นว่าเด็กมักมีผื่นยุงกัดมากกว่าผู้ใหญ่ หรือนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยสัมผัสกับยุงในสถานที่นั้นๆมาก่อน
- คนที่มีโรคเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันเช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด
- คนที่ใช้ชีวิตหรือทำงานนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่
วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเรา “แพ้ยุง”
อาศัยทั้งจากประวัติ ลักษณะตุ่มที่โดนกัดว่ารุนแรงกว่าคนทั่วไป นอกจากนั้นอาจทำการตรวจเพิ่มเติมเช่นทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังที่เรียกว่า skin prick test โดยใช้สารสกัดจากน้ำลายยุงมาสะกิดผิวหนังในบริเวณท้องแขนและดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ในรายที่มีประวัติแพ้รุนแรงมาก อาจใช้วิธีเจาะเลือดดูค่าภูมิคุ้มกันต่อยุงได้ (specific IgE)
การรักษา
ในรายเป็นตุ่มยุงกัดธรรมดา อาจใช้ยาทากลุ่ม calamine หรือ menthol เพื่อให้รู้สึกเย็นสบาย ลดอาการคัน หรือยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ส่วนในรายที่เป็นตุ่มขนาดใหญ่ อาจใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โดยเลือกความเข้มข้นให้เหมาะสม เช่นในเด็กควรใช้ยาที่มีความแรงอ่อนเช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ร่วมกับรับประทานยาแก้แพ้เช่น chlorpheniramine, cetirizine บางครั้งถ้ามีอาการรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องรับประทานยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ถึงแม้ “ผู้ป่วยแพ้ยุง” นั้นพบได้ไม่บ่อย แต่ก็มักทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต รวมถึงผลข้างเคียงในด้านความสวยงาม ที่สำคัญ “ยุง” ยังเป็นพาหะของโรคต่าง ๆ อีกหลายโรค ดังนั้นทุกคนที่แพ้หรือไม่แพ้ก็ควรหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้โดนยุงกัดจะเป็นการดีที่สุด
📌 อ่าน เปิด 13 เรื่อง น่ารู้เกี่ยวกับ "ยุง" วายร้ายตัวจิ๋ว
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, โรงพยาบาลบางปะกอก 3, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล