ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็ก 10 อาการเสี่ยงผู้สูงอายุต้องรู้ เฝ้าระวัง-อยู่อย่างเข้าใจกัน


Lifestyle

13 เม.ย. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
แชร์

เช็ก 10 อาการเสี่ยงผู้สูงอายุต้องรู้ เฝ้าระวัง-อยู่อย่างเข้าใจกัน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/116

เช็ก 10 อาการเสี่ยงผู้สูงอายุต้องรู้ เฝ้าระวัง-อยู่อย่างเข้าใจกัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

บางครั้งเราอาจไม่เข้าใจพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุ ทำไมเดินช้าจัง ทำไมชอบลืม ทำไม ๆ เนื่องในวันผู้สูงอายุ 13 เม.ย. 67

ไทยพีบีเอส ชวนเข้าใจ 10 อาการเสี่ยงที่ผู้สูงอายุต้องรู้ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและรู้ทันอย่างเข้าอกเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิด หรือบางคนอาจเกิดขึ้นแล้ว เป็นไปตามธรรมชาติความเปลี่ยนแปลงร่างกายของผู้สูงอายุ ดังนี้ 

1.ผู้สูงอายุชอบหลง ๆ ลืม ๆ ?

ภาวะสมองเสื่อม (Alzheimer’s Disease) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่จะสูญเสียความรู้คิด (Cognitive Function) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้ เรียนรู้ และวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากสมองทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม เสื่อมลงจากการที่อายุมากขึ้น และโรคต่าง ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึมเศร้า โรคทางระบบประสาท เป็นต้น รวมถึงพันธุกรรมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการกระตุ้นการรู้คิด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จึงมีประโยชน์อย่างมาก เช่น จับคู่ภาพ ทายคำ ต่อจิ๊กซอว์ วาดรูป หมากรุก เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการคิด อ่าน สมาธิ ความจำ โดยมุ่งเน้นขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ชัดเจนเข้าใจง่าย มากกว่าผลของกิจกรรม นอกจากนี้ ยังควรตรวจประเมินความสามารถด้านการเรียนรู้และการรับรู้ เพื่อหาความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมกับแพทย์เฉพาะทาง

2.ผู้สูงอายุหูตึง ตาขุ่นมัว จมูกไม่ค่อยได้กลิ่น! (Sensory changes)

เริ่มที่หูจะได้ยินลดลง มีอาการหูตึงมากขึ้น เสียงพูดเริ่มเปลี่ยนไป เพราะกล้ามเนื้อกล่องเสียงและสายเสียงบางลง ระดับเสียงสูงจะได้ยินน้อยกว่าระดับเสียงต่ำ มีข้อมูลวิจัยระบุว่า การสูญเสียการได้ยินในผู้สูงอายุ จะเสียเสียงสูงก่อน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดอาการเวียนศีรษะและเคลื่อนไหวไม่คล่อง เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในมีภาวะแข็งตัว

ส่วนตาจะเริ่มมองไม่ดีเหมือนก่อน เนื่องจากรูม่านตาเล็กลงและตอบสนองต่อแสงลดลง หนังตาตก แก้วตาเริ่มขุ่นมัว เกิดต้อกระจก ลานสายตาแคบ กล้ามเนื้อลูกตาเสื่อม ความไวในการมองภาพลดลง สายตายาว เวลามืดหรือกลางคืนการมองเห็นจะไม่ดี ตาแห้งและเยื่อบุตาระคายเคืองง่าย

และจมูกดมกลิ่นไม่ดีเหมือนก่อน เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกเสื่อม ต่อมรับรสทำหน้าที่ลดลง การรับรสของลิ้นเสียไป อาจเกิดภาวะเบื่ออาหาร โดยรสหวานจะเสียก่อนรสเปรี้ยว รสขม และรสเค็ม

10 อาการเสี่ยงผู้สูงอายุ

3.ผู้สูงอายุเดินช้า ? (Changes in gait)

สมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุจะเสื่อมลงตามวัย โดยเฉพาะการเดินที่ช้าลง การก้าวเท้าที่สั้นลง เนื่องจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ การประหยัดพลังงานที่ใช้ในการยืน เดิน อีกทั้งเมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล บางครั้งไม่สามารถเดินได้ 

ดังนั้นการออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 20–30 นาทีทุกวัน โดยใส่เครื่องพยุง เช่น ข้อเท้าและข้อเข่า เลือกรองเท้าที่เหมาะกับการเดิน ย่อมช่วยป้องกันการล้มและการบาดเจ็บของข้อต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ความเร็วในการเดินยังเป็นตัวพยากรณ์อายุขัย (Mortality) ได้ด้วย โดยพบว่าผู้สูงอายุในวัย 75 ปีที่เดินช้า เสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่เดินด้วยความเร็วปกติถึง 6 ปี และเสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่เดินเร็ว 10 ปี

สามารถตรวจประเมินสมรรถภาพผู้สูงอายุ ด้วยการวัดความเร็วในการเดิน 4 Meter Gait Speed Test โดยแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้ทราบถึงสมรรถภาพที่แท้จริงและการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม

4.ผู้สูงอายุชอบเป็นซึมเศร้า ! (Depression)

ปัญหาสุขภาพจิตคือปัญหาสำคัญในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้ามีโอกาสเป็นได้มากกว่าวัยอื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและบทบาทในสังคม อาทิ ผมขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น นั่งและยืนนาน ๆ ไม่ได้ เป็นต้น 

หากผู้สูงอายุรับไม่ได้กับภาวะที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดอาการเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ขาดความรัก รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าและไม่มีใครต้องการ

ดังนั้นควรหมั่นสังเกตผู้สูงอายุที่ใกล้ชิด หากมีภาวะแยกตัว เบื่อหน่าย หรือทุกข์ใจ ไม่ควรละเลย รีบปรึกษาแพทย์ทันที และควรหมั่นให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้ตัดสินใจ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของครอบครัว เพื่อป้องกันผู้สูงอายุจากภาวะซึมเศร้า 

อย่างไรก็ดี สามารถตรวจประเมินความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติทางด้านอารมณ์ กับแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้รับมือได้อย่างเข้าใจ

ความเหงาผู้สูงอายุ

5.ผู้สูงอายุเสี่ยงหกล้ม ! (Fall)

การล้มเป็นปัญหาที่พบบ่อยและอันตรายมากในวัยสูงอายุ จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้ม 28–35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32–42% โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ไปเข้าห้องน้ำ เนื่องจากสูญเสียการทรงตัว เพราะสมอง กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อเกิดความเสื่อม การได้ยินและมองเห็นลดลง ทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งการบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้

ดังนั้นจึงควรดูแลใส่ใจและหมั่นสังเกตการทรงตัวของผู้สูงอายุ หากเกิดการล้มควรให้อยู่ในท่าเดิมและรอผู้ชำนาญการมาทำการเคลื่อนย้ายเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง และแม้จะบาดเจ็บไม่มากก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอีกครั้ง 

ที่สำคัญควรมีการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุด้วยการตรวจ Tandem Standing Test เพื่อฝึกการทรงตัว การเดิน และออกกำลังเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง

ผู็สูงอายุล้มในห้องน้ำ

6.ผู้สูงอายุยกขาไม่ขึ้น กำมือไม่แน่น ?

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle Weakness) เพราะจำนวนขนาดและเส้นใยของกล้ามเนื้อ บวกกับกำลังการหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว 

ซึ่งอาการอ่อนแรงมีหลายระดับ ตั้งแต่กำมือแน่น กำมือไม่แน่น ไปจนถึงการยกขา บางคนเมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป แต่บางครั้งไม่มีสัญญาณเตือนและมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน

ดังนั้นการหมั่นสังเกตและตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทาง อย่างการตรวจประเมินกำลังกล้ามเนื้อขา ด้วยการตรวจ Five Time Sit to Stand จะช่วยให้ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมและรับมือได้ทันท่วงที

7.ผู้สูงอายุทำไมท้องผูก ? (Changes to excretory system)

จากการเสื่อมของเซลล์และกล้ามเนื้อหูรูดต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาระบบขับถ่าย อย่างปัสสาวะ มีอาการกลั้นไม่อยู่ เล็ด และบ่อย ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าและรุนแรงกว่าผู้ชาย เนื่องจากหมดประจำเดือนถาวร 

ส่วนอุจจาระ จะไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ที่สำคัญคือท้องผูกเป็นประจำ เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้ลดการบีบตัวตามอายุ เคลื่อนไหวน้อย ไม่ออกกำลังกาย รับประทานผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย รวมถึงอาจเป็นจากผลข้างเคียงของยาที่รับประทานเข้าไป

8.ผู้สูงอายุเสี่ยงกระดูกพรุน ! (Senile Osteoporosis)

ผู้สูงอายุแคลเซียมจะสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ๆ ทำให้น้ำหนักกระดูกลดลง เปราะ หักง่าย ความยาวกระดูกสันหลังลดลง หมอนรองกระดูกบางลง หลังค่อมมากขึ้น ความสูงลดลง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก ตึง แข็ง อักเสบ ติดเชื้อง่ายขึ้น

ดังนั้นหากออกกำลังกายประจำจะช่วยลดความเบาบางของมวลกระดูกได้ รวมทั้งการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ที่สำคัญคือการตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหากระดูกพรุนได้ถูกวิธี

ดูแลผู้สูงอายุ

9.ผู้สูงอายุทำไมหลังค่อม 

ท่าทรงตัวที่ดีส่งผลต่อความคล่องตัวในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ปัญหาที่พบบ่อย เช่น เดินแอ่นหลัง เดินหลังค่อม เดินเซ ก้าวเท้าสั้นลง ขณะก้าวปลายเท้าจะออกด้านข้างมากกว่าหนุ่มสาว เป็นต้น ซึ่งสามารถทำให้ดีขึ้นได้โดยการทำกายภาพ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวและเหมาะสม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละบุคคลด้วย

สามารถเข้ารับการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการตรวจ Tandem Standing Test ร่วมกับการตรวจประเมินอื่น ๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกายได้ถูกท่า

10.ผู้สูงอายุไม่ค่อยมีแรง ? 

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความอึดย่อมลดลง ยกตัวอย่างเมื่ออายุ 25 ปี และอายุ 35 ปีขณะที่ขึ้นบันไดในจำนวนขั้นที่เท่ากัน ความอึดอาจไม่เท่ากัน ในวัย 35 ปีอาจจะรู้สึกเหนื่อยง่ายมากขึ้นและอดทนได้น้อยกว่า เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ อย่างการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะ ๆ จะช่วยเพิ่มความทนทานของระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของปอด เนื่องจากมีการใช้ออกซิเจนสันดาปไขมันสร้างพลังงานให้กล้ามเนื้อ 

ทั้งนี้ ต้องเลือกชนิดการฝึกที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม และควรเข้ารับการตรวจประเมินสมรรถภาพ กำลังกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความเสี่ยงในการล้มโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

รักและเข้าใจร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัว

ที่มา โรงพยาบาลกรุงเทพ 

อ่านเพิ่มเติม 

- สูงวัยแบบไหน ไม่ให้ดูแก่ (ในยุคดิจิทัล)

- ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนของทุกปี สูงวัยอย่างสุขใจ ในวัยสูงอายุ

รับชมเพิ่มเติม

- สุขภาพผู้สูงวัย...ดูแลอย่างไรให้ยั่งยืน ?

- แนะนำการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ผู้สูงอายุสุขภาพ
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด