อินเทรนด์กระแส “เห็ดเผาะ” ฟีเวอร์ ธรรมชาติน่ารู้ ! กรณีชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตเห็นว่า พื้นที่ใดที่เกิด “ไฟป่า” เมื่อฝนตกบริเวณพื้นที่นั้น จะพบ “เห็ดเผาะ” ได้ง่าย จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า เห็ดเผาะชอบไฟป่า เมื่อเกิดไฟ จะได้เห็ดเผาะมากตามไปด้วย
ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเราพิจารณาเรื่องราวของ “เห็ดเผาะ” ซึ่งเป็นราที่อาศัยอยู่กับรากพืช จะเห็นได้ว่า เป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง ! เนื่องจากการเกิดไฟป่า สามารถทำลายเส้นใยเห็ดเผาะที่อยู่ใต้ดิน รวมถึงทำลายพืชอาศัยของเห็ดเผาะด้วย ดังนั้น การเกิดไฟป่าจะส่ง “ผลเสีย” ต่อเห็ดเผาะมากกว่าผลดี
ในการเกิดไฟป่าครั้งแรก ๆ ในพื้นที่ เป็นการทำลายเศษใบไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทำให้เรามีโอกาสเห็นเห็ดเผาะได้ง่ายในช่วงต้นฤดูฝน แต่หากปล่อยให้เกิดไฟป่าในพื้นที่บ่อยครั้งเข้า เชื้อเห็ดเผาะใต้ดิน รวมถึงพืชอาศัยจะถูกทำลายลงไป จนกระทั่งเชื้อเห็ดเผาะในพื้นที่หายไป
นอกจากเรื่อง “เห็ดเผาะ” แล้ว ชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีไฟ “เห็ดโคน” จะไม่เกิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจากไฟป่าทำให้ปลวกตายรวมถึงทำลายเศษใบไม้ที่เป็นอาหารของปลวกอีกด้วย เมื่อไม่มีอาหาร ปลวกที่เหลือรอด อาจจะย้ายรังหนีได้ รวมถึงสภาพป่าหลังเกิดไฟป่าแล้วนั้น ไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นดอกเห็ดของเห็ดโคน เนื่องจากขาดความชื้นที่เหมาะสมนั่นเอง
ดังนั้น ความเชื่อและการบอกเล่าต่อกันมา จะมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เป็นการเข้าใจผิดปะปนกันไป จึงควรคิดวิเคราะห์ตามเหตุและผล รวมถึงพิจารณาองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องในธรรมชาติ
ป่าเต็งรังเป็นป่าผลัดใบ ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง ต้นไม้ทุกต้นจะทิ้งใบพร้อมกัน เกิดการสะสมของใบไม้แห้งเป็นจำนวนมากและกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ขณะเดียวกัน ใบไม้เหล่านี้คืออาหารของปลวก หากสามารถจัดการใบไม้เหล่านี้ ด้วยการนำมาสุ่มกองเป็นหย่อม ๆ ใกล้กับจอมปลวก จะสามารถลดการลุกลามของไฟป่า
อีกทั้งปลวกยังสามารถนำใบไม้เหล่านี้ไปใช้ในการเพาะเห็ดโคน เป็นการเพิ่มผลผลิตเห็ดโคน และเมื่อถึงหน้าเห็ดเผาะ เราก็จะสามารถหาเห็ดเผาะได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเผาป่า
ในพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ติดต่อกัน เชื้อเห็ดเผาะอาจหายไป อีกทั้งต้นไม้ได้รับความเสียหายและอาจตายได้ในที่สุด ต้นไม้พืชอาศัยของเห็ดเผาะสามารถถูกฟื้นฟูได้ด้วยการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ
ดังตัวอย่างที่ป่าชุมชนบ้านก้อทุ่ง จ.ลำพูน ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่พบเห็ดเผาะเป็นเวลานาน แต่เมื่อได้มีการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะให้กับพืชอาศัย พบว่ามีเห็ดเผาะเกิดขึ้นเมื่อต้นฤดูฝนถัดไปทันที ถ้าหากเรากลับมาฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เป็นแหล่งอาหารของชุมชน จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อหาเห็ดและของป่าอีกต่อไป
การเก็บเห็ดเผาะหรือเห็ดป่าอื่น ๆ ออกจากพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก มีโอกาสทำให้เห็ดเผาะมีจำนวนลดน้อยลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้น ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บดอกเห็ดแก่ออกจากพื้นที่ เพื่อให้เห็ดมีโอกาสขยายพันธุ์ต่อไป
ด้วยเหตุนี้นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จึงริเริ่มโครงการเพื่ออนุรักษ์พันธุ์เห็ดเผาะ ภายใต้ชื่อ “ธนาคารเห็ดเผาะ” ร่วมกับการกำหนดมาตรการในการเก็บหาเห็ดในเขตพื้นที่อุทยาน
โดยมาตรการนี้ จะให้ชาวบ้านนำเห็ดเผาะแก่ที่เก็บได้ ฝากไว้กับธนาคารเห็ดเผาะ เพื่อใช้ผลิตเป็นหัวเชื้อใส่กลับคืนให้กับผืนป่าที่เป็นแหล่งเห็ดเผาะในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการเพิ่มการกระจายพันธุ์ของเห็ดเผาะ ทดแทนดอกเห็ดที่ถูกเก็บมา
หลังจากดำเนินการแก้ปัญหาทั้ง 3 แนวทาง พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการดูแลและป้องกันการลุกลามของไฟป่าทำให้จุดความร้อนลดลงไปถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีก่อน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ “แนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน”
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech