รู้จัก “Glass Cockpit” จากเข็มวัดสู่หน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัล


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “Glass Cockpit” จากเข็มวัดสู่หน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1276

รู้จัก “Glass Cockpit” จากเข็มวัดสู่หน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“Glass Cockpit” หากแปลตรงตัวก็คือ “ห้องนักบินที่เป็นกระจก” แต่ความหมายจริง ๆ แล้ว คือ ห้องนักบินที่เต็มไปด้วยจอแสดงผลแทนที่จะเป็นเข็มวัดหลาย ๆ อัน เหตุใดจึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานสำหรับการออกแบบเครื่องบินในปัจจุบัน

การเปลี่ยนผ่านจากเข็มวัดมาเป็นจอแสดงผลก็คล้ายกับการที่เข็มวัดความเร็วในรถยนต์นั้นเปลี่ยนมาเป็นการแสดงผลด้วยจอแสดงผลแทน

ห้องนักบินเครื่องบิน C-5A ซึ่งใช้เข็มวัดแอนะล็อกในการแสดงผล

ในยุคเริ่มแรกของการบินพาณิชย์นั้น การแสดงผลค่าต่าง ๆ ของเครื่องบิน เช่น ความเร็ว ความสูง นั้นทำได้ด้วยการใช้เข็มวัดแบบแอนะล็อกเนื่องจากมีความซับซ้อนน้อยและมีต้นทุนที่ต่ำ รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการช่วยการแสดงผลซึ่งในสมัยนั้นมีต้นทุนที่สูงมาก และไม่ได้มีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับระบบแอนะล็อก ทำให้การออกแบบเครื่องบินในสมัยนั้นใช้เข็มวัดแอนะล็อกเป็นหลัก

ห้องนักบินเครื่องบิน C-5M ซึ่งถูกอัปเกรดมาเป็น Glass Cockpit

เมื่อยุคสมัยผ่านไป เครื่องบินเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีเครื่องยนต์ที่มากขึ้น มีระบบที่ต้องแสดงผลมากขึ้น เช่น ระบบอัดอากาศ ระบบหมุนเวียนอากาศ สำหรับห้องโดยสาร ทำให้มีระบบแยกย่อยที่ลูกเรือต้องคอยดูแลมากขึ้น เข็มวัดแอนะล็อกเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ข้อจำกัดของเข็มวัดแบบแอนะล็อกก็ค่อย ๆ เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือ เข็มวัดหนึ่งอันนั้นใช้แสดงผลได้แค่ค่าเดียว เข็มวัดความเร็วนั้นก็ใช้วัดได้แค่ความเร็วอย่างเดียว ไม่สามารถสลับไปดูค่าความสูงได้ นั่นทำให้ห้องนักบินของเครื่องบินขนาดใหญ่ที่มีค่าที่ต้องวัดนับร้อย เต็มไปด้วยเข็มวัดต่าง ๆ มากมาย

จนถึงจุดหนึ่งที่ห้องนักบินจะต้องมีลูกเรือเพิ่มอีกคนซึ่งเรียกว่า “วิศวกรการบิน” หรือ “Flight Engineer” ซึ่งมีหน้าที่ดูเข็มวัดเหล่านี้ที่ล้นออกมาจากที่นักบินสองคนสามารถดูแลได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ที่หน้าปัดนักบินจะมีเข็มวัดเยอะเกินไปจนไม่สามารถดูได้อย่างทั่วถึง

เข็มวัดความสูงแบบ 3 เข็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในการออกแบบที่เสี่ยงต่อการอ่านผิด

เมื่อต้นทุนการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์และหน้าจอแสดงผลลดลง เครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ ก็เริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์และจอแสดงผลมาใช้งาน เริ่มด้วยการนำมาใช้สำหรับแสดงผลเพียงบางค่า ในขณะที่ค่าบางอย่างก็ยังแสดงผลด้วยเข็มแอนะล็อกเป็นหลักอยู่ เช่น ความเร็ว หรือ ความสูง

นอกจากเรื่องต้นทุนและพื้นที่แสดงผลในห้องนักบินแล้ว อุบัติเหตุทางการบินหลายอย่างเริ่มเกิดขึ้นจากการที่เข็มวัดแอนะล็อกเหล่านี้สร้างความเข้าใจผิดให้กับนักบิน หรือมีวิธีในการอ่านที่ซับซ้อนเกินไป ทำให้นักบินอ่านและแปลผลพลาดและนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด

ในรูปนี้คือเข็มวัดความสูงแบบ 3 เข็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในดีไซน์เข็มวัดความสูงที่เสี่ยงต่อการอ่านผิดมากที่สุดและเคยนำไปสู่อุบัติเหตุเครื่องบินตกมาแล้ว ในตัวอย่างนี้เข็มอ่านความสูงได้ที่ 10,180 ฟุต โดยที่เข็มยาวสุดคือหลักหมื่น เข็มสั้นรองลงมาคือหลักร้อย และเข็มที่สั้นที่สุดคือหลักพัน ซึ่งถือเป็นวิธีการอ่านที่แปลก ๆ และหากอ่านผ่าน ๆ อาจอ่านพลาดเข็มยาวที่สุดได้ ทำให้อ่านค่าคลาดเคลื่อนได้ถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว  

ห้องนักบินเครื่องบิน Boeing 787 ซึ่งเป็น Glass Cockpit โดยสมบูรณ์

ในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีทุกอย่างพร้อมแล้ว เข็มอ่านทั้งหมดเหล่านี้้จึงถูกรวมศูนย์ไว้ในหน้าจอหลาย ๆ จอ ซึ่งหน้าจอหนึ่งจอสามารถสลับไปแสดงผลค่าอย่างอื่นได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตามเครื่องบินสมัยใหม่บางลำที่ถูกใช้งานอยู่ เช่น Airbus A320 ซึ่งผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1986 เป็นต้นมา ยังมีการผสมระหว่างหน้าจอแสดงผลและเข็มวัดแบบแอนะล็อกอยู่ ในเครื่องบินออกแบบใหม่ล่าสุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น Boeing 787 หรือ Airbus A380 เท่านั้นที่แทบไม่มีเข็มวัดแบบแอนะล็อกเหลืออยู่แล้ว และแสดงผลเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด

เรียบเรียงโดย : โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ห้องนักบินGlass Cockpitเครื่องบินเทคโนโลยีTechnologyนวัตกรรมInnovationThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด