กระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ กระสวยอวกาศลำแรก ที่ถึงแม้ว่ากระสวยอวกาศลำนี้จะไม่ได้เดินทางไปยังอวกาศเหมือนกับลำอื่น ๆ แต่กระสวยอวกาศลำแรกนี้ก็มีความสำคัญต่อภารกิจกระสวยอวกาศรวมไปถึงการสืบสวนความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทั้งสองครั้ง
กระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่ NASA สร้างขึ้น เพื่อทดสอบคุณสมบัติทางอากาศพลศาสตร์ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงกระสวยอวกาศที่ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาสมบัติด้านอากาศพลศาสตร์และการสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่ง และมันไม่เคยเดินทางออกนอกโลกเหมือนกับกระสวยอวกาศลำอื่น ๆ ของ NASA แต่กระสวยอวกาศลำนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในภารกิจกระสวยอวกาศและเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จของโครงการกระสวยอวกาศของสหรัฐฯ
จุดเริ่มต้นของกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์นั้นเริ่มต้นเมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน (Richard M. Nixon) สร้างระบบขนส่งระหว่างโลกกับอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Space Transportation System (STS) โดยระบุว่า "มันจะปฏิวัติการขนส่งอวกาศ" เจมส์ ซี. เฟล็ตเชอร์ (James C. Fletcher) ซึ่งผู้บริหาร NASA ในเวลานั้นได้กล่าวถึงการตัดสินใจของประธานาธิบดีว่าเป็น “ก้าวประวัติศาสตร์ในโครงการอวกาศของสหรัฐฯ” (An historic step in the nation’s space program.)
หลังจากที่สภาคองเกรสอนุมัติเงินทุนเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1972 NASA ได้ทำสัญญากับบริษัท North American Rockwell Corporation ในการว่าจ้างประกอบกระสวยอวกาศลำแรก Orbital Vehicle-101 (OV-101) ที่โรงงาน Rockwell's Downey และก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดตัวในวันที่ 17 กันยายน 1976
เดิมทีกระสวยอวกาศ OV-101 นั้นมีชื่อเรียกว่า Constitution และมันถูกออกแบบมาเพื่อการบินในชั้นบรรยากาศเท่านั้น ไม่สามารถบินขึ้นสู่อวกาศได้ แต่อย่างไรก็ตาม แฟน ๆ ของซีรีส์นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง "Star Trek" ได้ตัดสินใจรวบรวมรายชื่อเพื่อสร้างแคมเปญการเปลี่ยนชื่อกระสวยอวกาศลำนี้เข้ามาอย่างจริงจังและตั้งใจ ทำให้ NASA เปลี่ยนชื่อยานจาก Constitution เป็นกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ (Space Shuttle Enterprise) ตามคำเรียกร้องของแฟน ๆ
หลังจากที่กระสวยอวกาศก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ตัวกระสวยอวกาศได้เดินทางข้ามเมืองจากเมืองปาล์มเดลไปยังศูนย์อวกาศไดเดนของ NASA โดยเครื่องบิน Boeing 747 ที่ถูกดัดแปลงพิเศษ เป็นอากาศยานสำหรับขนส่งกระสวยอวกาศโดยเฉพาะ ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่กระสวยอวกาศอยู่ที่ศูนย์อวกาศไดเดนนั้น มันถูกทดสอบระบบต่าง ๆ ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ ระบบการบินในชั้นบรรยากาศ และนำกระสวยอวกาศออกเดินทางต่อไปยังศูนย์อวกาศมาร์แชล (NASA Marshall Space Flight Center) เพื่อทดสอบการสั่นสะเทือนทั้งแบบตัวกระสวยอวกาศเองและกระสวยอวกาศถูกติดตั้งกับถังเชื้อเพลิงภายนอกและจรวดเชื้อเพลิงแข็ง เพื่อให้มั่นใจว่ากระสวยอวกาศที่ออกแบบมานั้นสามารถทำงานได้จริง จากนั้น วันที่ 10 เมษายน 1979 มันได้ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศมาร์แชลไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดีซึ่งจะเป็นอีกภารกิจที่สำคัญและเป็นประตูสู่อวกาศของโครงการกระสวยอวกาศ
ภายหลังการทดสอบต่าง ๆ ในศูนย์อวกาศทั้งหลายของสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ได้เดินทางมาสู่ศูนย์อวกาศเคนเนดีเพื่อรับการทดสอบรอบสุดท้าย ได้แก่การทดสอบการขนย้ายกระสวยอวกาศจากอาคารเก็บจรวดออกไปยังฐานปล่อยจรวด 39A ซึ่งเป็นการทดสอบที่สำคัญมากอีกการทดสอบหนึ่ง ยานพาหนะขนย้ายจรวดในโครงการกระสวยอวกาศนั้นเป็นรถพาหนะที่ถูกดัดแปลงจากรถพาหนะขนย้ายจากสมัยโครงการอะพอลโลที่ใช้เพื่อขนย้ายจรวด Saturn V การทดสอบได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 25 เมษายน 1979 ซึ่งทำขึ้นเพื่อหาความเร็วที่เหมาะสมสำหรับการขนย้ายจรวดจากโรงประกอบจรวดของศูนย์อวกาศเคนเนดีไปยังฐานปล่อยจรวดให้ได้อย่างปลอดภัย
การทดสอบการขนส่งและการขนถ่ายเชื้อเพลิงเสมือนจริงของกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์นั้นทำให้ทางวิศวกรของ NASA พบว่าระหว่างการเติมเชื้อเพลิงเหลวให้กับถังเชื้อเพลิงแยกของกระสวยอวกาศบนฐานปล่อยจรวด ด้วยอุณหภูมิที่เย็นจัดของเชื้อเพลิงเหลวที่ถูกบรรจุเข้าไปจะทำให้ผนังของถังมีน้ำแข็งเกาะปกคลุมซึ่งอาจจะเป็นอันตรายเนื่องจากการสะสมตัวของชั้นน้ำแข็งบนถังเชื้อเพลิงระหว่างการนับถอยหลังการปล่อยจรวด ทางวิศวกรจึงได้ออกแบบระบบเพื่อกำจัดชั้นน้ำแข็งหนาบนถังเชื้อเพลิงด้วยท่อออกซิเจนเหลวเหนือตำแหน่งของถังเชื้อเพลิง หรือที่เรียกกันว่า Beanie Cap ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่สำคัญและพบได้เมื่อทำการทดสอบเสมือนจริงเท่านั้น
ภายหลังการปล่อยกระสวยอวกาศโคลัมเบียและชาเลนเจอร์ หน้าที่ของกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ก็หมดลง NASA เคยมีแผนการปรับปรุงกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ให้สามารถเดินทางสู่อวกาศเหมือนกับกระสวยอวกาศลำอื่น ๆ ได้ แต่โครงการนั้นก็ต้องถูกยกเลิกไปเนื่องจากว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับปรุงนั้นไม่คุ้มค่า กระสวยอวกาศเอ็นเตอร์ไพรส์จึงทำหน้าที่เป็นตัวสาธิตและตั้งโชว์ในกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นตัวแทนของกระสวยอวกาศในการจัดนิทรรศการต่าง ๆ ระหว่างประเทศ เช่น การจัดแสดงกระสวยอวกาศเอ็นเตอร์ไพรส์ในงาน World Fair 1984 ที่สหรัฐอเมริกา หรือ การเดินทางไปยังยุโรป ซึ่งได้แวะโชว์ตัว ณ สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ที่งานปารีสแอร์โชว์ประจำปี 1983 หลังจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 1985 มันก็ถูกปลดระวางและถูกโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่สถาบัน Smithsonian ซึ่งมีแผนที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องบินขนาดใหญ่ ทำให้มันต้องรอคอยส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์อีก 18 ปี
ในช่วงระยะเวลา 18 ปีที่มันรอคอยอาคารพิพิธภัณฑ์ NASA ได้ยืมกระสวยอวกาศจากทาง Smithsonian เพื่อใช้ในการทดสอบต่าง ๆ ภายหลังจากอุบัติเหตุของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ในปี 1986 เช่น ในปี 1987 ได้มีการทดสอบแผนการช่วยเหลือลูกเรือหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น และการทดสอบการลงจอดฉุกเฉินด้วยระบบสลิงชะลอความเร็วฉุกเฉินเหมือนกับบนเรือบรรทุกเครื่องบิน
กระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ยังมีโอกาสสำคัญในการร่วมสอบสวนอุบัติเหตุของกระสวยอวกาศโคลัมเบียในปี 2003 อีกด้วย วิศวกรของ NASA ได้ถอดปีกของกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์เพื่อทดสอบสมมติฐานว่าโฟมกันความร้อนสามารถทำลายปีกของกระสวยอวกาศโคลัมเบียได้หรือไม่ ซึ่งผลจากการทดสอบกับปีกของกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ทำให้มั่นใจได้ว่าโฟมกันความร้อนเป็นตัวการสำคัญในอุบัติเหตุครั้งนั้น
ภายหลังจากการยุติโครงการกระสวยอวกาศในปี 2011 กระสวยอวกาศต่าง ๆ จึงถูกแจกจ่ายออกไปยังพิพิธภัณฑ์ทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ได้มาแทนที่กระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์ในสถานที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Smithsonian ทางสถาบันจึงมีแผนย้ายตัวกระสวยอวกาศเอนเตอร์ไพรส์จาก Smithsonian ไปยังพิพิธภัณฑ์ Intrepid Sea, Air & Space บนอดีตเรือบรรทุกเครื่องบิน Intrepid ของกองเรือสหรัฐในนิวยอร์ก และมันถูกจัดแสดงอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน Intrepid ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2012 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงถือได้ว่า อดีตเรือบรรทุกเครื่องบิน Intrepid เป็นบ้านหลังสุดท้ายของกระสวยอวกาศลำแรกและลำเดียวที่ไม่เคยบินออกนอกอวกาศเลย
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech