“ทะเลสาบ” เปรียบเสมือนกับแก้วน้ำที่บรรจุน้ำปริมาณมากไว้อยู่ ถึงแม้ทะเลสาบจะมีปริมาณน้ำมหาศาล แต่หากไม่มีน้ำมาเติมเต็ม ทะเลสาบก็ย่อมเหือดแห้งไปอยู่ดี แล้วน้ำในทะเลสาบมาจากไหน
จุดเริ่มต้นของทะเลสาบปิดนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ทะเลสาบปิดสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การโค้งตวัดของแม่น้ำ พื้นที่น้ำท่วมขัง หลุมจากการขุดเหมือง หลุมยุบ ไปจนถึงการพุ่งชนของอุกกาบาต ซึ่งหลาย ๆ ครั้งหลุมเหล่านั้นไม่ได้มีน้ำอยู่ที่ก้นหลุมมาตั้งแต่แรก แต่ถูกน้ำมาเติมเต็มในภายหลังทั้งจากน้ำฝน น้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก เช่น ทะเลสาบ Cheko ทะเลสาบในไซบีเรีย ซึ่งต้นกำเนิดของทะเลสาบนี้เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อปี 1908 และหลังจากนั้นในปี 1961 ได้มีน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 5,000 ปีในพื้นที่ของไซบีเรีย ทำให้น้ำล้นจากแม่น้ำ Podkamennaya Tunguska เข้าไปในหลุมอุกกาบาตและเกิดเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่
ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของน้ำภายในทะเลสาบอาจจะแตกต่างกัน แต่ว่าทะเลสาบทุกแห่งต้องมีแหล่งน้ำที่มาเติมเต็มมันอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบเปิดหรือทะเลสาบปิด ตามปกติแล้วแหล่งน้ำที่มาเติมเต็มทะเลสาบปิดคือน้ำฝน แต่ทะเลสาบหลายแห่งที่อยู่ใกล้แม่น้ำหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ อาจได้รับน้ำเติมเต็มมาจากเส้นทางน้ำใต้ดินที่ไหลมาเติมเต็ม เช่น ทะเลสาบเกือกม้าที่เกิดจากการตวัดของแม่น้ำโบราณ ถึงแม้มันจะถูกตัดขาดจากแม่น้ำที่เคยกำเนิดมันเมื่อนานมาแล้ว แต่ทะเลสาบเหล่านี้ยังได้รับการเติมเต็มจากน้ำใต้ดินที่ซึมผ่านมาจากแม่น้ำ
ต่อให้ไม่มีน้ำมาเติมเต็ม ทะเลสาบก็อาจจะสามารถคงอยู่ได้เพราะปริมาณน้ำในทะเลสาบแต่ละแห่งที่เราพบเห็นนั้นมีปริมาณที่มากมายมหาศาล เช่นทะเลสาบ Superior หากแม้ปราศจากน้ำที่เติมเต็มทะเลสาบ ทะเลสาบก็จะยังคงอยู่ได้อีกราว 30 ปีน้ำจึงจะเหือดแห้งไปจนหมด
และถึงแม้ทะเลสาบจะไม่มีแหล่งน้ำมาเติมเต็มหลายร้อยหลายพันปี บางทีน้ำในทะเลสาบนั้นก็สามารถคงอยู่ได้ เช่นทะเลสาบ Vostok ในแอนตาร์กติกา ทะเลสาบน้ำจืดนี้ไม่มีแหล่งน้ำมาเติมเต็มตัวทะเลสาบมาร่วม 25 ล้านปีแล้ว ซึ่งในปี 2013 ได้มีการขุดชั้นน้ำแข็งลงไปลึกกว่า 3,406 เมตรเพื่อศึกษาน้ำภายในทะเลสาบแห่งนี้ ณ ขณะนี้ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าการขุดน้ำแข็งลงไปศึกษาทะเลสาบแห่งนี้เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ เพราะในทะเลสาบที่ตัดขาดจากโลกภายนอกถึง 25 ล้านปีนั้นอาจจะยังคงมีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่และมีระบบนิเวศนที่ซับซ้อนและเปราะบาง และอาจจะถูกทำลายลงเพราะสิ่งมีชีวิตที่เกาะมาพร้อมกับหัวเครื่องขุดเจาะของมนุษย์
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech