ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิวัฒนาการ "ค่าเทอม" นักเรียนไทย กับปัจจัยที่สูงขึ้น


Insight

17 พ.ค. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

วิวัฒนาการ "ค่าเทอม" นักเรียนไทย กับปัจจัยที่สูงขึ้น

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1167

วิวัฒนาการ "ค่าเทอม" นักเรียนไทย กับปัจจัยที่สูงขึ้น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เข้าสู่กลางเดือนพฤษภาคม หนึ่งวาระสำคัญที่ครอบครัวคนไทยคุ้นเคยกันดี นั่นคือ การเปิดภาคการศึกษา หรือเรียกกันติดปากว่า “เปิดเทอม” คำนี้มักคู่ขนานมากับคำว่า “ค่าเทอม” อันเป็นค่าเล่าเรียนที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครอบครัว ต้องจ่ายให้กับสถาบันการศึกษา

Thai PBS ชวนดูวิวัฒนาการ “ค่าเทอม” นักเรียนไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน ปัจจัยใดที่ทำให้ค่าเทอมขยับตัวสูงขึ้น ตลอดจนทางเลือกเพื่อโอกาสทางการศึกษานั้น มีหนทางใดอีกบ้าง

รู้จัก “ค่าเล่าเรียน” คืออะไร ?

ค่าเล่าเรียน คือ ค่าบำรุงการศึกษา ค่าหน่วยกิต และค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่จ่ายให้ตามภาคหรือปีการศึกษา ที่สถานศึกษาเรียกเก็บ และให้ความหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สถานศึกษาเรียกเก็บตามที่ต้นสังกัด หรือสภาสถาบันอนุมัติให้เรียกเก็บได้

ค่าเล่าเรียนของการศึกษาไทยในอดีตเป็นอย่างไร ?

ย้อนกลับไปสมัยโบราณ เมืองไทยยังไม่มีสถานศึกษา หรือที่เรียกว่า “โรงเรียน” ให้กับเด็กไทยได้เล่าเรียนอย่างเป็นรูปธรรม สถานที่ที่ผู้คนสามารถหาวิชาความรู้ได้ นั่นคือ วัด หรือสำนักสงฆ์ ซึ่งไม่มีค่าเล่าเรียนที่จัดเก็บแบบเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่มักแลกมากับการช่วยเหลือในภารกิจต่าง ๆ ของวัด เช่น ทำความสะอาดวัด ช่วยพระพายเรือ ช่วยพระบิณฑบาต และอื่น ๆ เป็นต้น

ทว่าหากเป็นการหาความรู้ในขั้นสูงขึ้นไป ที่หาไม่ได้จากในวัด ส่วนใหญ่มักเป็นลูกหลานขุนนาง ที่มุ่งหาความรู้เฉพาะด้าน การแสวงความรู้ที่มีเฉพาะทางเหล่านี้ ต้องแลกมาด้วย “ค่าเล่าเรียน” ทั้งนี้มีข้อมูลในหนังสือราชอาณาจักรและชาวสยาม ของเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชทูตชาวอังกฤษ ที่เคยบันทึกวิถีการศึกษาของคนไทยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีบางช่วงบางตอนว่า…

“พระได้รับมอบหมายให้จัดการศึกษา และโรงเรียนอยู่ติดกับวัดโดยมาก ย่อมเป็นของธรรมดาอยู่เองที่การสอน ให้รู้คำสั่งสอนและประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เป็นส่วนสำคัญมากของระบบการศึกษา พลเมืองชายส่วนหนึ่งอ่านและเขียนหนังสือออก แต่วิธีที่จะแสวงหาความรู้ชั้นสูง สาขาใดสาขาหนึ่งมีอยู่น้อย”

“ถึงกระนั้นก็ดี โดยเฉพาะในบรรดาขุนนาง ยังใฝ่ใจเรียนวิชาเครื่องจักรกลไก รู้จักใช้เครื่องมือเดินเรือและรู้วิชาปรัชญากันมาก ค่าเล่าเรียนตามปรกติในโรงเรียนสามัญที่กรุงเทพฯ เก็บจากเด็กชายคนละ 8 ดอลลาร์หรือ 35 ชิลลิงต่อปี และอีก 15 ดอลลาร์ เป็นค่าที่อยู่ เสื้อผ้า เครื่องเขียนและอื่น ๆ ชาวจีนที่รวยบางคนจ้างครูสอนส่วนตัวเดือนละ 8 ดอลลาร์ ห้องเรียนห้องหนึ่งอาจเช่าได้เดือนละ 2 ดอลลาร์ครึ่งหรือต่ำกว่านั้น การศึกษาสตรีถูกทอดทิ้ง ในประเทศสยาม มีสตรีอยู่น้อยคนที่อ่านหรือเขียนได้ อย่างไรก็ดี ในการแสดงละครภายในพระราชวัง สตรีคนหนึ่งบอกบทและพลิกหน้าบทละครได้อย่างแคล่วคล่องมาก” (ที่มา :  การศึกษาไทยในอดีต กระทรวงศึกษาธิการ)

วิวัฒนาการค่าเล่าเรียนไทยในยุคต่อมา

หลังการปฏิรูปการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) มีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับสามัญชน และเกิดการริเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยขึ้น กระทั่งเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 เกิดกฎหมายด้านการศึกษาเป็นครั้งแรก นั่นคือ พระราชบัญญัติประถมศึกษา เพื่อขยายการศึกษาไปทั่วทั้งประเทศ 

ผ่านมาอีกหลายสิบปี การศึกษาไทยพัฒนามากยิ่งขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ค่าเล่าเรียน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่คู่ขนานมากับการเรียน รวมถึงกลายเป็นทางเลือกด้านการศึกษาของผู้คนในสังคมด้วยเช่นกัน

ภาพรวมของค่าเล่าเรียนช่วง 30-40 ปีผ่านมา นักเรียนชั้นประถม หากเป็นโรงเรียนที่รัฐดูแล ค่าเทอมอยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพันต้น ๆ แต่หากเป็นโรงเรียนประถมของเอกชน ค่าเทอมขยับไปที่หลักหมื่น ส่วนระดับมัธยม หากเป็นโรงเรียนที่รัฐดูแล ค่าเทอมอยู่ที่ 600-800 บาท ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเป็นหลักพัน ส่วนโรงเรียนเอกชน เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท 

ค่าเทอมนักเรียนหลักสูตร ปวช. หากเป็นสายพาณิชยการ สถาบันของรัฐ อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ส่วนของเอกชน เริ่มต้น 15,000-20,000 บาท ส่วนนักเรียนสายอาชีวะ หากเป็นสถาบันของเอกชน เริ่มต้นที่ 15,000-20,000 บาท ส่วนสถาบันของรัฐ ค่าเทอมจะถูกกว่าราว 40-50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและความนิยมของสถาบันนั้นๆ

ในระดับมหาวิทยาลัย หากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ค่าเทอมเฉลี่ยเทอมละ 2,000-5,000 บาท ส่วนมหาวิทยาลัยของเอกชน เริ่มต้นอยู่ที่ราว 15,000-25,000 บาท 

จวบจนถึงปัจจุบัน ค่าเทอมขยับตัวขึ้นมา ระดับประถมศึกษาของรัฐ เฉลี่ยที่ 2,000-4,000 บาท แต่หากเป็นหลักสูตรพิเศษ ค่าเรียนจะเพิ่มเติมขึ้นไปอีก ส่วนของโรงเรียนเอกชน เฉลี่ยที่ 10,000-40,000  บาท ค่าเทอมระดับมัธยมต้น-ปลายของรัฐ 3,000-5,000 บาท กรณีเป็นหลักสูตรพิเศษ เช่น เรียนสองภาษา ค่าเทอมจะกระโดดไปที่หลักหมื่น

ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐ เฉลี่ยอยู่ที่ 13,000-50,000 บาท ส่วนของเอกชน เริ่มต้นที่ราว 25,000 บาทเป็นต้นไป นอกจากนี้ หลักสูตรการเรียนที่มีความพิเศษ หรือเป็นหลักสูตรภาคอินเตอร์ฯ ค่าเล่าเรียนอยู่ที่หลักแสนบาทขึ้นไป

จุดเปลี่ยน “ค่าเทอมสูงขึ้น” เกิดจากอะไร ?

ค่าเทอมในปัจจุบันมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การปรับตัวของบรรดามหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศที่เรียกกันว่า “การออกจากระบบราชการ” จากมหาวิทยาลัยของรัฐ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยเริ่มมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และเริ่มมีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2533  เป็นต้นมา ก่อนจะมีการผลักดันในช่วงปี พ.ศ. 2551

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการถกเถียงถึงข้อดี – ข้อเสียมากมาย ในส่วนของข้อดี มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินงานบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับจากระเบียบราชการ ซึ่งเป็นการบังคับใช้กับหน่วยงานราชการทั้งหมด ขณะที่ก็ยังอยู่ในการกำกับของภาครัฐและได้รับเงินสนับสนุน

ส่วนข้อเสีย มีความกังวลที่จะเกิดการเข้าสู่ตลาดทุน ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเผยว่า ค่าเทอมในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มมีการปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่ก่อนออกนอกระบบ ทั้งนี้การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยบางแห่ง มาพร้อมนโยบายที่ทำให้ค่าเทอมเพิ่มขึ้น อาทิ นโยบายค่าเทอมแบบเหมาจ่าย รวมถึงค่าบำรุงคณะ ที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่าตัว

เมื่อ “ค่าเทอม” ของหลายสถาบัน มีการปรับตัวขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลถึงสถาบันที่ยังเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือสถาบันที่ยังไม่ออกนอกระบบ มีการปรับค่าเทอมขึ้นตามด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณจากรัฐต่อปีที่ราว 300,000 ล้านบาท ต่อระบบการศึกษาทั้งหมด แม้จะมีจำนวนมาก แต่หากดูรายละเอียด เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ “บุคลากร” เป็นหลัก ขณะที่ในส่วนของงบการพัฒนาด้านการศึกษา ยังคงต้องพึ่งพาเงินจากค่าเทอม รวมถึงรายได้ส่วนอื่นที่มหาวิทยาลัยจะหาได้

อีกหนึ่งตัวแปรที่น่าสนใจ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเด็กที่เกิดน้อยลง ส่งกระทบต่อภาคการศึกษา จากช่วงหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษา โดยเฉพาะภาคพิเศษ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อทั้งหารายได้ และเปิดรองรับจำนวนความต้องการในการศึกษาที่มีมากขึ้น

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เมื่อประชากรเด็กลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงค่านิยมใบปริญญาในสังคมลดน้อยลง ส่งผลให้จำนวน “นักเรียน-นักศึกษา” ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน บางสถาบันการศึกษาต้องยุบคณะ หรือปิดสถาบันลง ขณะที่ “ต้นทุน” ยังเท่าเดิม ส่งผลให้สถาบันการศึกษา ต้องปรับอัตราค่าเทอมสูงขึ้น เพื่อให้ยังคงดำเนินการต่อไปได้ ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย แต่ยังเกิดขึ้นกับสถานศึกษาหลายแห่งทั่วโลก

“ทุนการศึกษา” ทางเลือกในภาวะที่ค่าเทอมยังแพงอยู่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ค่าเทอม” รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา รัฐธรรมนูญประเทศไทยได้กำหนดให้คนไทยมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยในทางปฏิบัติ รัฐบาลมีการช่วยค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกกันว่า “เงินอุดหนุนนักเรียนรายหัว” ทั้งค่าจัดการศึกษา ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือเรียน 

อย่างไรก็ตาม รัฐยังมีเครื่องมือในการเข้าถึงการศึกษา นั่นคือ “การมอบทุนการศึกษา” โดยมีลักษณะของทุนที่แตกต่างกันไป แต่เหนืออื่นใด คือการพยายามกระจายทุน ให้ “เข้าถึง” นักเรียนที่มีความต้องการในการรับทุนอย่างแท้จริง

ลักษณะของทุนการศึกษาในวันนี้ มีอะไรกันบ้าง…

ทุนความสามารถ
ทุนลักษณะนี้มีหลากหลายแบบด้วยกัน สามารถแบ่งแยกย่อยได้ 3 แบบดังนี้

  • ทุนเรียนดี เป็นการแจกทุนให้กับเด็กเรียนดี มีพฤติกรรมดี โดยมีแหล่งทุนมาจากมูลนิธิต่าง ๆ รวมถึงสถานศึกษา ลักษณะการให้ทุนโดยส่วนใหญ่เป็นแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไขผูกมัด หรือบางแหล่งอาจผูกมัดเฉพาะผลการเรียน กรณีการให้ทุนแบบต่อเนื่อง
  • ทุนความสามารถพิเศษ เป็นทุนที่แจกให้ตามความสามารถ หรือทักษะต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกีฬา ความสามารถด้านศิลปะ ดนตรี โดยส่วนใหญ่เป็นโควตาการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
  • ทุนอาชีพเฉพาะทาง เน้นการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาอาชีพที่ต้องการส่งเสริมเป็นพิเศษ อาทิ แพทย์ งานช่าง งานด้านวิทยาศาสตร์เฉพาะทาง รวมถึงอาชีพด้านการเกษตร แหล่งทุนลักษณะนี้มีตั้งแต่มูลนิธิ ที่มีเป้าหมายถึงวิชาชีพเฉพาะ รวมถึงหน่วยงานรัฐเฉพาะทาง

ทุนเพื่อเด็กยากจนและผู้ด้อยโอกาส
ทุนประเภทนี้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินให้กับเด็กยากจนรวมถึงด้อยโอกาส อาจอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงมีความผิดปกติของร่างกาย ส่วนใหญ่มีข้อกำหนดเพียงผลการศึกษาผ่านเกณฑ์ และมีความประพฤติที่ดี

โดยมีแหล่งทุนเป็นสมาคม มูลนิธิ รวมถึงหน่วยงานรัฐ ได้แก่ มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา EDF มูลนิธิเสริมกล้า มูลนิธิการศึกษาต่อเนื่อง และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บางแหล่งทุนมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวเนื่องอย่างค่าครองชีพอีกด้วย

ทุนกู้ยืม
ทุนการศึกษาในลักษณะของการกู้ยืม มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านทุนการเรียน โดยให้กู้เงินไปก่อนและแบ่งชำระภายหลังในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีข้อกำหนดในส่วนของพฤติกรรมกับผลการศึกษาที่ต้องอยู่ในเกณฑ์เท่านั้น โดยไม่จำกัดเรื่องฐานะครอบครัว

หน่วยงานที่ช่วยเหลือให้กู้ยืมสำหรับการเรียน คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขณะที่ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) อนุญาตให้กู้เฉพาะสาขาวิชาตามความต้องการของประเทศเท่านั้น

ส่องประเทศที่มีระบบการจ่ายค่าเทอมที่น่าสนใจ

ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ แต่ระบบการศึกษาจะดีหรือไม่ ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาส่งเสริม อาทิ ภาคการเมือง ตลอดจนวิธีการบริหาร และการให้ความสำคัญด้านการศึกษา

ที่ผ่านมา เคยมีประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ทั้งในเชิงคุณภาพการเรียนการสอน ตลอดจนเรื่องค่าเล่าเรียน ประเทศเหล่านี้มีปัจจัยอะไรอยู่เบื้องหลังกันบ้าง

  • ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ระบบการศึกษาจากรัฐสวัสดิการที่โด่งดังไปทั่วโลก

ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก รวมถึงประเทศในกลุ่มนอดิกอย่าง ไอซ์แลนด์ ต่างได้รับการยอมรับว่า มีระบบการศึกษาที่ดีในนิยามของการศึกษาที่มีคุณภาพ มีผลการเรียนที่ดี และสามารถทำให้คนเข้าถึงการศึกษาได้ 

ทั้งนี้มีงานวิจัยและการวิเคราะห์จากนักสังคมวิทยา Herald Eia เรื่องปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ ต่างประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เนื่องจากระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยสังคมนิยม ที่เน้นรัฐสวัสดิการ และการสร้างความเท่าเทียม จึงเป็นที่มาของระบบรัฐสวัสดิการและระบบภาษี ช่วยให้เกิดการเรียนฟรีขึ้น เพื่อให้คนทุกคนได้รับการศึกษา และสามารถเข้าถึงโอกาสในการขยับสถานะทางสังคมได้เท่าเทียมกัน 

  • เอสโตเนีย ประเทศแห่งการศึกษาที่เท่าเทียมและมีคุณภาพ

เอสโตเนียเป็นอีกประเทศที่มีนโยบายเน้นความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา เบื้องหลังคือการปรับตัวเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้สำเร็จ จนได้ชื่อว่า e-Estonia ถือเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่รัฐบาลจัดให้เกิดการศึกษาแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ นักเรียนทุกคนมีตารางเรียน การสอบ การเรียน รวมถึงห้องสมุดออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการพัฒนาคน ซึ่งมาช่วยเพิ่มให้การศึกษาดีขึ้น เช่น สวัสดิการลางานแบบมีรายได้ ทำให้แม่ได้ดูแลลูกอย่างเต็มที่ก่อนเข้าเรียน การเรียนฟรีที่รวมไปถึงค่าหนังสือ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน

“ค่าเทอม” ยังเป็นสิ่งที่คู่กับสถาบันการศึกษา ทว่าสิ่งสำคัญมากกว่าเรื่องค่าเทอมที่สูงขึ้น คือการบริหารจัดการ “ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา” ที่ต้องอยู่บนหลักการความถูกต้อง ตลอดจนความเหมาะสม เพราะที่สุดคงไม่มีนักเรียนคนไหนอยากเรียนหนังสือแพง ๆ แม้จะทราบดีว่า การเรียนนั้นทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ตาม...

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
-“เรียนฟรีทิพย์” เช็กส่วนต่างค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
-เช็กเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน 2567 ระดับอนุบาล-ม.ปลาย
-เศรษฐกิจน่ารู้ : การเรียนใน “มหาวิทยาลัย” กำลังเสื่อมความนิยม
 

อ้างอิง
-Where in the world is it easiest to get rich? | Harald Eia | TEDxOslo
-การศึกษานโยบายรัฐสวัสดิการในประเทศสแกนดิเนเวียกับความเป็นไปได้ในการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย
-Insights from the Education Nation: The Case of Estonia
-ปักหมุด 7 ทุนทางเลือก ที่ครูไม่ควรพลาด!!
 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ค่าเทอมค่าเล่าเรียนนักเรียนไทยนักศึกษาไทยโรงเรียนมหาวิทยาลัย
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด