ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สูงวัยแบบไหน ไม่ให้ดูแก่ (ในยุคดิจิทัล)


บทความพิเศษ

13 เม.ย. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

สูงวัยแบบไหน ไม่ให้ดูแก่ (ในยุคดิจิทัล)

https://www.thaipbs.or.th/now/content/115

สูงวัยแบบไหน ไม่ให้ดูแก่ (ในยุคดิจิทัล)
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ตือดือดึ๊ง .. “สวัสดีวันจันทร์” .. ตือดือดึ๊ง .. “ยิ้มรับสัปดาห์ใหม่ อยู่ที่ไหนขอให้มีความสุข”

เสียงแอปพลิเคชันแชตจากปลายทางส่งมาหาเป็นประจำทุกเช้าตรู่ ไม่ใช่ใครที่ไหน พ่อแม่เรานี่เอง เนื่องใน “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” 13 เมษายน “Thai PBS Solutions” จะพาไปไขความลับ Message สวัสดีตอนเช้า คลายปัญหาการใช้เครื่องมือเทคโนโลยี และสะท้อนมุมมองความคิดจากผู้สูงวัยมากประสบการณ์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราว “สังคมสูงวัย” มาแล้วหลายเวทีเสวนา “รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ประธานคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ "ส.ส.ท."

เรื่องราวเหล่านี้ จะทำให้คุณ “เข้าใจ” ผู้สูงอายุมากขึ้น …

“หากพูดถึง เทคโนโลยีนั้น ได้เข้ามาช่วยผู้สูงอายุได้เยอะเลยทีเดียวนะ” อ.เจิมศักดิ์ เกริ่นเข้าเรื่อง ก่อนอธิบายต่อว่า 

“ผู้สูงอายุจะค่อย ๆ มีเพื่อนน้อยลงไปเรื่อย ๆ ปกติถ้าอยู่ที่บ้าน โดยที่ไม่ได้ไปทำงานก็จะไม่ค่อยได้เจอผู้คน แต่คุณลองดูเทคโนโลยีตอนนี้ เช้าขึ้นก็มี ‘สวัสดีวันจันทร์’ มีดอกไม้ให้รู้ว่า เออ...เอ็งยังไม่ตาย เอ็งยังคิดถึงข้า แต่คนก็จะบอกว่า มันเชยมากเลย”

อ.เจิมศักดิ์ เล่าไปยิ้มไป “แต่จริง ๆ แล้ว ผู้สูงอายุมีของเล่น เหมือนได้อ่านหนังสือ มีข้อความที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากมาย แล้วก็มีเพื่อนที่อยู่ทางไกลส่งข้อความมาให้ มีอะไรก็ปรึกษาหารือ เทคโนโลยีได้เปิดโลกทัศน์ ได้เรียนรู้ ได้สัมพันธ์กับเพื่อนโดยที่ไม่ต้องมาเจอกัน อันนี้เป็นสิ่งวิเศษมาก”

“กลัวพัง ภาพจำเทคโนโลยีเก่า” ปัญหาสูงวัยไม่กล้าใช้

อ.เจิมศักดิ์ อธิบายถึงปัญหาของผู้สูงวัยในการใช้เทคโนโลยี อันดับแรก คือ “กลัวพัง” เพราะในสมัยก่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ ถ้ากดผิด เผลอ ๆ เสียได้เลย แล้วต้องไปซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่ ซึ่งต่างกับอุปกรณ์สมัยใหม่ กดผิดก็ถอยหลัง กดผิดทางก็ย้อนกลับมาใหม่ เรื่องนี้ผู้สูงอายุยังไม่เข้าใจ แล้วก็จะกดแทนที่จะแตะ เพราะหน้าจอสมัยนี้เป็นระบบ Touch Screen หรือระบบสัมผัสแล้ว แต่คนรุ่นเก่ายังคุ้นชินกับภาพจำเดิม ๆ ทำให้ไม่ค่อยกล้าจะใช้เทคโนโลยี แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีภาพจำสมัยก่อน รับใหม่ได้เลยก็ง่ายกว่า

สมัยนี้ ไม่ค่อยมีคู่มือเหมือนกันสมัยก่อนที่จะเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือโทรศัพท์ มีคำอธิบายว่ากดตรงนี้แล้วจะไปไหนต่อ แต่สมัยนี้กดแล้วลิงก์ไปเรื่อย

“ผู้สูงอายุไม่เข้าใจ ทำให้ไม่ค่อยกล้าแตะ ไม่ค่อยกล้ากด กลัวเสียด้วย แล้วดูแล้วจะไปไหนต่อ มันไปไม่ได้ อันนี้ไม่รู้ว่าเส้นทางเดินจะไปยังไงต่อ พอถามลูกหลานว่าต้องไปยังไง เขาก็จะบอกว่า กด Setting ก่อน เดี๋ยวก็ไปเจอตัวนั้นตัวนี้ มันก็ไม่ไปติดกึกกัก ๆ และก็กลัวเครื่องเสียด้วย” อ.เจิมศักดิ์ เล่าอย่างออกรส

นอกจากนี้ ก็มีแอปพลิเคชันหาคู่สำหรับผู้สูงอายุ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป แล้วก็ส่งประวัติไป คำถามคือดีไหม ? มันเป็นเรื่องของการหาคู่ ก็คือ หาเพื่อนในการดูแลซึ่งกันและกัน แต่ก็มีข้อเสีย ก็คือ อาจจะถูกหลอกได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีการหลอกผ่านเทคโนโลยีมากมาย ฉะนั้น "การหลอก” ก็เป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุ “กลัว” ไม่ค่อยกล้าที่จะใช้เทคโนโลยีเช่นกัน

ผมไม่รู้จัก Email คืออะไร ?

อ.เจิมศักดิ์ ยอมรับว่า เมื่อก่อนนี้ ไม่รู้จักว่า “Email” คืออะไร และอาย ไม่กล้าที่จะบอกใคร พอมีคนถามว่า ทำไมไม่ส่ง Email ก็คิดในใจว่า ‘แล้วมันคืออะไรวะ ?’ ก็แอบศึกษาว่าคืออะไร ปรากฏว่าก็เหมือนไปรษณีย์ส่ง เร็วดี ยิ่งกว่าส่งแฟกซ์อีก แต่..ก็ยังไม่กล้าใช้ กลับไปปัญหาเดิมอีกคือ “กลัวพัง” เพราะกดไม่เป็น

“ความจำเป็น” ทำให้ผู้สูงอายุต้อง “เรียนรู้”

แต่แล้ว “ความจำเป็น” ก็ทำให้ต้องเรียนรู้ เมื่อครั้งที่ อ.เจิมศักดิ์ ไปส่งลูกเรียนไฮสคูลที่แคนาดา สมัย 20 ปีที่แล้ว และอยู่ระหว่างเดินทางกลับกรุงเทพฯ ต้องต่อเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง แต่ปรากฏว่าเจอมรสุมเข้า ทำให้เครื่องบินต้องบินไปลงที่เกาหลีใต้แทน และต้องค้างคืน ทำให้กังวลว่าลูกจะรู้ได้อย่างไรว่าพ่อยังไม่ถึงบ้าน โดยภายในห้องนอนมีคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ (กางแขนประกอบ) แต่ใช้ไม่เป็น จึงลงไปที่ล็อบบี้ให้พนักงานช่วยส่ง Email หาลูก พนักงานก็ถามว่า Email Address ของคุณคืออะไร ก็ยืนงงเพราะไม่มีเลยให้พนักงานใช้ของตัวเองส่งแทน

“หลังจากนั้น ผมรู้แล้วว่ามันมีประโยชน์ ถ้าผมไม่หัด ไม่เรียนรู้ ไม่ทำ ผมจะต้องส่งจดหมาย 7 วันกว่าจะถึง และรออีก 7 วันกว่าจะกลับมา ความจำเป็นมันทำให้ผู้สูงอายุอย่างผม ต้องเรียนรู้แล้ว”

จากนั้น ก็เริ่มเรียนรู้ ส่งได้ รับได้ หลังจากนั้นมีระบบอื่น ๆ มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ก็ได้ใช้กับเขากัน ซึ่งจะบอกคือ ไม่ใช่ตัวเองเก่ง แต่จะบอกว่า ผู้สูงอายุถ้าให้เขาเห็นความจำเป็นให้เห็นประโยชน์ เขาก็จะฝึกฝนและเรียนรู้

หลานวัยใสสอนปู่ย่า ดีกว่าให้ลูกสอน?

แต่การเรียนรู้ เรียนจากลูกลำบากมาก ลองสังเกตจากตัวเอง คนรอบข้าง ลูกกับพ่อแม่จะใกล้ชิดกัน กระแทกกระทั้น เพราะรู้ว่าพ่อแม่ไม่โกรธ บางทีก็ใช้คำแรง ๆ “ทำไมบอกไปแค่นี้ก็ลืม” คนฟังก็สะดุ้ง “ก็กดไปสิ!” ก็เพราะไปไม่ได้ กดไปแล้วยังไงต่อก็ไม่รู้

มีคนก็มากระซิบว่า แต่รู้ไหมว่า..ถ้าให้หลานสอน “จะเวิร์ค” หลานตัวเล็ก ๆ โตมากับเทคโนโลยีเหล่านี้ คอยสอน เจ๊าะแจ๊ะคุยกับปู่ย่า เด็กมีความใจเย็นขึ้น ก็ทำให้ง่ายขึ้นเยอะ

คิดว่าข้อมูลอยู่ในเครื่อง..ที่ไหนได้อยู่ใน Cloud

อีกประเด็นหนึ่ง ผู้สูงอายุมักจะคิดว่า สิ่งที่ส่งกันมาไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ต่าง ๆ นั้น ส่งมาเข้าเครื่องโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ไม่เข้าใจว่าข้อมูลไปอยู่มีเซิร์ฟเวอร์ ต่างคนต่างมีเครื่องมือในการส่งหรือดึงข้อมูล เพราะผู้ใช้มีแค่จอที่ดู หรือดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ ก็บันทึกเก็บไว้ในเครื่องก็ได้ หรือถ้าไม่บันทึกข้อมูลนั้นก็ตีกลับไปที่เซิร์ฟเวอร์ แต่ผู้สูงอายุบางคนไม่เข้าใจ

“คุณส่งมาใหม่หน่อยได้ไหม เปิดดูแล้วมันไม่มี” คำถามที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องเผชิญ เพราะเทคโนโลยีสมัยก่อนทำด้วยเทป ทั้งเทปภาพ เทปเสียง ส่งมาข้อมูลก็อยู่ในอุปกรณ์เทปนั้น ก็ทำให้ไม่เข้าใจระบบแนวคิดการเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านี้

“ผมต้องมานั่งอธิบายให้เพื่อนฟัง ต้องใจเย็น อย่าลืมว่าเขาฝังความเข้าใจโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แบบเก่า”

How to สอน “ผู้สูงอายุ” เรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างไร ?

1.ต้องให้เข้าใจว่าเครื่องมือ “เสียง่าย” ไม่เหมือนที่เข้าใจว่า กดแล้วเดี๋ยวเสีย และลองให้กดดู โดยบอกว่า “แตะ” อย่าบอกว่า “กด” เพราะผู้สูงอายุจะกด (ทำท่าทางกดโทรศัพท์แบบจริงจัง) จะเข้าใจผิดได้ 
2.คนสอนต้อง “ใจเย็น” อย่าลืมว่า ผู้สูงอายุมีภาพจำสมัยก่อนอยู่ในหัวก็จะผิด ๆ ถูก ๆ ไป และจะมีความกลัวผิดถูก ต้องบอกว่า “ไม่เป็นไร” ผิดแล้วถอยหลังกลับได้ หาไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เอง 
3.ทำบ่อย ๆ ให้เกิดความจำ หากนาน ๆ ทำก็ไม่จำ และไม่มีคู่มือก็เล่นผิด ๆ ถูก ๆ

ต้องเข้าใจ! “คนรุ่นเก่า” กับเทคโนโลยีสมัยใหม่

“คนช่วยมักจะเร็ว เราเลยไม่ต้องเรียนรู้ จะลบใช้ไหม เขาก็กดจึก ๆ ๆ เสร็จแล้ว เราก็ไม่ต้องรู้กันอย่างนี้ เขาทำให้เลยโดยที่เขาไม่ได้ค่อย ๆ ให้เราแตะเอง คนสอนสำคัญนะ ผมให้ลูกทำหรือให้ใครทำ แล้วเขาคงไม่มีเวลา เขาก็ทำให้แต่ว่าเราดูนิ้วไม่มีวันจำได้หรอก เส้นทางเขาประเดี๋ยวเดียวมันจบ ก็เลยบอกเฮ้ย แล้ววันหลังเจอปัญหาใหม่จะทำเป็นไหมเนี่ย”

อ.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า อันที่จริงไม่ใช่ความโง่เขลาของคนรุ่นเก่า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ความผิดของคนรุ่นใหม่  เพราะคนรุ่นใหม่จะเข้าใจของใหม่ได้เร็วกว่าเพราะไม่มีภาพจำ ก็เลยเป็นปัญหาในการสื่อสารกันบ้าง

“ห่วงใย” กลายเป็นภัย Fake news

แต่ในความวิเศษของเทคโนโลยี ก็มีปัญหาเช่นกัน อ.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า ผู้สูงอายุมักจะตื่นเต้นกับข่าวสารบางอย่าง มันก็จะมีคนฉลาดที่ใช้ผู้สูงอายุเป็นตัวปล่อยข่าว เป็นตัวแพร่ข่าว เขียนอะไรให้มันตื่นเต้น เขียนอะไรที่ดูเป็นของใหม่ ไม่เคยรู้มาก่อน พอเห็นปั๊ป โอ้...อยากบอกเพื่อนต่อ ผู้สูงอายุก็เลยกลายเป็นเครื่องมือเรียบร้อย ในการที่ส่งไปเรื่อย ๆ แต่ละคนก็กระจายไปหลายกลุ่ม ผู้สูงอายุก็เลยกลายเป็นตัวแพร่ข่าวลวง ข่าวที่ไม่จริง ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่ถูกใช้งาน

นอกจากนี้ เมื่อก่อนข่าวสารถูกจำกัดมาก มาจากรัฐอย่างเดียว โทรทัศน์ วิทยุของรัฐ ก็ได้รับข่าวสารเฉพาะด้าน ถัดมาเริ่มมีสำนักข่าว แต่ก็ยังคงเป็นการสื่อสารทางเดียวอยู่ ผู้ฟังไม่สามารถตอบกลับไปได้ในทันที และสำนักข่าวก็จะช่วยกรองข่าวปลอมส่วนหนึ่ง แต่สมัยนี้ทุกคนส่งข่าวได้ ก็ส่งกันแหลกลาญ

“เราก็ติดความคิดแบบเดิม เวลาเขียนข่าวปลอมก็เขียนเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนสำนักข่าว เราก็เชื่อและเราก็อยากจะบอกต่อเพื่อน อยากเป็นคนส่งข่าวเองบ้าง มันเป็นโอกาสทองแล้ว เมื่อมีคนเขาส่งมา เฮ้ย..มันอาจจะมีคนยังไม่รู้มั้งเนี่ย ก็ส่ง คงไม่ใช่กลัวว่าเราช้า หรือเราไม่รู้ แต่เพราะปรารถนาดีกับเพื่อน ก็เลยกระจายข่าว แล้วคนรับก็กระจายต่อไปอีก”

แต่ผู้สูงอายุก็มีความสุข ได้ดูหนัง ได้ดูละคร ดู VIPA บ้าง ถ้าเทียบกันแล้ว ผมคิดว่ามีเทคโนโลยีจะดีกว่าไม่มี เพราะช่วยผู้สูงอายุได้เยอะ

"ตัวเลขอายุ ≠ ความแก่" 

คนล้มคนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายมันแพงกว่าการลุกขึ้นปรับสภาพแวดล้อม เพราะในอนาคตเราจะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก และขณะเดียวกัน ถ้าปรับให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ ที่เรียกว่า “Universal Design” หรือ UD สอดคล้องกับ “อยู่ดี” ก็จะทำให้ลดการเกิดเจ็บหนักได้

แต่..จะทำอย่างไรให้อยู่ดี ? อ.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า ในด้านสภาพแวดล้อมพื้นต่างระดับ คนมักจะล้มกันตรงนี้  หากทำทางลาด มีราวจับ พื้นไม่ลื่น ไม่ว่าจะในห้องน้ำ ในบ้าน หรือถนนหนทาง ก็จะช่วยได้เยอะ

นอกจากนี้ เรื่อง “แสงสว่าง” ก็สำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยในช่วงกลางดึก หรือเช้าตรู่ที่ยังมืดอยู่ ผู้สูงอายุที่มักจะต้องไปปัสสาวะซึ่งมักจะคิดว่าตัวเองคุ้น เพราะอยู่บ้านหลังนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว  ไม่ต้องเปิดไฟก็ได้ แต่ก็เสี่ยงที่จะสะดุด หกล้ม ซึ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ ก็มีตัวช่วยในด้านการให้แสงสว่างอัตโนมัติ โดยมีเซนเซอร์ติดที่ใต้เตียง พอขาหย่อนปุ๊บไฟก็สว่างที่พื้น หรืออย่างเมื่อเดินเข้าไปในห้องน้ำที่เซนเซอร์ ไฟก็เปิดเองได้

ส่วน Smart Watch นาฬิกาอัจฉริยะจะมาช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหว ในกรณีที่ผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำนาน ก็จะส่งสัญญาณเตือนไปยังโทรศัพท์อีกเครื่อง หากเกิดอะไรขึ้นก็สามารถช่วยได้ทันเวลา หรือสายรัดข้อมือที่ช่วยติดตามพิกัด เพื่อใช้ในการตามหาตัวผู้สูงอายุกรณีหายออกจากบ้าน หรือขาดการติดต่อ

“ผมคิดว่า ถ้าลุกขึ้นมาปรับสภาพแวดล้อมจะช่วยทำให้คนไม่เกิดอุบัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุก็จะพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ผมถือว่า คนแก่ คือ คนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องไม่พยายามแก่ แก่ไม่ใช่ตัวเลข แก่คือพึ่งพาตัวเองไม่ได้”

โควิด-19 เร่งเร้าคนปรับตัวหันพึ่งเทคโนโลยี

อ.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการ “รักษาทางไกล” คนไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างเดียว สามารถเปิดแอปพลิเคชันพูดคุยกับหมอได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต 


“โควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เราต้องตรวจ ATK เอง เดิมทีพวกเรา Test อะไรกันเองไม่ค่อยเป็น ทำให้ต่อไปก็สามารถ Test อะไรเองได้ แล้วก็ส่งออนไลน์ไปปรึกษาหมอ  เขาก็บอกกลับมา เห็นไหมเทคโนโลยีก็ช่วยเรื่องสุขภาพได้เยอะ”

การจะให้ “ผู้สูงอายุ” หันเข้าหาเทคโนโลยี ต้องให้เห็น “ความจำเป็น” ประโยชน์ จะทำให้เขาฝึกฝนและเรียนรู้..

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Solutionsเจิมศักดิ์ ปิ่นทองวันผู้สูงอายุแห่งชาติผู้สูงวัยผู้สูงอายุเทคโนโลยียุคดิจิทัล
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด