23 พ.ค. ของทุกปี เป็น “วันเต่าโลก” (World Turtle Day) เพื่อให้ความรู้ผู้คนทั่วโลก เห็นถึงความสำคัญแล้วร่วมอนุรักษ์เต่า Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องน่ารู้ ทำไม ? “ท้องทะเล” ต้องมี “น้องเต่า” มาให้ได้ทราบกัน
“เต่า” มี 3 ชนิด
ได้แก่ เต่าบก, เต่าน้ำจืด, เต่าทะเล ซึ่งไม่ใช่เต่าทุกชนิดจะว่ายน้ำได้ เช่น เต่าบกปล่อยลงน้ำจะจมเนื่องจากกระดองเต่าหนักมาก ขณะที่ “เต่าน้ำจืด” ว่ายน้ำได้ แต่ต้องการพื้นดินไว้พักในการว่ายน้ำด้วย ส่วน “เต่าทะเล” จะอาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นตอนวางไข่ ซึ่งต้องขึ้นมาวางไข่บนบก
📌อ่าน ทำไมต้อง "วันเต่าโลก" 23 พ.ค.ของทุกปี
ชวนรู้จัก “น้องเต่า” ให้มากขึ้น
- กระดองเต่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกของเต่าและเชื่อมต่อกับร่างกายของเต่า (ไม่ได้แยกออกจากลำตัวของเต่า)
- เต่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เก่าแก่มากที่สุดในโลก โดยเต่าสายพันธุ์แรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน
- เต่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีแนวโน้มลดลงในปัจจุบัน
- เต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น
- เต่าทะเลจัดอยู่ในสัตว์เลื้อยคลาน
- เต่าไม่มีฟัน
- เต่าสายตาสั้นเมื่ออยู่บนบก
- ชอบกินแมงกะพรุน
📌อ่าน ทำความรู้จัก "เต่าทะเล" ฮีโรพิทักษ์ท้องทะเล
ประสาทสัมผัสของ “เต่าทะเล” ทำหน้าที่อะไรบ้าง
สมอง : ถึงจะมีขนาดเล็ก แต่ก็ความจำดี สามารถจดจำแหล่งหากิน แหล่งกำเนิด และแหล่งวางไข่ได้อย่างแม่นยำ โดยอาศัยการรับรู้ด้านกลิ่น และเดินทางไปมายังสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้สายตา และการรับรู้สนามแม่เหล็กโลก
ตา : มองเห็นใต้น้ำได้ดี แต่สายตาจะสั้น เมื่ออยู่บนบก
หู : ความสามารถในการได้ยินจำกัด เนื่องจากมีกระดูกหูเพียงชิ้นเดียว และไม่มีช่องเปิดของหูภายนอก สามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่ต่ำ และรับรู้แรงสั่นสะเทือน
จมูก : การดมกลิ่น เป็นความสามารถพิเศษของเต่าทะเล เมื่ออยู่ใต้น้ำเต่าทะเลจะกลืนน้ำผ่านไปยังโพรงจมูกแล้วคายออก ทำให้สามารถรับรู้ถึงกลิ่นใต้น้ำ
📌อ่าน ชวนรู้จัก 5 เรื่องของเต่า ที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน
สำคัญอย่างไร ทำไม ? “ท้องทะเล” ต้องมี “น้องเต่า”
สำหรับ “เต่าทะเล” นั้นมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล และเป็นตัวที่ทำให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์ เต่าทะเลจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร เช่น
- ซากไข่เต่ามีสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อชายหาดและหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นและพายุ
- เต่าทะเลกินแมงกะพรุนและหญ้าทะเลเป็นอาหาร ช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุนและหญ้าทะเลในธรรมชาติให้เหมาะสม-สมดุล
- เต่าทะเลกินฟองน้ำทะเลเป็นอาหาร ถือเป็นการควบคุมปริมาณฟองน้ำ ซึ่งส่งผลดีต่อปะการังและสัตว์ที่อาศัยในแนวปะการัง
- เต่าทะเลที่โตเต็มวัยเป็นอาหารของฉลามและวาฬเพชฌฆาต ซึ่งก็มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์ฉลามและวาฬเพชฌฆาต
- เต่าทะเลตัวใหญ่สามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัยให้กับเพรียงทะเล ปลาขนาดเล็ก และยังเป็นที่พักกลางทะเลให้แก่นกทะเล
ขณะนี้จำนวน “เต่าทะเล” ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการถูกล่า ภาวะโลกร้อน รวมถึงการกินถุงพลาสติก-ขยะ ซึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์ หากเราร่วมด้วยช่วยกันจัดการสาเหตุที่ให้เต่าทะเลลดลงดีขึ้นได้ จะทำให้น้องเต่ายังคงอยู่คู่โลกใบนี้ ช่วยรักษาระบบนิเวศให้สมดุลและทำให้ท้องทะเลมีความสมบูรณ์ต่อไป
แหล่งอ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, กรมประชาสัมพันธ์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech