เด็กติดมือถือ ปัญหาอยู่ที่เด็ก หรืออยู่ที่ใคร ?


Insight

25 มิ.ย. 67

ธนบัตร ลิ้มธนสาร

Logo Thai PBS
แชร์

เด็กติดมือถือ ปัญหาอยู่ที่เด็ก หรืออยู่ที่ใคร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1319

เด็กติดมือถือ ปัญหาอยู่ที่เด็ก หรืออยู่ที่ใคร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เด็กติดมือถือ ปัญหาอยู่ที่เด็ก หรืออยู่ที่ใคร ?

ภาพเด็กตัวเล็ก ๆ นั่งจ้องจอมือถือ หรือแทบเล็ตระหว่างกินข้าวตามร้านอาหาร หรือไม่แต่ในบ้าน อาจเป็นภาพที่ชินตาของใครหลายคน แต่หากมองให้ลึกลงไป ภาพนี้อาจจะเป็นภาพที่สะเทือนใจ เพราะมันสามารถเชื่อมโยงถึงชีวิตของเด็กคนนั้น และสังคมในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าการเลี้ยงลูกของแต่ละบ้าน อาจจะมีเหตุและปัจจัยในการเลือกปฏิบัติต่อการใช้เทคโนโลยีแตกต่างกันออกไป การใช้มือถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการเลี้ยงเด็ก อาจง่ายต่อการขอเวลานอกของพ่อแม่ ที่ต้องการพักเบรกจากความเหนื่อยอ่อน หรือได้พักสมองกับการทำในสิ่งที่อยากทำ ได้กินข้าวเงียบ ๆ หรือบางทีอาจจะใช้เป็นเครื่องมือให้เด็กหยุดร้องไห้ได้อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง (ซึ่งไม่ปฏิเสธเลยว่าได้ผลดีนัก) แต่คุณอาจจะนึกไม่ถึงเลยว่า หากคุณทำเช่นนั้นจนเป็นนิสัย และเด็กติดโทรศัพท์ขึ้นมาจริง ๆ จะส่งผลอะไรต่อตัวเด็กในอนาคตได้บ้าง

ผลกระทบของมือถือ และเทคโนโลยี กับเด็กเล็ก 

เด็กอยู่ในช่วงวัยของการเรียนรู้ และการเติบโต พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของร่างกายจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสมอง โดยปกติการทำงานของสมองในช่วงวัยนี้ จะทำงานสอดประสานกันหลายอย่างด้วยการใช้ประสาทสัมผัสผ่านการเล่น เช่นในชั่วโมงศิลปะ เด็กจะสามารถเชื่อมโยงการใช้กล้ามเนื้อมือในการจับดินสอสี ในขณะที่มีการประมวลผลเรื่องสีสันที่แตกต่างกัน และการจัดวางสีสันให้เหมาะสมได้ หรือในช่วงที่เราพาเด็กไปเดินเล่น เด็กจะได้กระโดดโลดเต้นบนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ได้ใช้สายตาในการมองเห็น และวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ รอบกาย ดังนั้นพ่อแม่ควรเป็นตัวกรองข้อมูลที่สำคัญ และจัดกิจกรรมที่น่าสนใจระหว่างวัน เพื่อจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย แต่หากเราให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป และเร็วเกินไป ในช่วงวัยที่เขายังจัดการกับข้อมูลที่ได้รับมาไม่ดีนัก อาจทำให้เกิดผลเสียมากมาย เพราะยิ่งเขาดูหน้าจอนานเท่าไหร่ การทำงานของสมองจะยิ่งทำงานน้อยลงเท่านั้น เพราะการมองจอเพียงอย่างเดียว สมองไม่ได้ต้องประมวลผลอะไรไปมากกว่าการแปลงความหมายของภาพที่มองเห็นเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้พัฒนาการทางร่างกายในด้านต่าง ๆ ลดลงไปด้วย

ผลกระทบของมือถือ และเทคโนโลยี กับวัยรุ่น

ผลกระทบของเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กเล็กเท่านั้น เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจนอยู่ในช่วงวัยรุ่น คุณจะพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมาก เพราะมันจะดึงความสนใจของเด็กตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เขาจะไม่มีสมาธิในการเรียน การตั้งใจจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างจะลดลง เพราะพวกเขาไม่ได้ควบคุมตัวเองได้ดีขนาดนั้นในช่วงวัยนี้ สุดท้ายพวกเขาจะกลายเป็นคนสมาธิสั้น และมีความอดทนต่ำ ที่น่ากลัวที่สุดคือสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงวัยที่เขาเริ่มเข้าสังคม เรียนรู้เรื่องการสื่อสาร และเริ่มตีตัวออกห่างจากพ่อแม่พอดี นั่นแปลว่าคุณจะมีโอกาสชี้แนะถึงประโยชน์ และโทษของเทคโนโลยีให้เขาได้เข้าใจได้น้อยลง หรืออาจจะไม่มีโอกาสนั้นอีกเลยก็เป็นได้

คำถามคือ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง เทคโนโลยี หรือใคร? เรื่องนี้อาจจะต้องลองทบทวนกันดี ๆ อีกครั้ง เพราะถ้าภาพเด็กเล่นมือถือบนโต้ะอาหารที่เรามองเห็นจนชินตา กลับมีพ่อแม่ที่ตั้งหน้าตั้งตาจ้องมือถืออยู่ข้าง ๆ กัน ภาพนั้นอาจจะบอกอะไรเราได้บางอย่าง 

พ่อ แม่ กับการแก้ปัญหาเด็กติดมือถือ

พ่อ แม่ คือโลกทั้งใบของเด็ก การที่ผู้ใหญ่ก็เป็นบุคคลที่ติดมือถือ และไม่รู้เท่าทันในการจัดสรรเวลากับสื่อออนไลน์ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้เช่นกัน เพราะเรากำลังปล่อยให้เทคโนโลยีแย่งความสนใจจากเราออกไปจากพวกเขา เข้าใจดีว่าผู้ใหญ่ก็ต้องการพื้นที่ให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย แต่นั่นกำลังทำให้เด็กจะรู้สึกว่าถูกแย่งความรัก และเป็นจุดเริ่มต้นความอบอุ่นในครอบครัวที่ลดลง เพราะขนาดผู้ใหญ่ที่คิดว่าตัวเองมีวุฒิภาวะยังติดมือถือได้ แล้วเราจะคาดหวังให้เด็กมีวิจารณญาณเรื่องนี้ได้อย่างไร ?

เด็กควรต้องโตออกไปใช้ชีวิต และไม่ได้ใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการจ้องจอ ในฐานะคนเป็นพ่อแม่ จึงปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ เพราะลูกเป็นสิ่งเปราะบางที่พ่อแม่ต้องปกป้องเท่าชีวิต แต่เรากลับให้โอกาสเทคโนโลยีมาทำร้ายลูกเราได้ถึงในห้องนอน ดังนั้นลูก และเทคโนโลยีในมือของลูกเป็นความรับผิดชอบของเราที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจถึงผลเสียในระยะยาว เราจำเป็นต้องจำกัดเวลา และควบคุมการใช้งาน ไปพร้อมกับการให้เวลาเด็กให้มากขึ้น ส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้โลกใบนี้ให้เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อพัฒนาการที่ดี และนำช่วงเวลาที่มีความสุขของครอบครัวกลับคืนมาอีกครั้ง

สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือช่วงเวลาที่เราจะได้อยู่กับเขามันสั้นนัก ใช้ช่วงเวลานี้ให้คุ้มค่าที่สุด เพราะชีวิตของเรา และลูก สามารถออกแบบได้ตั้งแต่วันนี้ และควรทำอย่างระมัดระวัง และมีคุณภาพที่สุด เพื่อชีวิต และอนาคตของลูกต่อไป

สามารถติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจ และร่วมศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อเด็กและครอบครัวแบบละเอียด และเข้าใจมากยิ่งขึ้น กับสารคดีเรื่อง Kids on Tech เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เด็กและเยาวชนครอบครัวโทรศัพท์มือถือเทคโนโลยีสุขภาพจิตสุขภาพการเลี้ยงลูกปัญหาวัยรุ่นวัยรุ่นปัญหาครอบครัว
ธนบัตร ลิ้มธนสาร
ผู้เขียน: ธนบัตร ลิ้มธนสาร

RadioMan ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของวิทยุ เพลง 90 และการเดินทาง

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด