กินแล้วไม่จ่าย ทำไมถึงกลายเป็น ชักดาบ!


ประวัติศาสตร์

27 ก.ค. 67

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

Logo Thai PBS
แชร์

กินแล้วไม่จ่าย ทำไมถึงกลายเป็น ชักดาบ!

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1431

กินแล้วไม่จ่าย ทำไมถึงกลายเป็น ชักดาบ!
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“อ้าว กินแล้วชักดาบนี่หว่า” ถ้าได้ยินประโยคนี้ คอหนังไทยหนังจีน คงรับรู้ได้ในทันที ว่าในฉากนั้น ต้องมีการเบี้ยวเงินกันแน่นอน แม้ว่าในเรื่อง จะไม่มีใครสักคนถือดาบ แล้วทำไมคำว่า ชักดาบ ถึงกลายเป็นความหมายของพวกกินแล้วไม่จ่ายไปได้กันล่ะ 

คำว่า “ชักดาบ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นกิริยาของการ “ไม่ยอมจ่ายเงิน” ซึ่งก็พูดติดปากคนไทยกันมาช้านาน ในสมัยโบราณเหล่าคนชนชั้นสูง หรือผู้มีฝีมือในการใช้ดาบ จะพกดาบเป็นอาวุธคู่กาย ไปไหนมาไหนเขาก็จะถือดาบไปด้วยเสมอ เพื่อเป็นการบ่งบอกสถานะของตัวเอง ซึ่งในบรรดาคนที่ถือดาบก็มีทั้งคนเก่ง และพวกนิสัยเกเร ถือตนว่ามีดาบอยู่ในมือ ชอบทำอวดเบ่ง แสดงอำนาจในทางมิชอบ คนพวกนี้เวลาอยากจะโอ้อวดพลังอํานาจตัวเองก็จะชักดาบออกมาขู่ เช่น ในยามไปกินอาหารตามร้าน เมื่ออิ่มหมีพีมันแล้ว ถึงเวลาคิดราคาค่าอาหาร แทนที่จะถามไถ่ราคาเขาดี ๆ ก็ชักดาบออกมา เอาคมดาบชี้ จานนี้เท่าไหร่ จานนั้นเท่าไหร่ ทำให้หวั่นใจว่าถ้าบอกราคาไปแล้วไม่รู้เขาจะจ่ายกลับมาด้วยอะไรกันแน่ เจ้าของร้านคนทำมาหากินเห็นท่าทางแบบนี้เข้าก็ไม่กล้าคิดเงิน จำต้องยอมยกค่าอาหารให้เพราะไม่อยากมีเรื่อง 

ก่อนจะชักดาบ ก็อย่าลืมว่าดาบมันมีสองคม 


แต่การชักดาบกร่างอย่างนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไป ถ้าหากเจ้าของร้านเองก็ดันเป็นคนมีของ ในหนังสือสนั่นสนาม สำนวนไทย เขียนโดย ล้อม เพ็งแก้ว ได้อธิบายไว้ว่า การชักดาบ เป็นการบ่งบอกนัยให้รู้ว่า ก็ฉันจะไม่จ่ายละ มีอะไรไหม ? เมื่อใช้กันบ่อยเข้าจึงกลายเป็นสำนวน
แต่มีอยู่เหมือนกัน ที่เจ้าของร้านเป็นนักเลงพอตัว เมื่อพบเหตุการณ์ทำนองนี้ ก็อาจควักดาบหรือปืนมาชี้ที่จานหรือหม้อ เช่นว่า ต้มยำหม้อนี้สองร้อย ผัดฉ่าจานนี้ร้อยห้าสิบ ฯลฯ ส่งนัยออกไปว่า หากเอ็งเบี้ยว ข้าก็พร้อมจะมีเรื่อง 
จนมาถึงยุคปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่มีใครพกดาบกันแล้ว แต่สำนวนพกดาบนั้นก็ยังใช้กันต่อ ๆ มาอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้มีความหมายแค่กรณีกินแล้วไม่จ่าย แต่รวมไปถึงการเบี้ยวหนี้ ไม่ยอมจ่ายด้วย

ดาบ คือของใกล้ตัว


สำนวน  คือ ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ ซึ่งโดยมากล้วนหยิบยกเอาสิ่งรอบ ๆ ตัวที่เห็นกันในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป ขึ้นมาพูดกันจนชินปาก จากคำแสลง “ชักดาบ” จึงทำให้เห็นว่าในสมัยก่อน “ดาบ” คือสิ่งของใกล้ตัวที่เห็นได้ทั่วไป (รวมถึงการชักดาบตามร้านอาหารก็น่าจะมีบ่อยด้วย) นอกจากชักดาบแล้ว ก็ยังมีสำนวนที่เกี่ยวกับดาบอีกหลายคำอย่าง

  • ดาบสองคม หมายถึงสิ่งที่มีทั้งคุณและโทษ เหมือนคมดาบที่ใช้ฟาดฟันศัตรูได้ แต่ก็อาจทำร้ายเจ้าของให้บาดเจ็บได้เช่นกัน
  • ไปตายดาบหน้า, ไปตายเอาดาบหน้า หมายถึง ยอมไปเผชิญกับความทุกข์และความลำบากข้างหน้า เปรียบกับแม่ทัพ,พลทหารที่ออกทําศึกที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดจากคมดาบหรือไม่ แต่ก็ต้องสู้ต่อไปทั้งที่ไม่รู้อนาคต
  • คมในฝัก ก็เป็นอีกสำนวนที่มาจากดาบ หมายถึง คนที่มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ ฝักในที่นี้ก็คือฝักดาบเก็บซ่อนความคมของดาบชั้นดีไว้ภายในนั่นเอง

ยุคนี้ แม้ว่าจะไม่มีใครถือดาบเดินไปเดินมากันแล้ว แต่ผู้คนก็ยังคุ้นเคยกับดาบผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ ทั้งหนัง ละคร ซีรีส์ อนิเมะย้อนยุค หรือแม้กระทั่งเกม ที่ไม่ใช่แค่ดาบ แต่ยังหยิบเอาอาวุธโบราณต่าง ๆ มานำเสนอ จนทำให้ไม่ว่าจะดาบ หอก กระบี่ และอื่น ๆ กลายเป็นสิ่งที่เหล่าแฟน ๆ ให้ความสนใจ และยังมีสำนวนอื่น ๆ ที่คนจะได้ยินจากสื่อเหล่านี้ตามมา อย่างเช่น ดาบไม่มีตา, กระบี่อยู่ที่ใจ เป็นต้น
มาดูสำนวนอื่น ๆ เกี่ยวกับดาบต่อได้ในคลิปนี้เลย 
 

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์
ผู้เขียน: เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์ สายสุ่มกาชา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด