ทำไม NASA ถึงต้องการส่งยานอวกาศไปศึกษาดาวเคราะห์น้อยประเภทโลหะที่อยู่ห่างไกล ทำความรู้จักดาวเคราะห์น้อย 16 ไซคี (16 Psyche) ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายของยานอวกาศไซคี
ดาวเคราะห์น้อย 16 ไซคี (16 Psyche) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบโดย Annibale de Gasparis นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1852 เขาได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยที่เขาได้ค้นพบในวันนั้นว่า ไซคี (Psyche) เทพีแห่งวิญญาณของกรีกซึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์และแต่งงานกับอีรอส (Eros หรือเทพคิวพิดของโรมัน) เทพเจ้าแห่งความรัก เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบเป็นดวงที่ 16 จึงมักเรียกกันว่า 16 ไซคี
ไซคีเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์น้อยประเภทโลหะ รูปร่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เหมือนกับมันฝรั่ง มีพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอ คล้ายกับทรงวงรีที่บี้แบน มีความยาวประมาณ 280 กิโลเมตร มันมีวงโคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ระหว่าง 378–497 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ 2.5 ถึง 3.3 หน่วยดาราศาสตร์ (Astronomical Unit หรือ AU) โดยที่ 1 หน่วยดาราศาสตร์ คือระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ไซคีใช้เวลาประมาณ 5 ปีบนโลกในการโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ แต่ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงในการหมุนรอบตัวเองหนึ่งครั้ง
เราเพิ่งแยกประเภทของดาวเคราะห์น้อยไซคีให้อยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยประเภทโลหะเมื่อไม่นานมานี้ข้อมูลล่าสุดระบุว่าดาวเคราะห์น้อยนี้อาจมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโลหะและซิลิเกต น่าจะมีโลหะผสมในตัวเนื้อดาวเคราะห์น้อย 30-60% ซึ่งทราบผ่านการสังเกตการณ์ด้วยเรดาร์และการวัดความเฉื่อยทางความร้อนของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นการวัดอัตราเร็วในการดูดซับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์และแผ่รังสีความร้อนออกสู่อวกาศ
ไซคีเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับการสำรวจ เพราะมันเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทโลหะ และในตอนนี้เราก็มีองค์ความรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยโลหะที่น้อยมาก ดังนั้น NASA จึงส่งภารกิจยานอวกาศไซคีเพื่อไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยประเภทโลหะเพิ่มเติม ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอดีตของไซคีว่า เหตุใดไซคีถึงเป็นวัตถุที่หลงเหลือจากช่วงเวลาที่ระบบสุริยะของเราก่อกำเนิด มันยังช่วยไขข้องสงสัยเกี่ยวกับแกนกลางของโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้ด้วยว่าแกนกลางของดาวเคราะห์เป็นวัสดุอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมไปถึงเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยโลหะเพื่อการทำเหมืองขุดแร่โลหะหายากบนดาวเคราะห์น้อยในอนาคต และการปกป้องโลกจากภัยคุกคามของดาวเคราะห์น้อย
ภารกิจของยานอวกาศไซคีในการสำรวจดาวเคราะห์น้อยไซคีหลัก ๆ คือการทำแผนที่สามมิติของพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยและใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุภายในและบนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยไซคี เพื่อทำการศึกษาว่าดาวเคราะห์น้อยไซคีเคยเกือบที่จะเป็นดาวเคราะห์ต้นกำเนิดของดาวเคราะห์อีกดวงในระบบสุริยะของเราหรือไม่
ยานอวกาศไซคีทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2023 โดยที่มีกำหนดเดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยไซคีในช่วงปี 2029 มันจะใช้เวลาในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยไซคีเป็นระยะเวลา 2 ปีเพื่อศึกษาดาวเคราะห์น้อยอย่างละเอียด ในภารกิจนี้จะไม่ได้มีการส่งตัวอย่างชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยไซคีกลับมายังโลกเหมือนกับภารกิจอื่น ๆ ก่อนหน้า เช่น OSIRIS-REx หรือ Hayabusa เนื่องจากคาดว่าดาวเคราะห์น้อยมีพื้นผิวเป็นโลหะ
นอกจากนี้ยานอวกาศไซคียังทำหน้าที่ในการพิสูจน์เทคโนโลยีการส่งข้อมูลระยะไกลผ่านคลื่นอินฟราเรด ซึ่งจะสามารถส่งข้อมูลปริมาณมากกลับโลกได้เร็วกว่าการใช้คลื่นวิทยุ จากการทดลองในตอนนี้ ยานไซคีสามารถส่งข้อมูลปริมาณมากถ่ายทอดสดวิดีโอแมวจากอวกาศกลับมายังโลกได้ดังที่เคยมีข่าวในก่อนหน้านี้ นับว่าเป็นการทดลองส่งข้อมูลด้วยอินฟราเรดจากอวกาศไกลเป็นครั้งแรก
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech