ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4 เหตุผลที่ทำให้ “ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ” กำลังจะสูญหาย


Lifestyle

9 ก.ค. 67

THANATCHA SUVIBUY

Logo Thai PBS
แชร์

4 เหตุผลที่ทำให้ “ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ” กำลังจะสูญหาย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1362

4 เหตุผลที่ทำให้ “ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ” กำลังจะสูญหาย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

นาฏศิลป์ไทยถือเป็นหนึ่งในศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย ที่รวมศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “ท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ” กระบวนท่ารำชั้นสูงที่ถ่ายทอดเรื่องราวตำนาน ความเชื่อ ความศรัทธาในองค์พระพิราพอสูรผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ผ่านท่วงท่าร่ายรำ ที่สง่างาม ดุดัน น่าเกรงขาม ซึ่งยังคงรอให้คนรุ่นหลังค้นพบและสืบสานก่อนที่จะสูญหายไปตามกาลเวลา

"พระพิราพ" คือใคร?
ตามความเชื่อในวงการดนตรีและนาฏศิลป์ไทย พระพิราพ คือปางดุร้ายของพระอิศวร เทพเจ้าแห่งการทำลายล้างและความตาย ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีรูปกายเป็นยักษ์ ดูน่ากลัว ดุร้าย น่าเกรงขาม ในวงการดนตรีและนาฏศิลป์ให้ความเคารพกราบไหว้ในฐานะบรมครู ที่มีอำนาจดลบันดาลความสุขให้แก่ศิษย์

ด้วยความยำเกรงต่อองค์พระพิราพผู้เป็นอสูรเทพ การรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพจึงจัดอยู่ในท่าร่ายรำชั้นสูงที่สุดของนาฏศิลป์ไทยที่เปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ระเบียบแบบแผน และความประณีตละเอียดละอ่อน ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาติออกมาได้อย่างดีเยี่ยม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในอนาคตเราอาจไม่ได้เห็นการแสดงนี้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพกำลังค่อย ๆ เลือนหายไปจากความสนใจของคนไทย ด้วยเหตุผลดังนี้ 

ท่ารำที่ไม่ใช่ว่าใครก็รำได้
การรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ถือเป็นการรําหน้าพาทย์ชั้นสูงที่สุดของนาฏศิลป์ไทยและมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ท่วงท่าร่ายรำทั้งหมดเป็นการประกอบอากัปกิริยาขององค์พระพิราพ ปางอวตารร่างดุร้ายของพระอิศวร การรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพจึงมีกฏระเบียบสำคัญ นั่นคือ “ต้องรำให้ถูกต้อง ห้ามรำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย” ทั้งยังเชื่อกันว่าหากรำพลาดพลั้งไปอาจมีอันตรายถึงชีวิต ก่อนทำการแสดงทุกครั้งจึงต้องมีการทำพิธีบวงสรวงบูชา สวดคาถาคุ้มครองผู้แสดงก่อนทุกครั้ง 

จึงนับว่าเป็นความท้าทายของศิลปินผู้แสดง ที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของจังหวะ ท่ารำ ควบคู่ไปกับความสวยงามและการแสดงออกท่าทางที่ต้องเปี่ยมด้วยพลัง ความดุดัน น่าเกรงขาม เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ขององค์พระพิราพ

การรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพจึงไม่ใช่ใครก็ได้ และไม่ได้อาศัยเพียงแค่ทักษะท่ารำพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยทักษะด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การมีสมาธิจดจ่อ ไม่วอกแวก การแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์พระพิราพ เพื่อเป็นพื้นฐานในการตีความ และถ่ายทอดออกมาสู่ผู้ชมได้อย่างถูกต้อง

ประสบปัญหาผู้สืบทอด และขาดแคลนผู้ถ่ายทอดท่ารำ 
อีกหนึ่งความสำคัญของการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ คือการถ่ายทอดท่ารำหรือการต่อท่ารำองค์พระพิราพ ซึ่งผู้ที่สามารถรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อมและได้รับการคัดเลือกจากพระมหากษัตริย์เท่านั้นถึงจะรำได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ถ่ายทอดให้กันเมื่อไหร่ก็ได้ ศิลปินที่สามารถถ่ายทอดท่ารำองค์พระพิราพจึงมีอยู่จำนวนน้อยแบบนับตัวได้ ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 5 คน เท่านั้น

การต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นการถ่ายทอดจาก ‘‘ครู’’ สู่ ‘‘ศิษย์’’ แบบตัวต่อตัว โดยครูผู้สอนจะถ่ายทอดท่ารำ เทคนิคต่าง ๆ ให้ศิษย์โดยตรง หน้าที่ของศิษย์ คือต้องจดจำรายละเอียดเหล่านี้ด้วยตาเปล่า และนำไปฝึกฝนจนสามารถถ่ายทอดท่ารำออกมาได้ถูกต้อง นอกจากนี้ผู้สืบทอดยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ตรงตามจารีตที่สืบทอดกันมา เช่น เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เป็นคนมีศีลธรรม มีความกตัญญูต่อครูอาจารย์ เป็นผู้สงบเงี่ยมทั้งกายวาจา ไม่พูดจาโอ้อวด และเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระพิราพ ฯลฯ

การต่อท่ารำองค์พระพิราพไม่ใช่ต่อจะที่ไหนก็ได้ ในการต่อท่าต้องจัดขึ้นเป็นพิธีการ และจัดใน “วัด” หรือ “วัง” เท่านั้น ไม่สามารถต่อท่ากันในบ้านเรือนของคนทั่วไปได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมเกียรติองค์พระพิราพ โดยขั้นตอนสุดท้ายผู้สืบทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพจะต้องเข้ารับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว หรือผ่านพิธีพระราชทานครอบและต่อท่ารำองค์พระพิราพ ถึงจะสามารถรำและถ่ายทอดให้กับรุ่นต่อไปได้ 

โอกาสในการแสดงน้อย หาชมได้ยาก 
การแสดงรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ถือเป็นการแสดงที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่การแสดงเพื่อความสนุกสนาน จึงมักจัดแสดงเฉพาะในโอกาสสำคัญ เช่น งานพระราชพิธี พิธีไหว้ครู พิธีเบิกโรง ฯลฯ ไม่นิยมจัดแสดงพร่ำเพรื่อตามสถานที่ทั่วไป ที่ผู้สนใจหรือนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงง่าย

นอกจากนี้ การแสดงเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ มีกฏเกณฑ์ที่เคร่งครัดตั้งแต่ก่อนการแสดง ในระหว่างการแสดง ไปจนถึงจบการแสดง เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงถึงความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ต้องทำพิธีไหว้ครู บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการแสดง

ในระหว่างการแสดง ศิลปินผู้แสดงห้ามพูดคุย หรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างการแสดง เพราะเชื่อว่าเมื่อสวมหัวโขนแล้ว นั่นหมายถึงได้อัญเชิญองค์พระพิราพลงมาประทับแล้ว การพูดคุยถือเป็นการแสดงความไม่เคารพ

การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย 
เป็นเรื่องธรรดาที่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตและค่านิยมของคนในสังคมย่อมเปลี่ยนตาม ความบันเทิงในยุคสมัยใหม่อย่างการดูหนังฟังเพลง หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกแทนศิลปะการแสดงในยุคเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการแสดงชั้นสูงที่ไม่ค่อยได้ทำออกแสดงแล้ว ย่อมลดโอกาสการเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป ทั้งในด้านการศึกษาเรียนรู้ และสัมผัสถึงความงดงามของศิลปะการแสดง

คงจะดีไม่น้อย หากเรานำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในการเรียนการสอนนาฎศิลป์หรือเผยแพร่ศิลปะการแสดงดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการของการสืบทอดและอนุรักษ์นาฏกรรมชั้นสูงของไทยนี้ให้คงอยู่สืบไปรุ่นสู่รุ่น

และสำหรับใครที่อยากสัมผัสความงดงามของ “รำพระพิราพ” มรดกทางวัฒนธรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์ไทยที่หาชมยาก สามารถติดตามชมสารคดี 'พระพิราพ Master of Khon Thai' ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 วันเสาร์ที่ 27 กรกฏาคม 2567 เวลา 10.00 น. 💻 ชมออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Viradha และ vipa.me

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รำพระพิราพท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพพระพิราพนาฏศิลป์ไทย
THANATCHA SUVIBUY
ผู้เขียน: THANATCHA SUVIBUY

นักเขียนผู้นับถือแมวเป็นศาสนา และมีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด