ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Gender Binary กรอบการแบ่งเพศแบบหญิง-ชายที่ทำร้ายคนทุกเพศ


Lifestyle

19 มิ.ย. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

Gender Binary กรอบการแบ่งเพศแบบหญิง-ชายที่ทำร้ายคนทุกเพศ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1303

Gender Binary กรอบการแบ่งเพศแบบหญิง-ชายที่ทำร้ายคนทุกเพศ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เคยเป็นมั้ย…แม้คุณจะเป็นผู้ชาย ในสายตาของทุกคนบนโลก แต่คุณก็ชอบเล่นตุ๊กตา เล่นเปิดร้านขายของ ชอบทาลิปสติกของแม่กับพี่สาว และอยากไว้ผมยาว ๆ เพื่อทำสีผม

เคยมั้ย…ที่แม้ร่างกายคุณจะเป็นผู้หญิง แต่คุณก็ชอบศิลปะการต่อสู้ ชอบใส่กางเกง และคุณก็โคตรชอบตัวเองตอนตัดผมสั้นเหมือนผู้ชาย

และเคยมั้ย…ที่รู้ว่าตัวเองน่าจะมีความสุขมากแค่ไหน กับการได้ใช้ชีวิตในแบบที่ชอบ แต่ก็ต้องเก็บมันเอาไว้ข้างใน ไม่กล้าเป็นตัวเอง เพราะไม่อยากให้ใครมองคุณเป็นตัวประหลาด

Thai PBS อยากบอกว่าเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคม มันยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ (ไม่) ดับไป อันเป็นผลมาจาก Gender Binary หรือการมองเพศแบบทวิลักษณ์ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย

Gender Binary คืออะไร ?

อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด เรามาเริ่มทำความเข้าใจที่รากศัพท์ของคำว่า ‘Binary’ (ไบนารี) กันก่อน

Binary (ไบนารี) หรือกรอบการแบ่งเพศแบบทวิลักษณ์ คือระบบความเข้าใจที่ทำงานด้วยการแบ่งทุกอย่างบนโลกออกเป็นสองขั้ว ที่ตรงข้ามและแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง  เช่น ทิศซ้าย-ทิศขวา, ด้านหน้า-ด้านหลัง, สีขาว-สีดำ, ความดี-ความเลว เป็นต้น ซึ่งพอเราเติมคำว่า Gender หรือเพศเข้าไปข้างหน้า มันจึงแปลว่าการแบ่งเพศออกเป็น 2 ขั้ว คือ “ไม่เป็นชาย ก็ต้องเป็นหญิง” เท่านั้น 

ซึ่งว่ากันว่า การแบ่งเพศออกเป็น 2 ขั้ว อาจจะเกิดก่อนพวกเราลืมตาดูโลกด้วยซ้ำไป  

อลก เวด เมนอน (Alok Vaid-Menon) ผู้เขียนหนังสือ Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน เคยกล่าวถึงต้นกำเนิดของการแบ่งเพศออกเป็น 2 ขั้ว ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ตอนเรายังอยู่ในท้อง บรรดาญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลายจะเข้ามาถามด้วยความคาดหวังว่า “เป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง” ราวกับว่าเด็กในท้องจะมีเลือดเนื้อเชื้อไขขึ้นมาจริง ๆ ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้ว่าเด็กในท้องเป็นเพศอะไร และการที่เด็กถูกจำแนกออกเป็น 2 เพศ โดยอัตโนมัติ ย่อมส่งผลต่อวิธีการเลี้ยงดูในทุก ๆ มิติของชีวิต ตาม ‘คำเรียกเพศ’ ที่เราไม่ได้เป็นคนเรียกเองตั้งแต่เกิด

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ต่างจากการตีกรอบนิสัยและรสนิยมของคนทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือแม้แต่ LGBTQIAN+ เอง และเป็นที่มาของประโยคหลาย ๆ อัน ว่าด้วยบทบาทความเป็นชาย-หญิง ที่เรานั่งฟังแล้วก็ได้แต่คิดว่า ‘อิหยังวะ’ 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายห้ามร้องไห้ หรือแสดงความอ่อนไหวให้ใครเห็น ส่วนผู้หญิงต้องทำตัวเรียบร้อยอ่อนหวาน ปรนนิบัติพัดวีสามี กราบผัวทุกวัน 3 เวลาหลังอาหาร ฯลฯ ในขณะที่ชายรักชายบางคน ต้องพยายามคีพคาแรคเตอร์ให้มาดแมนอยู่เสมอ จะได้สมกับการเป็น ‘ฝ่ายรุก’ ตามบทบาทบนเตียง  ห้ามออกสาวหรือวี้ดว้ายแบบ ‘ฝ่ายรับ’ ซึ่งจะมีความเฟมินีนมากกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รสนิยมทางเพศควรแยกออกจากนิสัยในชีวิตจริงหรือบทบาทบนเตียง ไม่ควรปล่อยให้คำนิยามต่าง ๆ ที่ผูกติดนิสัยไว้กับเครื่องเพศ กลายเป็นเรื่องที่กดทับความลื่นไหลและความหลากหลายในตัวเรา

ดังนั้น ปัญหาที่เห็นได้ชัดที่สุดของการยึดมั่นถือมั่นในไบนารี ก็คือการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งขั้วแบ่งฝ่าย โดยมองข้ามความหลากหลายในสังคม ซึ่งมีอยู่จริง และไม่สามารถจำแนกออกเป็น 2 ขั้วตายตัวได้ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนเป็นคนดีหรือเลวไปซะหมด ในขณะเดียวกัน การเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายใด จุดมุ่งหมายหนึ่ง ก็ไม่สามารถขับรถเลี้ยวซ้าย-ขวา ไปเรื่อย ๆ ได้ มันคงต้องมีการขับตรงไปข้างหน้าบ้าง เพราะไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี หรือเพราะมันเป็นจุดหมายแห่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเลย 

เมื่อ “เพศ” บนสูติบัตร กลายเป็นอำนาจรัฐที่ตีกรอบความเป็นตัวเรา

ใครจะรู้ว่า “เพศ” ที่อยู่บนสูติบัตร ส่งผลต่อชีวิตเราโดยตรงผ่านการบังคับใช้กฎหมาย ข้อบังคับระดับท้องถิ่น กฎหมายมลรัฐ ไปจนถึงเอกสารระดับประเทศ เช่น การจดทะเบียนสมรส การรับสมัครทหารเกณฑ์ หรือการกำหนดบทบาทของสมาชิกในครอบครัว ที่พ่อต้องเป็นผู้ชาย และแม่ต้องเป็นผู้หญิง ซึ่งในบางครั้งก็เป็นข้อกำหนดที่ลิดรอนสิทธิของผู้ที่ปฏิเสธการแบ่งเพศออกเป็นขั้วชาย-หญิงไปในตัวด้วย

ยกตัวอย่างเช่น รัฐดาโกตา มีความพยายามจะแบนนักกีฬาข้ามเพศในระดับชั้นมัธยมปลาย, รัฐเทนนิสซี ซึ่งออกประกาศห้ามไม่ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ใช้พื้นที่สาธารณะอย่างทางด่วน หรือที่จอดรถร่วมกับคนอื่น ๆ รวมถึงรัฐเท็กซัส ซึ่งมีการมอบเงินรางวัลให้คนที่พบหญิงหรือชายข้ามเพศเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อห้ามทางกฎหมายที่รัฐเป็นผู้กำหนด พร้อมจะกลายเป็น “ข้ออ้างอันชอบธรรม” ให้กลุ่มคนบางประเภท ใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิ LGBTQIAN+ ด้วยเหตุผลว่า “สิ่งที่พวกเขาเป็นมันผิดกฎหมาย และเราไม่ควรให้ค่าคนที่ทำผิด” ทั้งที่ในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ในแบบที่ตัวเองคิดและเชื่อมั่น ไม่ว่าคน ๆ นั้น จะเป็นนักโทษในคุกหรือนักบุญในโบสถ์ก็ตาม

Gender Binary กับปัญหาความรุนแรงทางเพศ

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยตัวเลขสถิติว่า ในแต่ละวันมีผู้หญิงต้องเสียชีวิตไปโดยเฉลี่ย 137 คนทั่วโลก เหตุเพราะถูกคนรักหรือคนในครอบครัวสังหาร โดยภูมิภาคเอเชียมีเหตุฆาตกรรมในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย พบว่าทุกวันมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิงไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน ถึงแม้สถิติที่เข้าแจ้งความกับตำรวจจะสูงแล้ว แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังระบุว่าความรุนแรงทางเพศในไทยไม่ได้มีการรายงานไว้เป็นจำนวนมาก (Under report) เพราะเหยื่อไม่กล้าแจ้งความด้วยความอับอาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง อันเกิดจากบริบททางสังคมหรือวัฒนธรรมของสังคมไทย ยิ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงทางเพศในไทยนั้น ‘รุนแรง’ กว่าที่เห็นในรายงานแบบเป็นทางการเยอะมาก

บางส่วนของบทวิเคราะห์ “ความรุนแรงทางเพศ: บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ” จากรายงานสืบเนื่องการสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสการสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 65 ระบุว่า ส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางเพศ มีรากเหง้าของปัญหาจากความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) ที่ผู้กระทำรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นผู้หญิง จากสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศในหลายกรณีผู้หญิงมักไม่กล้าขัดขืน เพราะตกอยู่ในการควบคุมของผู้ชาย เรื่องบทบาทของผู้หญิงตลอดจนการถูกบังคับข่มขู่ด้วยเงื่อนไขเชิงอำนาจ ความรุนแรงทางเพศจึงไม่ได้หมายถึงการต่อสู้ ขัดขืน จนเกิดการบาดเจ็บ แต่ยังหมายถึงการใช้อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันมาบีบบังคับกัน จนเกี่ยวกับการเกิดความรุนแรงทางเพศ เช่น การที่สามีข่มขืนภรรยา หรือการที่ผู้ชายข่มขืนแฟนของตนเอง เป็นต้น 

ผลกระทบจาก Gender Binary ต่อ LGBTQIAN+

อย่างไรก็ตาม สถิติความรุนแรงในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIAN+ เกิดขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับเพศหญิงและเพศชาย

โดยหญิงรักหญิง 43.8% และผู้หญิงข้ามเพศ 61.1% เคยถูกข่มขืน ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย หรือถูกคนรักแอบสะกดรอยตาม เมื่อเทียบกับเพศหญิง ในขณะที่ผู้ชายซึ่งมีรสนิยมทางเพศเป็นไบเซ็กชวล 37.3% เคยถูกข่มขืน ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย เมื่อเทียบกับเพศชาย หรือถูกขู่ว่าจะเปิดเผยรสนิยมทางเพศ ถ้าหันไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ

ที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งปัจจัยที่ยิ่งกดทับความไม่เท่าเทียมของ LGBTQIAN+ ซึ่งเป็นผู้อยู่ต่ำสุดในห่วงโซ่อาหาร ก็คือสีผิวและเชื้อชาติ โดยคนผิวดำ เชื้อชาติแอฟริกัน  มีแนวโน้มที่จะถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากคนรักมากกว่าคนผิวขาว เชื้อชาติอเมริกัน ทั้งหมดนี้คือการถูกกดทับจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ อันเกิดจากบริบททางสังคม ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเราจะมองที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า 

ถึงเวลาทำลายขีดจำกัดเดิม ๆ  เพราะ “โลกใบนี้ ไม่ได้มีแค่ 2 เพศ”

จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงทำให้คุณได้มองเห็น ‘ภาพใหญ่’ จากการแบ่งเพศออกเป็นเพศหญิงและเพศชายขั้วหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถทำร้ายคนได้ทุกเพศจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางวาจาหรือจิตใจ

แต่อย่างน้อย บนโลกที่ไม่เคยมีอะไรเป็นของเราเลยใบนี้ ก็ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ และเพศภาวะอีกมากมาย ที่รอให้เราเปิดใจโอบรับมันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ให้ความหลากหลายทั้งหมดได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ยืนยันการคงอยู่ของมนุษย์ เช่นเดียวกับชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้ ซึ่งล้วนมีความหลากหลายซ่อนตัวอยู่เช่นเดียวกัน 

ขอบคุณอ้างอิงข้อมูลจาก : หนังสือ Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน, The National Coalition Against Domestic Violence และรายงานสืบเนื่องการสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสการสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ปีที่ 65 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

LGBTQIAN+ความหลากหลายทางเพศการกำหนดบทบาททางเพศบทบาททางเพศGender Binary
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด