เพราะเรื่อง “เพศสภาพ” ในปัจจุบันเปิดกว้าง นำมาซึ่งวิวัฒนาการและเทคโนโลยีด้านเพศที่ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะ “การผ่าตัดแปลงเพศ” ที่มีองค์ความรู้พัฒนามากขึ้น
แต่การผ่าตัดแปลงเพศ มีเรื่องที่พึงตระหนัก ทั้งทางกายภาพ ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ที่ต้องรู้ Thai PBS ชวนทำความเข้าใจสิทธิการแปลงเพศอย่างรอบด้าน แปลงเพศฟรีมีหรือไม่ ? ใช้สิทธิ์ได้ในกรณีไหน ? และกรณีแบบใดที่จำเป็นต้องมีการแปลงเพศ ตลอดจนข้อควรระวังที่ทำให้การแปลงเพศมีความปลอดภัย
การผ่าตัดแปลงเพศคืออะไร ?
การผ่าตัดแปลงเพศ คือการเปลี่ยนอวัยวะเพศของคน ๆ หนึ่ง โดยจุดประสงค์คือการเปลี่ยนเพศของร่างกายให้ตรงกับความต้องการของบุคคล การผ่าตัดจึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ หรือ Gender Affirmation Surgery”
โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดเกิดขึ้นในกลุ่ม Transgender (Trans) หรือกลุ่มคนข้ามเพศ ทว่ากว่าจะถึงการผ่าตัดแปลงเพศ มีขั้นตอนมากมาย การผ่าตัดแปลงเพศอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคนข้ามเพศทุกคน
ความจำเป็นของการผ่าตัดแปลงเพศ มีแบบไหนบ้าง ?
กรณีหนึ่งที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแปลงเพศ คือการเกิดมามี “ภาวะเพศกำกวม” หรือมีลักษณะ 2 เพศในคนเดียว เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ซึ่งโดยมากจะยึดจากการตรวจโครโมโซม การผ่าตัดอวัยวะเพศ เพื่อความเหมาะสมกับเพศของผู้ป่วยจึงนับเป็นสิ่งจำเป็น ในประเทศไทยให้สิทธิ์บัตรทองหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการเบิกจ่ายได้
ขณะที่การแปลงเพศในกลุ่มคนข้ามเพศ ความจำเป็นในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์เช่นกัน เนื่องจากการแปลงเพศส่งผลกระทบสูงมากกับการใช้ชีวิตในระยะยาว ทั้งความสามารถในการมีลูกที่เปลี่ยนไป ผลกระทบทางสุขภาพ การผ่าตัดต่อเนื่องอื่น ๆ ที่ตามมา รวมถึงการใช้ยาและเทคฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
คนข้ามเพศไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศเสมอไป
การเปลี่ยนเพศในกลุ่มคนข้ามเพศ ที่มีภาวะเพศกำเนิดไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรูปลักษณ์ที่ตัวเองอยากจะเป็นนั้น มีด้วยกันหลายระดับ การผ่าตัดแปลงเพศจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป
เพราะรูปลักษณ์ภายนอกขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ดังนั้น คนข้ามเพศบางคนอาจ “พอใจ” กับชีวิต โดยใช้การแต่งตัว แต่งหน้าทำผมตามเพศสภาพของตนเอง หรือผ่าตัดในลักษณะของการศัลยกรรมตกแต่ง ดูดไขมันบางส่วนของร่างกาย เทคฮอร์โมนหรือรับประทานยาสำหรับแปลงเพศ ก็เพียงพอและมีความสุขกับชีวิตได้
สิทธิการแปลงเพศเป็นอย่างไร ?
“การแปลงเพศ” ในทางการแพทย์จะเรียกว่า “การรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพ” (Gender-affirming care) ในมุมนี้เพศสภาพ (Gender) ที่หลากหลายจะไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรืออาการป่วย แต่ถือเป็นความหลากหลายที่พบได้ทั่วไปในมนุษย์
การใช้คำว่ารักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพ คือการรักษาภาวะของการที่เพศกำเนิด (Biological Sex) ไม่ตรงกับเพศสภาพ (Gender) ที่คนนั้น ๆ เป็นนั่นเอง
และหากไม่ได้รับการรักษาอาจความทุกข์ใจอย่างมากที่เรียกกันว่า Gender Dysphoria ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดโรคทางใจอื่น ๆ ตามมา นำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้
เมื่อกระบวนการทั้งหมดถือเป็นการรักษา คำถามที่ตามมาจึงเป็นเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงการรักษานั้น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ?
ที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันถึงแนวคิดของชุดสิทธิประโยชน์กับกลุ่มหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ทั้งการแปลงเพศในลักษณะของการเทคฮอร์โมน รวมถึงการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดในเชิงวิชาการของระบบสุขภาพ เกณฑ์การวินิจฉัยควรเป็นอย่างไร ? การเบิกจ่ายเป็นอย่างไร ? เพื่อให้เป็นธรรมกับการรักษาอื่น ๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ บราซิล หรือแคนาดา มีการให้สิทธิ์ผ่าตัดแปลงเพศ โดยพิจารณาตามเหตุผลทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และมีรูปแบบหลัก ๆ อาทิ การยื่นเจตจำนง การวินิจฉัยจากแพทย์ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด มีทั้งแบบที่รัฐหรือกองทุนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
อย่างไรก็ตาม สำหรับสิทธิการผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม Trans ที่ใช้จ่ายด้วยตัวเองนั้น ยังคงต้องมีคำวินิจฉัยจากแพทย์ โดยบุคคลที่อายุไม่ถึง 20 ปี จะต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม หากอายุน้อยกว่า 18 ปี ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศได้ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศกรณีชายเป็นหญิงจะอยู่ที่ราว 200,000 - 300,000 บาท และกรณีหญิงเป็นชายจะอยู่ที่ราว 600,000 บาท โดยยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต่อเนื่องอีก
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการแปลงเพศ
ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยเห็นควรให้รับการผ่าตัดแปลงเพศ ต้องผ่าน “การรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพ” (Gender-affirming care) โดยมีหลายกระบวนการ เช่น รับคำปรึกษา การยับยั้งลักษณะทางเพศในช่วงเด็กเข้าสู่วัยรุ่น การรับยาและฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง เช่น การเสริมหน้าอก ตัดหน้าอก หรือผ่าตัดกล่องเสียง ท้ายที่สุดจึงเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ
ตลอดกระบวนการจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ มีการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาเพื่อยืนยันอาการ Gender Dysphoria เพื่อประเมินผลกระทบจากทางจิตใจหากไม่ได้รับการผ่าตัด
เนื่องจากการแปลงเพศ หากทำแล้วจะไม่สามารถกลับคืนได้ และยังมีผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น ภาวะกรดยูริกสูงในกลุ่มชายข้ามเพศ ภาวะความดันโลหิตสูงในกลุ่มหญิงข้ามเพศ จึงต้องได้รับการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะ และยังต้องรับยาหรือฮอร์โมนไปตลอดชีวิตเพื่อคงสภาพร่างกายตามเพศที่ตัวเองต้องการอีกด้วย
อีกกลุ่มที่ต้องระวังคือกลุ่มที่อยู่นอกระบบ หรือไม่ได้เข้ารับการดูแลจากแพทย์ ซึ่งมักจะพบการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพื่อแปลงเพศด้วยตัวเอง ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนลักษณะทางเพศ มีลักษณะโมเลกุลที่ใกล้เคียงกับฮอร์โมนของมนุษย์จริง ๆ จึงช่วยลดผลข้างเคียงได้ การเข้าพบแพทย์ตามสถานพยาบาลจึงมีความจำเป็นเพื่อลดผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ข้อมูลโดย
รศ.พญ. ฉันท์สุดา พงศ์พันธุ์ผู้ภักดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
การพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ
สิทธิการแปลงเพศ กับ สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า
Treatment - Gender dysphoria
Canada Finally Has Nation-Wide Funding For Gender-Affirming Surgeries
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สปสช.ไฟเขียว "ภาวะเพศกำกวม" ใช้สิทธิบัตรทองได้
ชัวร์หรือมั่ว : สปสช.เผยใช้บัตรทองผ่าตัดแปลงเพศได้ จริงหรือไม่ ?
คนสู้โรค : การเลือกรับประทานฮอร์โมนในกลุ่มข้ามเพศ