ลืมภาพจำว่า “ปลาทอง” (Goldfish) จำได้แค่ 3 วินาทีไปซะ ! เมื่อการศึกษาจำนวนมากร่วมยืนยันว่า “ปลาทอง” นั้นมีความจำดีอย่างน่าประหลาดใจ นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาเก่งอีกด้วย ดังนั้น หากคุณคิดว่าปลาทองไม่คิดอะไร แค่ว่ายน้ำไปเรื่อย ๆ ต้องคิดใหม่แล้ว !
Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง จากความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือ “ปลาทอง” (Goldfish) มีความจำที่อยู่ได้เพียง 3 วินาที แต่จากการศึกษาจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วว่า “ปลาทอง” ไม่เพียงแต่มีความจำที่ครอบคลุมหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือแม้แต่หลายปีเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเยี่ยมยอดอีกต่างหาก
โดย “ปลาทอง” ถูกเลี้ยงครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีปลาทองมากกว่า 125 สายพันธุ์ แม้ว่าปลาทองจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10-15 ปี แต่ปลาทองอายุมากที่สุดที่เคยบันทึกไว้ได้ตายลงเมื่ออายุได้ 43 ปี ขณะที่ความจำยังอยู่เต็มหัว
Culum Brown ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับรู้ของปลาจากมหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า เราทราบเกี่ยวกับความทรงจำที่ดีพอสมควรเกี่ยวกับปลาทองมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 และ 1960 แล้ว แม้หลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่ามัน (ปลาทอง) ความจำสั้น แต่ความจริงแล้วพวกมันฉลาดมากจริง ๆ โดยพิสูจน์แล้วจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า ปลาทองสามารถสร้างความจำระยะยาว เรียนรู้ทางสังคม ใช้เครื่องมือ รับรู้เชิงพื้นที่ รวมถึงแก้ปัญหาที่เกิดกับมันได้
ตัวอย่างงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยพบว่า ปลาทอง (Goldfish) มีพฤติกรรมรู้จักการหลีกเลี่ยงอาการช็อกเนื่องจากการทดลองที่กินเวลานานหลายวัน ซึ่งเป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่าปลาทองไม่ได้มีความจำระยะสั้น
โดยหลักฐานเชิงประจักษ์อีกชิ้นคือ ปลาทองมักจะจำบริเวณในตู้ที่มันมักจะกินอาหาร และจะว่ายเข้ามาหาตำแหน่งนั้นเมื่อถึงเวลาให้อาหาร นอกจากนี้คนยังสามารถสอนให้ปลาทองรู้จักหนีจากตาข่ายสำหรับใช้ดักจับได้ด้วย
ส่วนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบว่า ปลาทอง (Goldfish) มีทักษะในการประมาณระยะทางได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแม้แต่มนุษย์ยังทำได้ยาก โดยนักวิจัยพบว่าปลาทองสามารถว่ายน้ำได้ในระยะ 70 เซนติเมตร (2.3 ฟุต) พอดิบพอดีก่อนจะหันหลังกลับเพื่อรับรางวัลเป็นอาหาร โดยฝึกให้ปลาทองว่ายได้ในระยะ 70 เซนติเมตรอย่างสม่ำเสมอและแม่นยำ แม้ว่าจะเปลี่ยนจุดเริ่มต้นและสิ่งเร้าแล้วก็ตาม
ไขข้อสงสัย ทำไม ? ผู้คนคิดว่า “ปลาทอง” มีความจำ 3 วินาที
ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ สมองของปลามีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขนาดของสมองไม่ได้สัมพันธ์กับความฉลาดของสัตว์แต่ละสายพันธุ์เสมอไป
และแม้ว่าสมองของปลาแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตรงที่ปลาไม่มีฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่สร้างความทรงจำ ทำให้คนสันนิษฐานว่าหากไม่มีความจำระยะยาว สมองของปลาก็อาจได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามการวิจัยพบว่าในสมองปลามีโครงสร้างทางประสาท “แพลเลียม” อยู่ด้านข้างทำหน้าที่ในการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์และประสบการณ์
ขณะที่บริเวณในสมองส่วนหน้าของปลานี้มีต้นกำเนิดวิวัฒนาการเช่นเดียวกับส่วนต่าง ๆ ของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ช่วยในการเรียนรู้ และยังพบโครงสร้างที่คล้ายกับโครงสร้างที่ช่วยในการสร้างอารมณ์ (Amygdala) อีกด้วย
Adelaide Sibeaux ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า เพียงเราเลี้ยงปลาทอง (Goldfish) ในชามทรงกลมแล้วอย่าคิดว่ามันไม่ฉลาด-ความจำสั้น ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้ให้โอกาสปลาทองในการทำให้เห็นว่ามันฉลาดแค่ไหน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปลาทองยังมีในวงกว้าง ตนเองหวังว่าความคิดนี้จะแคบลงเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech