รู้ไหม ? “โอโซน” นอกจากมีประโยชน์ ยังมีโทษด้วยนะ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

2 ก.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
รู้ไหม ? “โอโซน” นอกจากมีประโยชน์ ยังมีโทษด้วยนะ

เราอาจได้ยินคำว่าไป “สูดโอโซน” (Ozone) แทนคำว่า “อากาศบริสุทธิ์” หรือ “ออกซิเจน” ยามเราไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่งเป็นใช้ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากหลายคนเชื่อว่า “โอโซน” (O3) เป็นก๊าซที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่แท้จริงแล้ว “โอโซน” มีทั้งประโยชน์และโทษ

เรื่องนี้ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับ “โอโซน” ในเพจเฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” ไว้ว่า “โอโซน” (O3) คือ ก๊าซที่ถือกำเนิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ เช่น เกิดจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่า แสงจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งโอโซนมีโมเลกุลที่ประกอบจากออกซิเจน 3 อะตอม เกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน 1 โมเลกุลกับอะตอมออกซิเจนอิสระ 1 อะตอมที่แตกตัวจากก๊าซออกซิเจนโดยการกระตุ้นของรังสีอัลตราไวโอเลตซี (UV-C) ปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ที่ชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ระดับความสูงระหว่าง 10 - 50 กิโลเมตรจากผิวดินเป็นชั้นบรรยากาศที่มีโอโซนหนาแน่นที่สุด หรือเรียกได้ว่าเป็นชั้นที่ผลิตแหล่งก๊าซโอโซน

โดยชั้นโอโซนดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกัน ปกป้องพืช และสัตว์จากรังสีที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UV-B) ซึ่งเป็นรังสีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และธรรมชาติหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป

ก๊าซโอโซนจัดเป็นก๊าซพิษ ที่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์ นำไปใช้เป็นสารซักฟอก ใช้ฆ่าแบคทีเรีย เป็นต้น

นอกจากนี้คำว่า โอโซน บางครั้งถูกใช้ในบริบทของการท่องเที่ยวหรือการพักผ่อนหย่อนใจ เช่นในวลีว่า “สูดโอโซน” (Ozone), “รับโอโซน” หรือ “แหล่งโอโซน” เป็นต้น

ก๊าซโอโซน (Ozone) เกิดจากแสงอาทิตย์

ถือว่าเป็นการใช้ “โอโซน” ผิดความหมาย เพราะความจริงแล้วโอโซนมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ บริเวณที่มีโอโซนมากในประเทศไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และย่านถนนสีลมในกรุงเทพมหานคร คำว่า “โอโซน” ที่ใช้กันผิด ๆ จะหมายถึง ออกซิเจนหรืออากาศบริสุทธิ์ ซึ่งดีต่อระบบการหายใจ ไม่ใช่ก๊าซโอโซนที่เป็นพิษ มีอันตรายต่อสุขภาพ

ประโยชน์ “โอโซน”

- ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นอันไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว และดีมาก ๆ
- ช่วยยับยั้ง และทำลายการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับเชื้อแบคทีเรีย
- ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ สลายก๊าซพิษต่าง ๆ ออกไปได้ดี
- ช่วยในการฟอกสี และบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาด และใสขึ้น
- ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในอากาศ

อันตราย “โอโซน”

- อาจเกิดอันตรายแก่ปอดได้โดยเฉพาะในเด็กที่ระบบภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงเพียงพอ
- อาจเกิดผลเสียหรืออันตรายแก่ระบบพันธุกรรม หรืออวัยวะสืบพันธุ์ได้ หากมีปริมาณโอโซนสูงมากเกินไปจะก่อให้เกิดเป็นก๊าซพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- หากมีการสัมผัสโอโซนในรูปของของเหลวที่ความเข้มข้นสูงบริเวณดวงตาหรือผิวหนังอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้ไปจนถึงอาการไหม้ที่รุนแรงขึ้นได้
- อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างปวดศีรษะ, แน่นท้อง, ท้องเสีย, คลื่นไส้อาเจียน หรือแน่นหน้าอก เป็นต้น

“โอโซน” เป็นก๊าซที่เกิดได้เองตามธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็สามารถผลิตโอโซนขึ้นมาได้เองโดยใช้อากาศ และไฟฟ้า ยิ่งถ้าใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงก็จะยิ่งได้โอโซนที่มีความเข้มข้นมาก ทำให้โอโซนสามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ ช่วยกำจัดก๊าซพิษ มลพิษต่าง ๆ ในอากาศ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ฆ่าเชื้อโรคได้อย่างดีเยี่ยม และรวดเร็ว โดยที่ไม่มีสารอันตรายตกค้าง

แต่ถึงอย่างนั้น “โอโซน” ก็จัดเป็นก๊าซพิษ ดังนั้น การนำ “โอโซน” มาใช้ไม่ว่าจะเพื่ออะไร ก็มีข้อควรระวัง อย่างไม่ควรใช้ “โอโซน” มากเกินไป เพราะจะกลายเป็นก๊าซพิษได้ “โอโซน” ในรูปแบบของเหลวที่มีความเข้มข้นสูง ถ้าเข้าตาหรือโดนผิวหนัง จะก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ บางคนอาจแพ้แล้วมีอาการข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เป็นต้น


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โอโซนสูดโอโซนOzoneO3วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)