ห้วงทุกต้นปีที่ “ปัญหามลพิษทางอากาศ” ของไทยเริ่มเข้าขั้นวิกฤต เรามักจะได้ยินคนพูดถึง “Air Quality Index” หรือ “AQI” และการจัดอันดับ โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ที่คนใช้กันบ่อย ๆ อย่าง IQAir แต่แท้จริงแล้ว ค่าและอันดับเหล่านี้บอกอะไรกันแน่ และมันสะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริงหรือไม่ ?
ปัญหามลภาวะทางอากาศนั้นเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แม้กระทั่งตัวมลภาวะเองนั้นก็สามารถมีได้หลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5, PM 10 ปริมาณแก๊สพิษในอากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), โอโซน (O3), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ล้วนแล้วต่างมีต้นกำเนิด และส่งผลต่อสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
ค่า AQI คืออะไร ?
เนื่องจากปัญหามลภาวะทางอากาศนั้นสลับซับซ้อน และมีปัจจัยอยู่ด้วยกันหลายข้อ มากเกินกว่าที่จะอธิบายได้ง่าย ๆ จึงมีการคิดค้นหาดัชนีค่าหนึ่ง เพื่อที่จะสามารถบอกได้ว่าอากาศนั้น “ดี” หรือ “แย่” เพื่อเตือนภัยประชาชน หรือให้ภาครัฐออกนโยบายได้ เกิดเป็นค่า Air Quality Index หรือ AQI ขึ้นมา
นิยามของค่า AQI อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตามความต้องการที่ต่างกัน แต่ค่าที่ประเทศไทยนิยมใช้มากที่สุดนั้นคือค่า US AQI ซึ่งขึ้นอยู่กับมลพิษในอากาศที่ถูกบรรจุอยู่ใน Clean Air Act ของสหรัฐฯ ด้วยกันทั้งสิ้น 5 ชนิด ได้แก่ ค่าโอโซนพื้นผิว, ค่าฝุ่นละอองในอากาศ, คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) โดยค่า AQI 100 จะสอดคล้องกับค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ของแต่ละมลพิษที่กำหนดโดย National Ambient Air Quality Standards (NAAQS) และค่า AQI ที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงระดับมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าตั้งแต่ AQI 300 เป็นต้นไปจะหมายถึงค่าอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่ค่า AQI 50 นั้นอาจจะหมายถึงอากาศที่มีคุณภาพในระดับดี
ค่าเฉลี่ยของมลพิษแต่ละชนิดในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น จะถูกแบ่งออกเป็นลำดับขั้น จากนั้นจะมีการคำนวณค่าจริงตามแต่ละขั้น เช่น หากเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ย PM2.5 ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาอยู่ที่ 79.6µg/m³ จะอยู่ในขั้นระหว่าง 55.5 -125.4 ซึ่งสอดคล้องกับค่า AQI ระหว่าง 100-200 นั่นก็คือตกอยู่ที่ AQI 163 จากนั้นจึงจะเทียบกับค่า AQI ที่วัดได้จากค่ามลพิษอื่น ๆ และจะใช้ค่า AQI ที่มีค่า “สูงสุด” เท่านั้นในการแสดงผล
แต่จากวิธีการคำนวณ จะเห็นได้ว่าค่า AQI มีปัญหาบางอย่าง อันดับแรกในการคำนวณค่าที่เป็นลำดับเช่นนี้ ทำให้ค่าที่ได้นั้นไม่ได้เป็นสัดส่วนกัน เช่น หากค่า AQI ที่เกิดขึ้นจาก PM 2.5 เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 100 เป็น 200 นั้น เราจะพบว่าค่า PM 2.5 นั้นอาจจะเพิ่มขึ้นจาก 35.4 เป็น 125.4 µg/m³ หรือคิดเป็นเกือบสามเท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้การที่เลือกค่า AQI มาแสดงเพียงค่าเดียว ย่อมหมายความว่าค่า AQI ที่เท่ากันนั้นอาจจะบอกเราไม่ได้ว่าเมืองสองเมืองนั้นกำลังประสบปัญหามลพิษชนิดเดียวกันหรือไม่ และการเลือกค่าที่สูงที่สุดมาแสดงเพียงค่าเดียวอาจจะบอกเราไม่ได้ว่านอกจากปัญหามลพิษชนิดหนึ่ง เช่น ฝุ่นละออง เมือง ๆ นั้นอาจจะประสบปัญหามลพิษในรูปแบบอื่นพร้อมกันด้วยหรือไม่
การจัดลำดับ “IQAir”
การจัดลำดับของเมืองตามค่า AQI นั้นก็ตามมาด้วยปัญหาอีกบางประการ เนื่องจากเว็บไซต์ที่เรามักจะอ้างอิงกันไม่ได้เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เก็บข้อมูลโดยตรง แต่เป็นข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือวัดของภาคเอกชนที่รายงานค่าข้อมูลเข้ามา ทำให้ข้อมูลที่ได้นั้นอาจจะไม่ใช่ข้อมูลดิบ และอาจมีข้อผิดพลาด
นอกจากนี้ การจัดลำดับจะทำได้เฉพาะจากเมืองที่มีข้อมูลบันทึกเข้าเว็บไซต์อยู่แล้ว ในบางวันเราอาจรู้สึกว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีค่า AQI สูงที่สุดในโลก แต่หากเราไปดูข้อมูลประเทศไทยแล้ว เราอาจพบว่าในวันเดียวกันนั้น จังหวัดอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอาจมีค่า AQI สูงกว่าเสียอีก ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเว็บไซต์รายงานผลจะเลือกแสดงค่าเฉพาะเมืองที่มีเครื่องวัดติดตั้งอยู่ และจะนำไปจัดลำดับโลกเฉพาะเพียงจังหวัดใหญ่ไม่กี่จังหวัดเท่านั้น
ความจำเป็นของการ “เก็บข้อมูล” อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า แท้จริงแล้วค่าคุณภาพอากาศของภาคเหนือในประเทศไทยช่วงนี้ไม่ได้แย่แต่อย่างใด เราต่างก็เห็นกันเป็นที่ประจักษ์ว่าดอยสูงได้เลือนหายไปในม่านฝุ่นหนาทึบ รวมถึงจำนวนของผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาอยู่บ้างเกี่ยวกับการจัดอันดับ AQI แบบนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงต้นปีนั้นเรามีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจริง ๆ
แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักอยู่เสมอในการดูค่า AQI หรือการจัดอันดับต่าง ๆ ว่าข้อมูลเหล่านี้มีขีดจำกัด และปัญหามลพิษนั้นมีหลากหลายมิติเกินกว่าที่ตัวเลขเพียงตัวเลขเดียวจะสามารถแสดงได้
ทั้งหมดนี้ เราจึงยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงมลพิษแต่ละชนิด และหากเราจะหาทางออกของปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว เราต้องมีเครื่องมือที่จะสามารถศึกษาวิจัยตัวอย่างอากาศที่เกิดมลพิษ เพื่อแยกวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบ และแหล่งที่มาของมลพิษแต่ละชนิดอย่างเป็นระบบนั่นเอง
📌อ่าน : ฝุ่นมาจากไหน ? ข้อมูลที่ขาดหายไป เพื่อเข้าใจปัญหา PM 2.5
📌อ่าน : “มลพิษทางอากาศ” ปัญหา ? ที่ดูเหมือนจะแก้ง่าย แต่สุดแสนซับซ้อน
📌อ่าน : ฤดูใหม่ ? “ฤดูที่ฉันป่วย” เมื่อ “มลภาวะทางอากาศ” กลายเป็น “ปัญหา” เรื้อรังไทย
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech