Thai PBS Sci & Tech ชวนรู้จัก พรรณไม้น่ารู้หายาก “มหาพรหมราชินี” Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & M.K.R. Saunders วงศ์ ANNONACEAE ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณชายป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,100 ม.
โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น และผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลนี้คือ Dr. Aruna Weerasooriya และ Dr. M.K.R. Saunders จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้ร่วมกันตรวจสอบเอกลักษณ์ และได้ขอพระราชทานชื่อ “มหาพรหมราชินี” เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดใหม่นี้ ในปี พ.ศ. 2547
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระยรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ได้พระราชทานพระราชานุญาติให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพันธุ์ไม้ “มหาพรหมราชินี” มีชื่อวิทยาศาสตร์ Mitrephora sirikitiae เพื่อช่วยอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไว้ให้คงอยู่ยั่งยืนเป็นสมบัติของลูกหลานไทยต่อไป
ทั้งนี้ “มหาพรหมราชินี” เป็นไม้ต้น สูง 4-6 เมตร ปลายกิ่งมีขนสีเทาอ่อนปกคลุม ใบเดี่ยว รูปรีแกมขอบขนาน ผิวใบเกลี้ยง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกสีขาวแกมม่วง ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 1-3 ดอก ใกล้ปลายยอด ดอกบานเต็มที่กว้าง 8-10 เซนติเมตร มี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงนอกกลีบดอกแผ่กว้างปลายแหลม วงในส่วนโคนสีเขียวอ่อน ตอนปลายสีม่วงเข้ม และม้วนงอประกบกันเป็นกระเช้าตรงกลางดอก ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 10-15 ผล รูปทรงกระบอก ขนาดผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร
พบครั้งแรกที่ชายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอน มีสถานภาพเป็นไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ แต่ปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง ต่อกิ่ง และเสียบยอดกับต้นพืชสกุลเดียวกัน จึงทำให้มีจำหน่ายในตลาดต้นไม้ สามารถหาซื้อไปปลูกเลี้ยงกันได้ทั่วไป
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.วีระชัย ณ นคร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech