ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกษาพันธุกรรม “มันม่วง” เพื่อลดโอกาสสูญพันธุ์


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

3 เม.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ศึกษาพันธุกรรม “มันม่วง” เพื่อลดโอกาสสูญพันธุ์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1019

ศึกษาพันธุกรรม “มันม่วง” เพื่อลดโอกาสสูญพันธุ์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

แม้ว่าป่าไม้ประเทศไทยจะมีความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพทางภูมิอากาศ ตั้งอยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมสองชนิด คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีความหลากหลายของระบบนิเวศและพรรณพืชหลายชนิด แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรม และมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรเห็นปัญหา ทรงได้รับสั่งให้ดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เพื่อเป็นแนวทางหลักในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) และการจัดตั้งธนาคารพืชพรรณ รวมถึงทรงสนับสนุนให้มีการรวบรวมพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนประโยชน์ของพืชชนิดต่าง ๆ การทำเกษตรกรรม และเพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ทำการสนับสนุน เพื่อรวมอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงสนับสนุนการวิจัยของ นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม นักวิชาการเกษตร, รองศาสตราจารย์พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและขยายพันธุ์ “มันม่วง” (Dioscorea alata L.)

ศึกษาพันธุกรรม “มันม่วง”

เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าด้วยเทคนิคเครื่องหมายดีเอ็นเอ ศึกษาวิธีการขยายพันธุ์และวิธีการปลูกมันป่าเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี เพื่อศึกษาวิธีการทำเมล็ดเทียมสำหรับการอนุรักษ์พันธุกรรมและขยายพันธุ์มันป่า พร้อมวิเคราะห์ปริมาณสาระสำคัญ ได้แก่ saponin และ diosgenin พร้อมสร้างแปลงรวบรวมสายพันธุ์มันป่าสำหรับเป็นธนาคารพันธุกรรมพืชต่อไป

การศึกษาพันธุกรรม “มันม่วง”

รองศาสตราจารย์พีระศักดิ์ ฉายประสาท กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวพบว่า “มันป่า” มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน น้ำตาล วิตามิน แคลเซียม โซเดียม ไฟเบอร์สูง แคโรทีนอยด์ และแอนโทไซยานินรวมอยู่ ทั้งนี้ ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระในการป้องกันและยับยั้งโรคเบาหวานรวมถึงสามารถลดระดับไขมันในเลือด นอกจากนี้การรับประทานมันเลือดยังสามารถช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศ และช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดหัวใจ ได้อีกด้วย

ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจและจำแนกชนิดของมันป่า พบว่า “มันป่า” มีอยู่ด้วยกัน 13 ชนิด ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศ แบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ได้ 7 ชนิด โดยแบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ทางอาหาร 5 ชนิด อาทิ กลอย มันเลือด มันแซง มันมือเสือ และมันคันขาว และการใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรม 2 ชนิด ได้แก่ กลิ้งกลางดง และยั้ง

มันม่วง

รองศาสตราจารย์พีระศักดิ์ ฉายประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยนี้มีส่วนช่วยป้องกันการสูญพันธุ์เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงส่งเสริมให้คนในชุมชนตระหนักและหวงแหนที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางพันธุกรรม ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความรู้การใช้ประโยชน์ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มันม่วงพันธุกรรมมันม่วงวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด