แหล่งที่มา : Facebook
Thai PBS Verify ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ,สวนมะยงชิด,สวนมะนาว" ซึ่งมียอดกดถูกใจ 1,700 คน รวมถึงมียอดผู้ติดตาม 1,500 คน ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กขายมะยงชิด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ระบุข้อความดังนี้
#มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าแท้ 100% 🥭🥭
#รับประกัน เนื้อกรอบ เม็ดลีบ ลูกใหญ่ หอมหวาน ชื่นใจ
- มะยงชิดคัดไซซ์จัมโบ้พิเศษ 12-14 ลูกต่อกิโล
รับ- 3 gk 390.+40=430.พร้อมส่ง✨️
รับ -5 gk 590.฿ ส่งฟรี ✨️
รับ -10 gk 1,100.฿ ส่งฟรีแช่เย็น
- เราห่อโฟมกันกระแทกให้ทุกลูก
- มีบริการจัดฟรีส่งทั่วประเทศ
- สินค้า แตกเน่าเสีย ระหว่างการเดินทาง ทางเรารับเปลี่ยนให้ฟรี หรือ ยินดีคืนเงินให้คะ🙏
#สนใจสั่งซื้อสอบถามแอดมินเพิ่มเติมได้ค่ะ
เราพบว่าโฆษณาดังกล่าวมีผู้สนใจกดแสดงความรู้สึกถึง 2,300 คน รวมถึงถูกแชร์ไปกว่า 50 ครั้ง และมีผู้สนใจสอบถามเข้าไปถึงกว่า 340 ครั้ง
อย่างไรก็ตามเราตรวจสอบภายในเพจดังกล่าวพบว่า โพสต์ต่าง ๆ ของเพจดังกล่าว มีการแสดงความรู้สึกโกรธในโพสต์ต่าง ๆ จำนวนมาก เราจึงใช้การตรวจสอบภาพด้วยเครื่องมือ Google Lens ทำการตรวจสอบภาพในโพสต์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโพสต์ที่เพจดังกล่าวระบุว่า (ลิงก์บันทึก)
เชิญชมสวน...
🌿🌿บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ,สวนมะยงชิด🍋🍋
76W8+Q86 ตำบล เขาพระ อำเภอเมืองนครนายก นครนายก 26000
- เปิดชม จันทร์ - พุธ
09:00-16:00 นน.
#ขออนุญาตเอารูปมารีวิวนะคะ
เราพบว่า หนึ่งในภาพของโพสต์ดังกล่าว ไปตรงกับภาพของเพจ "มะยงชิดที่สวนบ้านฉัน พะเยา" ซึ่งได้โพสต์ภาพดังกล่าวไว้ตั้งแต่ วันที่ 29 มีนาคม 2565 (ลิงก์บันทึก)
เราสอบถามไปยังเพจ "มะยงชิดที่สวนบ้านฉัน พะเยา" ซึ่งผู้ดูแลเพจได้ยืนยันว่า ภาพที่ถูกนำไปใช้ เป็นภาพของเพจ "มะยงชิดที่สวนบ้านฉัน พะเยา" จริง โดยเป็นภาพของ นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ที่ได้เดินทางมาที่สวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 และปัจจุบันผลผลิตของสวนดังกล่าว ก็ยังไม่พร้อมจำหน่ายแต่อย่างใด
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความยืนยันจากเพจ มะยงชิดที่สวนบ้านฉัน พะเยา ที่ยืนยันว่าถูกนำภาพไปแอบอ้าง
สำหรับชื่อ "บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ,สวนมะยงชิด,สวนมะนาว" ที่เพจดังกล่าวใช้ในการแอบอ้างนั้น เราพบว่าชื่อของสวนดังกล่าวมีอยู่จริง โดยสวนแห่งนี้อยู่ในจังหวัดนครนายก ซึ่ง น.ส.รฐตา เจ้าของสวน "บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ สวนมะยงชิด สวนมะนาว สวนทุเรียน" ระบุว่า ที่ผ่านมาสวนของเธอไม่เคยสร้างช่องทางการขายในโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เป็นสวนใหญ่ และมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว จนกระทั่งเดือน มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เธอพบว่าที่สวนมีคนมามากขึ้น จึงสอบถามจนทราบว่ามีการสั่งซื้อมะยงชิดจากเพจที่ชื่อ "บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ,สวนมะยงชิด,สวนมะนาว" แต่ไม่ได้สินค้า จึงได้รู้ว่าถูกนำชื่อและที่อยู่ไปใช้แอบอ้างในเพจ (ลิงก์บันทึก)
ทั้งนี้เธอได้มีการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครนายก ไว้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงแรก ๆ มีผู้เดินทางมาที่สวนของเธอถึงวันละ 4-5 คน และจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีผู้เสียหายโทรเข้ามาที่สวนของเธออยู่ ซึ่งแม้ตัวเธอจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับความเสียหายทั้งชื่อเสียง และกังวลถึงความปลอดภัยหลังเกิดเหตุดังกล่าวอีกด้วย เพราะผู้เสียหายบางรายไม่ทราบ แต่ได้มีการโทรมาต่อว่ากับทางสวนของเธอ (ลิงก์บันทึก)
เรายังได้ลองนำเลขบัญชีที่มิจฉาชีพใช้ในการลวงให้เหยื่อโอนเงินที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย มาทำการตรวจสอบในเว็ปไซต์ blacklistseller.com และพบว่า หนึ่งในเลขบัญชีที่คนร้ายใช้นั้น เคยถูกแจ้งว่า พบการหลอกโอนเงินด้วยเลขบัญชีดังกล่าว โดยมีผู้แจ้งว่าถูกหลอกซื้อกล้องในราคา 20,000 บาท เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา (ลิงก์บันทึก)
ขณะนี้เธอได้สร้างเพจของสวนขึ้นมา โดยใช้ชื่อ "บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ สวนมะยงชิด สวนมะนาว สวนทุเรียน - เพจจริงเปิดแล้ว" เพื่อป้องกันผู้หลงเชื่อเพจปลอมดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตามเราลองค้นหาด้วยคำสำคัญบนเฟซบุ๊ก และพบว่าขณะนี้มีเพจปลอมที่สร้างขึ้นมาหลอกเหยื่อถึง 6 เพจด้วยกัน โดยเพจที่มีผู้ติดตามสูงสุดคือ 1,700 คนนั้น จากการตรวจสอบในช่องความโปร่งใสของเพจ พบว่าถูกสร้างเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ดูแลอยู่ในประเทศไทย และ เมียนมา (ลิงก์บันทึก)
ขณะที่อีกหนึ่งเพจที่มีผู้ติดตาม 1,500 คนนั้น ถูกสร้างเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ดูแลอยู่ในประเทศไทย และ เมียนมา เช่นเดียวกัน (ลิงก์บันทึก)
ส่วนเพจที่มีการปลอมล่าสุด พบว่ามีการเลียนแบบภาพโปรไฟล์ของเพจ "บ้านมานิต วงษ์สุวรรณ สวนมะยงชิด สวนมะนาว สวนทุเรียน - เพจจริงเปิดแล้ว" โดยถูกเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อ พบว่าเคยเป็นเพจดังกล่าวเคยใช้ชื่อว่า "ก็อบ แปดริ้ว ศิษย์หลวงปู่หมุน" มาก่อน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 (ลิงก์บันทึก)
นอกจากนี้เรายังตรวจสอบภาพหน้าปกและภาพโปรไฟล์ของเพจปลอมดังกล่าว ด้วยเครื่องมือค้นหาภาพด้วย Google Lens พบว่า ภาพโปรไฟล์ที่ได้มีการโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ไปตรงกับภาพจากเพจ "สวนธัญพิชชา มะปรางหวาน ทุเรียนระยอง" ซึ่งเป็นเพจสวนผลไม้ในจังหวัดระยอง ที่ได้โพสต์ภาพดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)
เราได้สอบถามไปทางข้อความของสวนดังกล่าว ซึ่งเธอยืนยันว่า ถูกนำภาพไปใช้จริง โดยเธอทราบว่าถูกนำภาพไปแอบอ้างเนื่องจากมีผู้ทักเข้ามาสอบถามในเพจ ซึ่งเมื่อตรวจสอบก็พบว่าเธอถูกนำภาพไปใช้โฆษณาขายมะยงชิด แต่ในส่วนของข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ของสวน และเบอร์โทรศัพท์ กลับไม่ใช่ข้อมูลของเธอแต่อย่างใด จึงได้เข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา