แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว : ไม่ใช่ “นักข่าว” ปมถาม “แผ่นดินไหว” เพราะ “สมรสเท่าเทียม-กาสิโน”

29 มี.ค. 6818:07 น.
สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว : ไม่ใช่ “นักข่าว” ปมถาม “แผ่นดินไหว” เพราะ “สมรสเท่าเทียม-กาสิโน”

Thai PBS Verify พบคลิปที่อ้างว่าเป็นเสียงของผู้สื่อข่าว ที่สอบถามขณะสัมภาษณ์เหตุแผ่นดินไหว อ้างว่าสาเหตุเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลผ่าน กฎหมายสมรสเท่าเทียม และ กาสิโน ตรวจสอบพบไม่ใช่นักข่าวแต่อย่างใด

คลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นเสียงของผู้สื่อข่าว อ้างว่าสาเหตุเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลผ่าน กฎหมายสมรสเท่าเทียม และ กาสิโน ซึ่งมีผู้ชมไปกว่า 1.2 ล้านครั้ง ตรวจสอบพบไม่ใช่นักข่าวแต่อย่างใด ด้านสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ย้ำชัดเป็นเสียงคำถามของประชาชนที่มาอยู่ในวงล้อมของการสัมภาษณ์

แหล่งที่มา : Facebook

กระบวนการตรวจสอบ

Thai PBS Verify ตรวจสอบกรณีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก "Nuttawut Wang" โพสต์คลิปวิดีโอระบุ "นักข่าวถาม แผ่นดินไหว ตึกถล่มเป็นเพราะมี พ.ร.บ.สมรสเพศเดียวกัน E🦏🦓🐆🐖🦜 นักข่าวช่องไหน... ต้องเปิดหน้าออกมาเลย ไมค์มุมนั้นมีช่องอะไรบ้างเปิดออกมาเลย คนโง่ ๆ แบบนี้...ให้เข้ามาทำงานเป็นสื่อได้ไง..." ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าชมไปกว่า 1.2 ล้านครั้ง รวมถึงแสดงความรู้สึกกว่า 5,100 ครั้ง และแชร์คลิปดังกล่าวไปกว่า 5,000 ครั้งด้วยกัน

 

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์เท็จ

 

เราตรวจสอบพบว่า การสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 29 มีนาคม 2568 บริเวณเหตุอาคารก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถนนกำแพงเพชร ย่านจตุจักร ที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งในขณะที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลภาค กทม. และอดีตนายกสภาวิศวกรสถานแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ดูสถานที่เกิดเหตุ ได้มีการขอสัมภาษณ์จากบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ (ลิงก์บันทึก)

ทั้งนี้ขณะสัมภาษณ์ได้มีเสียงของผู้หญิงรายหนึ่งสอบถามว่า "ทุกคนควรจะรับรู้นะคะว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากบาปของผู้คน โดยเฉพาะกฎหมายรักร่วมเพศที่เพิ่งทำไป และกาสิโนที่กำลังจะเกิดขึ้นนี่คือความพิโรธของพระเจ้า" (ลิงก์บันทึก)

 

นักข่าวในพื้นที่ยืนยันผู้หญิงในคลิปไม่ใช่นักข่าว

เราทำการตรวจสอบกับ นายรัชตะ ไทยตระกูลพาณิช ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ONE 31 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ และเป็นผู้สอบถามต่อจากผู้หญิงในคลิป โดย นายรัชตะ ระบุว่า ผู้ที่สอบถามในเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่นักข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์บริเวณนั้นเพียงเท่านั้น รวมถึงไม่ทราบที่มาที่ไป พร้อมกับยืนยันว่าไม่ใช่นักข่าวอย่างแน่นอน

 

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความยืนยันจาก นายรัชตะ ไทยตระกูลพาณิช ผู้สื่อข่าว ยืนยันผู้หญิงในคลิปไม่ใช่ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกับ นายธนภัทร ติรางกูล ผู้สื่อข่าวช่องเวิร์คพอยท์ ที่ภายหลังได้มีการโพสต์ระบุว่า จากการสอบถามกับทีมข่าว พบว่าผู้หญิงรายดังกล่าวไม่ใช่ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์ของของผู้สื่อข่าวที่ยืนยันว่าผู้หญิงรายดังกล่าวไม่ใช่นักข่าว

 

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ชี้แจงยันไม่ใช่นักข่าว

ขณะที่ นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ได้มีการชี้แจงเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ขอชี้แจงแทนสื่อมวลชนภาคสนามเพื่อลดความเข้าใจผิดว่า จากการตรวจสอบจากนักข่าวภาคสนาม ทำให้ทราบว่าเสียงคำถามดังกล่าวไม่ใช่เป็นคำถามจากนักข่าวที่ลงพื้นที่ทำข่าว แต่เป็นเสียงคำถามของประชาชนที่มาอยู่ในวงล้อมของการสัมภาษณ์ (ลิงก์บันทึก)

นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP)

ทั้งนี้ในสถานการณ์ภัยพิบัติมักมีข้อมูลข่าวสารทั้งเนื้อหา คลิป และภาพ ที่เป็นข่าวปลอมและสร้างความเข้าใจผิด อาทิ เป็นข้อมูลเก่า เป็นข้อมูลคนละเหตุการณ์และสถานที่ จึงขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลก่อนนำเสนอทุกครั้งเพื่อไม่ซ้ำเติมสถานการณ์

#สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ชี้แจงระบุ เสียงคำถามในคลิปไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นเสียงคำถามของประชาชนที่มาอยู่ในวงล้อมของการสัมภาษณ์

Thai PBS Verify ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัย และขอให้ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยจากข่าวลวงที่แฝงมาในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้