เมื่อเช้าวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ประสบความสำเร็จในปล่อยจรวด H3 จากท่าอวกาศยาน Yoshinobu ของศูนย์อวกาศ Tanegashima พร้อมนำส่งดาวเทียม ALOS-4 ขึ้นสู่วงโคจร
ดาวเทียม ALOS-4 เป็นชื่อย่อจาก Advanced Land Observing Satellite 4 และมีอีกชื่อว่า Daichi 4 เป็นดาวเทียมที่มีภารกิจคอยตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมบนภาคพื้นโลก พร้อมกับมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับวางแผนจัดการเมื่อยามเกิดภัยพิบัติขึ้น
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้ความรู้ว่า ALOS-4 เป็นดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Mitsubishi Electric มีน้ำหนักประมาณ 3,000 กิโลกรัม และปฏิบัติภารกิจสำรวจโลกจากวงโคจรชนิด Sun-synchronous ที่ความสูง 628 กิโลเมตรจากพื้นโลก โดยมีอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนดาวเทียมอยู่ 2 ชิ้น ได้แก่ เรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ชนิด L-band ชื่อ PALSAR-3 (Phased Array type L-band Synthetic Aperture Radar-3) และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณระบบแสดงตนอัตโนมัติของกิจการเดินเรือ ชื่อ SPAISE3 (SPace based AIS Experiment 3)
บทบาทของภารกิจ ALOS-4 คือการรับช่วงต่อจากดาวเทียม ALOS-2 ของ JAXA ที่ประจำการอยู่บนวงโคจรมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2014 ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์เรดาร์ PALSAR-3 ให้ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจความละเอียดสูงได้กว้างประมาณ 200 กิโลเมตร มากกว่า ALOS-2 ที่ครอบคลุมความกว้างได้แค่ 50 กิโลเมตร
นอกจากความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่าเดิม JAXA ยังได้ปรับช่วงเวลาในการบินผ่านให้มีความถี่กว่าเดิม อาทิ การสำรวจแนวภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ จากเดิมที่ ALOS-2 จะบินผ่านเพียง 4 ครั้งต่อปี ให้เพิ่มเป็นการบินผ่านทุก 2 สัปดาห์โดยดาวเทียม ALOS-4 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสำรวจอย่างต่อเนื่อง และสามารถตรวจดูความผิดปกติของภูเขาไฟ หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น
ข้อมูลจากเรดาร์ PALSAR-3 ที่สามารถสำรวจโลกได้อย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน กอปรกับการใช้ช่วงเรดาร์ L-band ที่สามารถตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเรดาร์ในช่วง X-band หรือ C-band ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับหน่วยงานป้องกันภัยพิบัติของญี่ปุ่น ที่สามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก จากข้อมูลที่ดาวเทียม ALOS-4 บินผ่านเหนือพื้นที่เดิมในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
นอกจากเป็นดาวเทียมที่ให้บริการข้อมูลเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าได้แล้ว ข้อมูลจากเรดาร์บน ALOS-4 ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ อาทิ การตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของผืนป่าบนโลก อันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งข้อมูลของดาวเทียมดวงใหม่ จะมีความละเอียดมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า และตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของผืนป่าในบริเวณพื้นที่ขนาดเล็กกว่าเดิมได้แม่นยำขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการผืนป่าของประเทศต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ในเวลาเดียวกัน เรดาร์ PALSAR-3 ยังมีส่วนช่วยตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างวัตถุต่าง ๆ บนโลก อาทิ เขื่อน ท่าเรือ และสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ที่สามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงจากการทรุดตัว หรือการบิดเบี้ยวของโครงสร้างได้ในระดับมิลลิเมตร เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการซ่อมบำรุงสิ่งปลูกสร้างบนโลกได้อย่างทันท่วงที
ดาวเทียม ALOS-4 ยังมีบทบาทช่วยในการบริการข้อมูลเพื่อจัดการเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ อาทิ การบินผ่านเพื่อเก็บข้อมูลหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว อย่างที่ดาวเทียม ALOS-2 ได้สำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะ เมื่อวันปีใหม่ 2024 ซึ่งต้องใช้เวลานานหนึ่งสัปดาห์เพื่อเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมพื้นที่เกิดเหตุ แต่อุปกรณ์ของ ALOS-4 นั้นสามารถเก็บข้อมูลได้กว้างกว่าเดิม และสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้ในระหว่างการบินผ่านครั้งเดียว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้วางแผนและจัดการรับมือได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : jaxa, jaxa, jaxa, GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech