ตัวอะไรกำลังย่อย “เรือไททานิก”


Logo Thai PBS
แชร์

ตัวอะไรกำลังย่อย “เรือไททานิก”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1673

ตัวอะไรกำลังย่อย “เรือไททานิก”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 ซาก “เรือไททานิก” ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลจะหายสาบสูญไป ทำให้เกิดคำถามว่าตัวอะไรกินหรือย่อยเรือไททานิกอยู่ แล้วทำไมเรือไม้โบราณอายุนับพันปีหลาย ๆ ลำกลับไม่ถูกย่อย

ภาพถ่ายของเรือไททานิกจากบริเวณ Cobh harbour ในประเทศอังกฤษ ในเที่ยวการเดินทางแรกและเที่ยวสุดท้ายของเรือ

เรือไททานิกจมลงเมื่อ 15 เมษายน 1912 ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกความลึกมากกว่า 3,800 เมตร ซึ่งมีการค้นพบซากของเรือไททานิกครั้งแรกในปี 1985 จากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าซากของเรือไททานิกกำลังค่อย ๆ สูญสลายไปจากก้นมหาสมุทรด้วยอัตราที่รวดเร็วจนน่าใจหาย และนักวิชาการส่วนหนึ่งคาดว่า ด้วยอัตราการสลายตัวของซากเรือไททานิก มันจะหายไปจากก้นมหาสมุทรภายในปี 2050 ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่ถึง 200 ปีหลังจากการจม

ทำให้เกิดมาซึ่งคำถามว่าอะไรกำลังย่อยสลายซากเรือไททานิกที่ทำจากเหล็ก แล้วทำไมเรือไม้โบราณอายุนับพันปีอย่างเรือโบราณพนม-สุรินทร์ ที่พบในจังหวัดสมุทรสาคร มีอายุมากกว่า 1,300 ปี กลับไม่ถูกย่อยสลายหายไปเหมือนกับเรือไททานิก

ผู้ที่ย่อยสลายทั้งซากเรือไททานิกและเรือไม้โบราณคือ สิ่งมีชีวิต ส่วนปัจจัยว่าเรือลำไหนจะอยู่รอดได้นานกว่ากันนั้นคือปริมาณออกซิเจนในพื้นที่ที่มันจม

ภาพถ่ายสนิมย้อยภายในเรือในส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กของซากเรือไททานิก ซึ่งเกิดจากการกัดกินของเชื้อราใต้ท้องทะเลลึก ภาพถ่ายโดย NOAA

เราจะเห็นได้ว่าหากเรือไม้จมลงในพื้นที่น้ำตื้นซึ่งอุดมไปด้วยออกซิเจน เรือลำนั้นจะอาจจะอยู่ได้ไม่นานก่อนที่จะสูญสลายไป เพราะสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพรียงเรือ (shipworm) หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างแบคทีเรียก็พร้อมเข้ามาใช้ซากเรือเป็นทั้งแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย แต่หากเป็นเรือโลหะที่จมลงในน้ำตื้นเราจะเห็นได้ว่าตัวเรือแทบไม่ถูกย่อยสลายลงเลยเพราะว่าในพื้นที่น้ำตื้นไม่ได้มีสิ่งมีชีวิตที่สามารถย่อยสลายโลหะมากเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่ย่อยสลายสารอินทรีย์อย่างเช่น ไม้

แต่กลับกันในพื้นที่ที่เป็นน้ำลึกและมีปริมาณออกซิเจนน้อย เรื่องราวทั้งหมดจะกลับกันทันที เรือที่ทำจากไม้กลับสามารถคงสภาพของซากเรือได้นานกว่าเรือโลหะอย่างไททานิก เป็นเพราะว่าที่ใต้ทะเลลึกสิ่งมีชีวิตที่ย่อยสลายเนื้อไม้ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ยังไม่รวมการที่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ทะเลลึกไม่เคยพบเห็นไม้มาก่อน มันจึงไม่รู้ว่ามันจะต้องย่อยสลายไม้เพื่อนำมาเป็นพลังงานอย่างไร แต่กลับกันสิ่งมีชีวิตเหล่านี้คุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นโลหะมากกว่า เพราะที่ใต้ทะเลลึกอย่างก้นมหาสมุทรมีปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลที่พวยพุ่งเถ้าถ่านและลาวาที่มาจากเนื้อในของโลก ซึ่งมีส่วนประกอบของโลหะ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ทะเลลึกจึงคุ้นเคยและวิวัฒนาการให้มีกระบวนการในการแปรเปลี่ยนโลหะมาเป็นพลังงานในการดำรงชีวิต

ภาพถ่ายซากเรือไททานิกบริเวณหน้าเรือ โดยภาพถ่ายนี้ถูกถ่ายเมื่อการสำรวจในปี 2004 ภาพโดย NOAA

เมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อเรือไททานิกจมลงสู่ใต้มหาสมุทรลึก เรือไททานิกจึงกลายเป็นโต๊ะบุฟเฟต์ขนาดใหญ่ให้กับสิ่งมีชีวิตที่ย่อยสลายโลหะเป็นพลังงาน เกิดเป็นโครงสร้างแปลกประหลาดคล้ายหินงอกหินย้อยที่เกิดจากการย่อยสลายเนื้อโลหะของสิ่งมีชีวิต และเราสามารถเห็นได้ว่าวัสดุอื่น ๆ เช่น รองเท้าหนังของผู้โดยสาร หรือแม้แต่หนังสือและใบเมนูอาหารบนเรือไม่ถูกย่อยสลาย ก็เป็นเพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกตัวไหนกินของเหล่านี้

และนั่นทำให้ในใต้ทะเลลึกที่ปราศจากออกซิเจน เรือที่ทำจากวัสดุไม้ทนทานกว่าเรือที่ทำจากโลหะหลาย ๆ ลำ กลับกันเรือโบราณพนม-สุรินทร์ที่มีอายุมากกว่า 1,300 ปี ถึงจะจมในน้ำตื้น แต่ว่าการจมของมันตัวเรือถูกฝังกลบลงไปในโคลนและปราศจากออกซิเจน จึงไม่ถูกย่อยสลายและทำให้โครงเรือที่ทำจากไม้คงสภาพของมันได้อย่างดี ควรค่าแก่ขุดค้นและศึกษาในทางโบราณคดีต่อไป

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรือไททานิกวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด