รู้ระดับความรุนแรงของแดด ผ่านค่าดัชนี UV (UV Index)


Lifestyle

8 พ.ค. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
รู้ระดับความรุนแรงของแดด ผ่านค่าดัชนี UV (UV Index)

ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ว่า “แสงแดด” กับประเทศไทย เป็นของคู่กัน และไม่มีวันจะหลีกหนีกันไปได้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร มีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตแบบไหน จะเป็นพ่อค้าแม่ค้า ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งทั้งวัน หรือเป็นพนักงานบริษัท ที่เจอแดดบ้างบางเวลา เราต่างเป็นผู้ประสบภัย (ทางความร้อน) กันทั้งนั้น

แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าความร้อน คือรังสี UV ที่แผ่ออกมาพร้อมแสงแดด และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายของเราได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ร่มหรือกลางแจ้งก็ตามที  

วันนี้ ไทยพีบีเอส เลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับค่าดัชนี UV หรือ UV Index อีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ เพื่อเตรียมรับมือกับแสงแดดและความร้อนกันแบบชัดๆ ก่อนที่ร่างกายจะพังหรือเริ่มส่งสัญญาณเตือนมา (ซึ่งถึงเวลานั้น ก็อาจดูแลรักษาไม่ทันแล้ว)

UV Index คืออะไร ?

UV Index คือค่าดัชนีที่บ่งบอกความเข้มข้นของรังสี UV หรือ Ultra Violet (อัลตราไวโอเลต) ที่มาพร้อมกับแสงแดด โดยวัดจากปริมาณของความเข้มข้นรังสียูวี จากพระอาทิตย์ที่ส่องลงมาบนพื้นผิวโลกในเวลา 12.00 น. หรือเวลาเที่ยงวัน

ซึ่งสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ได้มีการคิดค้น UV Index หรือการวัดค่าดัชนี UV ขึ้นมา ก็เพื่อให้เราได้รู้ระดับความรุนแรงของแสงแดดได้ล่วงหน้า จะได้รู้วิธีการป้องกันตัวเองในชีวิตประจำวันนั่นเอง 
 

UV Index แบ่งออกเป็นกี่ระดับ และมีอะไรบ้าง ?

เราสามารถแบ่งระดับค่าดัชนีของรังสียูวี (UV Index) ออกเป็น 5 ระดับ โดยอ้างอิงจากค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแต่ละระดับจะมีความรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกัน ดังนี้

ระดับสูงจัด (Extreme) : มีค่าดัชนี UV มากกว่า 11 นั่นแปลว่ารังสี UV ที่แผ่ออกมามีความเข้มข้นสูงที่สุด จนสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงแดดคือ 11.00-13.00 น.

ระดับสูงมาก (Very High) : มีค่าดัชนี UV อยู่ที่ 8-10 แปลว่ารังสี UV ที่แผ่ออกมานั้นมีความเข้มข้นสูงมาก จนสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงแดดคือ 14.00-15.00 น. 

ระดับสูง (High) : มีค่าดัชนีอยู่ที่ 6-7 แปลว่ารังสี UV ที่แผ่ออกมานั้นมีความเข้มข้นสูง ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงแดดคือ 9.00 น. และ 15.00 น. 

ระดับปานกลาง (Moderate) : มีค่าดัชนีอยู่ที่ 3-5 แปลว่ารังสี UV ที่แผ่ออกมานั้นมีความเข้มข้นปานกลาง และไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย มักพบในช่วงเวลา 8.00 น. และ 16.00 น. 

ระดับต่ำ (Low) : มีค่าดัชนีน้อยกว่า 2 แปลว่ารังสี UV ที่แผ่ออกมามีความเข้มข้นน้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย มักพบในช่วงเวลา 7.00 น.

ระดับค่าดัชนี UV

เช็คค่า UV Index ได้จากที่ไหน?

ปัจจุบันนี้ เราสามารถเช็คค่า UV Index ได้สะดวกรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันรายงานสภาพอากาศ (Weather) ซึ่งมีติดมาในโทรศัพท์แทบทุกรุ่น หรือจะค้นหาแบบเรียลไทม์บนแอปพลิเคชัน UV Index (มีทั้ง android และ iOS) ก็ได้

หรืออีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับคนที่ไม่สะดวกเข้าแอปฯ สามารถเช็คค่า UV Index ในเว็บไซต์ Weather Online UK หรือเว็บไซต์ของศูนย์โอโซนและรังสี กรมอุตุนิยมวิทยา  ซึ่งความพิเศษของสองเว็บไซต์นี้ก็คือ เราสามารถดูค่า UV Index อีก 3-5 วันข้างหน้าได้ด้วย  

ผลกระทบของรังสี UV

เมื่อร่างกายได้รับรังสี UV ในระดับสูง-สูงจัด เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังและดวงตาเกิดการระคายเคือง เช่น ผิวหนังไหม้ (Sunburn) , มีฝ้าหรือกระขึ้นบนหน้า, รู้สึกคันและปวดแสบปวดร้อน บริเวณที่โดนแดด , เป็นโรคกระจกตาอักเสบ หรือโรคมะเร็งผิวหนังได้

วิธีการป้องกันรังสี UV จากแสงแดด

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ในเวลาที่มีค่า UV Index สูง
  • สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่มกันแดด เวลาที่ต้องเดินกลางแจ้ง 
  • ใส่แว่นกันแดด เพื่อปกป้องดวงตาและผิวรอบดวงตาที่บอบบาง
  • สวมเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันรังสี UV ได้ 
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง เช่น SPF30 หรือ SPF50 ก่อนออกข้างนอกทุกครั้ง

เพียงเท่านี้ เราก็จะปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากรังสี UV ได้แล้ว เพราะการรู้ค่า UV Index จะทำให้เรารู้วิธีป้องกันตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา:  ศูนย์โอโซนและรังสี กรมควบคุมโรค, เว็บไซต์ Weather Online UK และ U.S. Environmental Protection Agency

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

UV Indexค่าดัชนี UVระดับความรุนแรงรังสี UVอากาศร้อนสภาพอากาศวันนี้
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ