ครึ่งทางแล้วกับ “เดือนรอมฎอน” หลังจากสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศให้วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันเริ่มต้นเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445
เดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ของปฏิทินอิสลาม) ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ชาวมุสลิมจะถือศีลอดด้วยการงดอาหาร เครื่องดื่ม และละเว้นข้อห้ามต่าง ๆ ตามที่ศาสนาบัญญัติในช่วงเดือนดังกล่าว และจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่แสงแรกของดวงอาทิตย์ปรากฏจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สำหรับ บทความนี้จะพาทุกคนมาดูกันว่า เดือนรอมฎอนเกี่ยวข้องกับความรู้ทางดาราศาสตร์อย่างไร
การเริ่มต้นเดือน “รอมฎอน” นับจากการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก
การเริ่มต้นและสิ้นสุดเดือนรอมฎอน รวมถึงเดือนกอมารียะห์ (เดือนอิสลาม) กําหนดด้วยการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ด้วยตาเปล่า โดยมุสลิมจะสังเกตฮีลาลในทุก ๆ วันที่ 29 ของเดือนกอมารียะห์ หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หากมีผู้ยืนยันว่าเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) วันถัดมาจะนับว่าเป็นวันแรกของเดือนถัดไป แต่หากไม่มีผู้ใดเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ก็จะนับเดือนนั้น ๆ ให้ครบ 30 วัน ดังนั้น ปฏิทินอิสลาม คือปฏิทินจันทรคติที่กําหนดวันตามการปรากฏของเฟสดวงจันทร์ (ลักษณะการเว้าแหว่งของดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งเดือน) สำหรับการกำหนดเดือนรอมฎอนในปีนี้ สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศให้มุสลิมในประเทศไทยสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2567 (วันที่ 29 ชะบาน ฮ.ศ. 1445) ปรากฏว่า ในวันดังกล่าว ไม่มีผู้เห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) จึงต้องนับเดือนชะบานให้ครบ 30 วัน และเริ่มวันที่ 1 รอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี

เดือน “รอมฎอน” ขยับเร็วขึ้นทุกปี
ในแต่ละปีเดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา 10 หรือ 11 วัน เมื่อเทียบปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) เพราะ 1 ปีของปฏิทินสากลนั้น มีจำนวนวัน 365 หรือ 366 วัน แตกต่างกับปฏิทินอิสลามแบบจันทรคติ (เดือนกอมารียะห์) ซึ่งมีทั้งหมด 12 เดือน โดยหนึ่งเดือนกอมารียะห์มีจำนวน 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก ดังนั้น 1 ปี ของปฏิทินอิสลาม จะมีจำนวนวันประมาณ 354 หรือ 355 วัน น้อยกว่าปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) อยู่ประมาณ 10 หรือ 11 วัน ส่งผลให้แต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา และฤดูกาลที่ถือศีลอดจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติ เป็นปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล สำหรับปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 (ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี) เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 ขยับเร็วขึ้นมากว่าปีที่แล้วประมาณ 11 วัน
และเนื่องจากปฏิทินจันทรคติแบบอิสลาม มีจำนวนวันที่น้อยกว่าปฏิทินสากลอย่างที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2573 (อีก 6 ปี) เดือนรอมฎอนจะมีถึง 2 ครั้ง ใน 1 ปีปฏิทินเกรกอเรียน โดยเริ่มเดือนรอมฎอนครั้งแรก ประมาณวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2573 และเดือนรอมฎอนจะมาเยือนอีกครั้งประมาณวันที่ 26 ธันวาคม ในปีเดียวกัน และเดือนรอมฎอนจะวนกลับมาเริ่มต้น ในวันที่ 12 มีนาคม อีกครั้งใน 33 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ. 2600
ระยะเวลาถือศีลอดในหนึ่งวันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเวลาขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่
ชาวมุสลิมจะเริ่มถือศีลอด ตั้งแต่แสงแรกของดวงอาทิตย์ปรากฏจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก โดยอนุญาตให้รับประทานอาหารก่อนแสงอรุณ (ซาโฮร) และรับประทานอาหารอีกครั้งหลังดวงอาทิตย์ตก ดังนั้น เวลาการขึ้น - ตกของดวงอาทิตย์ คือ ตัวกำหนดระยะเวลาการถือศีลอดของชาวมุสลิม และรู้หรือไม่ ระยะเวลาการถือศีลอดขึ้นอยู่กับเวลาขึ้น - ตกของดวงอาทิตย์ส่งผลให้ในหนึ่งวันของการถือศีลอดของมุสลิมแต่ละพื้นที่บนโลกนั้นไม่เท่ากัน
เนื่องจากแกนหมุนรอบตัวเองของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งฉากระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ บนโลก ได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกและระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกัน เช่น ช่วงฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ กลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน นั่นหมายความว่า เดือนรอมฎอนของแต่ละปี มุสลิมแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะถือศีลอดใน “ฤดูกาล” ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีระยะเวลากลางวัน - กลางคืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
และหากพิจารณาถึงข้อนี้ การที่ศาสนาอิสลามบัญญัติให้ใช้ปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเป็นปฏิทินแบบไม่ตรงตามฤดูกาล คือ การสร้างความเท่าเทียมในการถือศีลอด เปิดโอกาสมุสลิมทุกพื้นที่ทั่วโลก ได้ถือศีลอดในทุก ๆ ฤดูกาล ตลอดชีวิตของชาวมุสลิมคน ๆ หนึ่ง
สำหรับปีนี้ ชาวมุสลิมในประเทศไทยจะมีระยะเวลาถือศีลอดเฉลี่ยวันละเกือบ 13 ชั่วโมง และประเทศที่ถือศีลอดยาวนานที่สุดในปีนี้ คือชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศกรีนแลนด์ ถือศีลอดยาวนานที่สุด เฉลี่ยวันละ 17 ชั่วโมง 52 นาที ตามด้วยประเทศไอซ์แลนด์ เฉลี่ยวันละ 17 ชั่วโมง 25 นาที
ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น สวีเดน และสกอตแลนด์ จะถือศีลอดเฉลี่ยวันละ 16 ชั่วโมงกว่า ๆ และประเทศที่ระยะเวลาถือศีลอดสั้นที่สุด ได้แก่ นิวซีแลนด์ ถือศีลอดเฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 42 นาที และประเทศส่วนใหญ่ทางซีกโลกใต้ เช่น ชิลี ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ถือศีลอดเฉลี่ยวันละเกือบ 13 ชั่วโมง ซึ่งถือศีลอดยาวนานขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สุกัญญา มัจฉา เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech